โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

ชี้ช่องรวย แนะ ผู้ประกอบการ 8 เรื่อง ต้องตอบให้ได้ ก่อนที่จะตัดสินใจกู้เงินเพื่อทำธุรกิจ

เงินทุนถือเป็นปัจจัยสำคัญของการทำธุรกิจ ในส่วนของคนที่มีเงินทุนอยู่แล้วก็คงไม่มีปัญหามากเท่าไหร่นัก แต่สำหรับคนที่ไม่มีเงินลงทุนทางเดียวที่จะนำเงินมาลงทุนได้ คือ การขอสินเชื่อ แต่รู้หรือไม่ว่าเมื่อคุณตัดสินใจกู้เงินแล้วจะต้องเจอกับอะไรบ้าง วันนี้ ชี้ช่องรวย จึงอยากจะมาถาม 8 เรื่อง ต้องตอบให้ได้ ก่อนที่จะตัดสินใจกู้เงินเพื่อทำธุรกิจ เพื่อเช็กว่าคุณพร้อมมากน้อยแค่ไหน เรามาดูกันเลย

วิธีหรือสิ่งที่ต้องรู้สำหรับการกู้เงิน

1.ต้องรู้ก่อนว่าจุดประสงค์ในการขอสินเชื่อหรือกู้เงินนั้น เพื่อนำไปใช้เพื่ออะไร ต้องตอบให้ชัดเจน เพื่อป้องกันการนำเงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์

2.ความเร่งด่วนในการใช้เงิน เรื่องนี้ก็สำคัญ ถ้าไม่เร่งด่วนก็จะพอมีเวลาในการสะสมเงินส่วนตัวหรือจากกิจการร้านค้ามาใช้ โดยไม่จำเป็นต้องกู้เงิน แต่สิ่งหนึ่งที่ควรจะหัดปฏิบัติคือการจัดทำกระแสเงินสด ร้านค้าขนาดเล็กอาจไม่เข้าใจเรื่องกระแสเงินสด กระแสเงินสด หมายถึงเงินสดที่เข้าร้านและออกจากร้านแต่ละวัน บางที่ต้องมีการวางแผนบนแผ่นกระดาษให้ชัดเจน เพราะการทำข้อมูลกระแสเงินสด จะทำให้เรารู้ว่าเราขาดเงินช่วงไหน เท่าไหร่ แก้ไขได้ทันหรือไม่ และหากต้องกู้จะกู้เท่าไหร่

3.เงื่อนไขการขอสินเชื่อ เรื่องนี้ต้องศึกษาร่วมกับธนาคารหรือสถาบันการเงินที่คุณจะไปกู้ ซึ่งเขาจะร่วมพิจารณาถึงขีดความสามารถในการกู้ ระยะเวลาที่จะกู้ ภาระดอกเบี้ย ตลอดจนประเมินออกมาว่าในแต่ละเดือนคุณต้องจ่ายคืนให้กับธนาคารเท่าไหร่

4.อัตราดอกเบี้ย จริงอยู่มีข้อกำหนดไม่ให้สูงกว่าเกณฑ์ของกฎหมาย แต่มีหลายธนาคารก็นำมาจัดเป็นแพ็กเก็จ หรือลักษณะของสินเชื่อที่แตกต่างกัน ฉะนั้นคุณควรศึกษาอัตราดอกเบี้ยและเงื่อนไขประกอบมาเปรียบเทียบเพื่อหาสิ่งที่เหมาะสมที่สุด

5.เอกสารที่ต้องใช้ในการสมัคร ส่วนใหญ่แล้วธนาคารมักจะขอเอกสารต่อไปนี้

  • เอกสารในการจัดตั้งบริษัท
  • ข้อมูลผู้ถือหุ้น ซึ่งรวมไปถึงรายงานเครดิตจากเครดิตบูโรของผู้ถือหุ้นรายใหญ่
  • ข้อมูลทางการเงิน เช่น งบการเงินบริษัททีสอบทานแล้ว บัญชีธนาคารแสดงรายการ 6 เดือนย้อนหลัง

6.เครดิตสกอร์ คือสิ่งที่สถาบันการเงินรวมไปถึง marketplace lender อย่าง PeerPower นำมาใช้เพื่อ “ให้เกรด” ผู้ขอสินเชื่อ โดยผู้ขอสินเชื่อที่มีเกรดดี ก็จะได้อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่า ในขณะที่ผู้ขอสินเชื่อที่มีเกรดค่อนข้างต่ำ ก็จะได้อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ฉะนั้นแล้วเจ้าของกิจการควรหมั่นสร้างคะแนนเครดิตของตนเอง เพราะจะทำให้คุณมีโอกาสได้อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำนั่นเอง

7.หลักทรัพย์ในการค้ำประกัน กิจการหรือร้านค้าที่เพิ่งเริ่มต้น อาจจะกังวลอยู่ไม่น้อยว่าตนจะขอสินเชื่อเพื่อธุรกิจไม่ได้ เนื่องจากหลักทรัพย์เป็นหนึ่งในคุณสมบัติของการขอสินเชื่อเพื่อธุรกิจกับสถาบันการเงินหลายแห่ง คุณควรตรวจสอบเงื่อนไขนี้ให้ดีก่อนตัดสินใจกู้ อย่างไรก็ตามในปัจจุบันมีสินเชื่อประเภทไม่ใช้หลักทรัพย์ที่เหมาะกับกิจการหรือร้านค้าที่เพิ่งเริ่มต้น (บางสถาบันการเงินใช้หลักจดทะเบียนบริษัท 1 ปีขึ้นไป) สิ่งที่เป็นหลักประกันให้กับเจ้าของเงินหรือนักลงทุนก็คือคะแนนเครดิตของผู้กู้นั่นเอง นอกจากนี้เดี๋ยวนี้หลักทรัพย์ในการค้ำประกันก็มีมากขึ้น เช่นรถยนต์ เป็นต้น

8.ค่าธรรมเนียมแฝง หลายคนมีความต้องการใช้เงินจนลืมอ่านรายละเอียดที่สำคัญในสัญญา ก่อนที่จะเซ็นสัญญากู้เงินกับที่ไหน คุณควรเช็กให้ดีก่อนว่ามีค่าธรรมเนียมอะไรบ้าง ค่าธรรมเนียมที่หลายคนมักมองข้ามได้แก่

  • ค่าธรรมเนียมการปิดบัญชี มักคิดเป็นประมาณ 2-3% ตามยอดหนี้ที่เหลือ ณ วันที่ชำระยอดเต็มเพื่อปิดบัญชี
  • ค่าใช้จ่ายในการติดตามทวงถามหนี้ เนื่องจากสถาบันการเงินบางแห่งทำการว่าจ้างทีมงานติดตามทวงถามหนี้ จึงเกิดค่าใช้จ่ายกับบริษัท วิธีการที่สถาบันการเงินส่วนใหญ่ทำก็คือเก็บค่าใช้จ่ายกับลูกค้าหรือผู้ขอสินเชื่อนั่นเอง โดยค่าใช้จ่ายนี้จะคิดอยู่ที่ 100-290 บาทต่อครั้ง
  • ค่าธรรมเนียมการชำระล่าช้า ในเบื้องต้น สถาบันการเงินจะดำเนินการตามกฎหมายตามที่ปรากฏในสัญญา หากผู้ขอสินเชื่อยังไม่ทำการชำระ ธนาคารอาจหักยอดเงินจากบัญชีใดๆ ที่เรามีในธนาคารเดียวกันนั้นเพื่อหักลบกลบยอดหนี้ของสินเชื่อเรา ถ้าเราขอกู้โดยมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ทางธนาคารก็อาจยึดทรัพย์สินที่เราใช้เป็นหลักประกันไป หรืออาจจะไปเรียกเก็บเงินจากผู้ที่เป็นบุคคลค้ำประกันให้เราก็ได้