สำหรับผู้ที่มีความสนใจในธุรกิจแฟรนไชส์ รวมถึงผู้ที่กำลังเริ่มต้นสร้างแบรนด์ หรือผู้มีธุรกิจที่ต้องการขยายสาขาและเพิ่มช่องทางจัดจำหน่ายในรูปแบบแฟรนไชส์ นอกจากการศึกษาวิธีบริหารจัดการธุรกิจแล้ว
สมาคมแฟรนไชส์และไลเซนส์ ได้รวบรวม “คำศัพท์” ต่างๆ ที่มีความสำคัญกับผู้ประกอบการ เพื่อให้ผู้เริ่มต้นธุรกิจได้ความรู้ความเข้าใจเพิ่มมากขึ้น ซึ่งคำศัพท์ ที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารสำหรับธุรกิจแฟรนไชส์สำหรับนำไปปรับใช้ในการติดต่อเจรจาธุรกิจแฟรนไชส์อย่างเข้าใจและถูกต้อง สำหรับคำศัพท์น่ารู้ของ ธุรกิจแฟรนไชส์ มีอะไรบ้างนั้น เราไปดูกันเลยค่ะ
• แฟรนไชส์ (Franchise)
หมายถึง กระบวนการทางธุรกิจที่องค์กรธุรกิจหนึ่งๆ ได้พัฒนาวิธีการและรูปแบบ จนได้รับการพิสูจน์ด้วยระยะเวลาที่เหมาะสมแล้วว่า ประสบความสำเร็จในการประกอบการ และการจัดการธุรกิจในระดับหนึ่ง และได้ถ่ายทอดสิทธิ์ในการประกอบธุรกิจ ตามวิธีการและรูปแบบดังกล่าว พร้อมกับตัวสินค้าหรือบริการ ให้กับบุคคลหรือกลุ่มบุคคลอื่น ภายใต้ตราหรือเครื่องหมายการค้า และบริการอันหนึ่งอันใด
โดยกระบวนการนี้เกี่ยวข้องกับการทำนิติกรรมระหว่างบุคคล 2 กลุ่มในข้างต้น ในบางกรณีอาจรวมถึงบุคคลอื่นด้วย หรืออธิบายง่ายๆ คือ ข้อตกลงกันระหว่างเจ้าของธุรกิจ อนุญาตให้ผู้ขอรับสิทธิ์ ดำเนินธุรกิจและบริการภายใต้ชื่อการค้าของตน และปฏิบัติตามรูปแบบการทำธุรกิจ ของเจ้าของสิทธิ์ตามสัญญาที่ตกลงกันไว้
• แฟรนไชส์ซอร์ (Franchisor)
หมายถึง บุคคลผู้เป็นเจ้าของตราหรือเครื่องหมายการค้าหรือบริการ ซึ่งได้คิดค้นและพัฒนาวิธีการอันได้รับการพิสูจน์แล้วว่า ประสบความสำเร็จในการประกอบการและการจัดการธุรกิจ ที่สามารถทำเลียนและดำเนินการโดยบุคคลอื่นได้ กล่าวคือ เจ้าของธุรกิจอนุญาตให้ผู้อื่นได้ใช้สิทธิ์ในการดำเนินธุรกิจ ภายใต้ชื่อของตน ซึ่งก็คือผู้ขายแฟรนไชส์นั่นเอง
• แฟรนไชส์ซี (Franchisee)
หมายถึง บุคคลซึ่งได้รับสิทธิ์ในการจำหน่ายและการดำเนินธุรกิจ ภายใต้รูปแบบและตราหรือเครื่องหมายการค้า หรือบริการอันมีแฟรนไชส์ซอร์ เป็นเจ้าของ
โดยแฟรนไชส์ซี ที่ร่วมกิจการไม่ได้อยู่ในฐานะของพนักงานหรือลูกจ้าง ตรงกันข้าม โดยแฟรนไชส์ซี จะเป็นเจ้าของกิจการ ที่ทำหน้าที่บริหารงานสาขาตามรูปแบบที่แฟรนไชส์ซอร์กำหนด และถ่ายทอดให้ ผู้ที่เป็นแฟรนไชส์ซี จำเป็นต้องมีความรับผิดชอบ มากกว่าพนักงานโดยปกติ
เพราะผลสำเร็จหมายถึง เวลา จำนวนเงินที่ลงทุนไป อธิบายง่ายๆ คือ ผู้ขอซื้อแฟรนไชส์ หรือผู้ขอรับสิทธิ์ในการทำธุรกิจจากเจ้าของธุรกิจ ที่มีความประสงค์ให้ผู้อื่นมาดำเนินการภายใต้ชื่อกิจการของตนนั่นเอง
• มาสเตอร์ แฟรนไชส์ (Master Franchise)
หมายถึง แฟรนไชส์แบบตัวแทน หรือ ผู้ที่ได้รับสิทธิ์จากบริษัทแม่ให้ดำเนินธุรกิจเป็นรายแรกในประเทศ และมักจะเป็นรายใหญ่ที่จะต้องทำการขยายสาขาออกไปให้ทั่วประเทศ โดยผู้ที่เป็นมาสเตอร์แฟรนไชส์นี้ จะได้รับการถ่ายทอดความรู้ในเรื่องการบริหารในระดับสูงขึ้น
• Business Format Franchise
หมายถึง เป็นระบบแฟรนไชส์ที่ให้สิทธิ์ เพื่อจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของแฟรนไชส์ซอร์ รวมถึงการให้สิทธิ์ใช้เครื่องหมายการค้าของผู้ผลิต เพื่อขายสินค้าและบริการ โดยมีการถ่ายทอดวิธีการดำเนินธุรกิจของร้านอย่างมีมาตรฐาน
• Product or Brand Franchise
หมายถึง ระบบแฟรนไชส์ที่ให้สิทธิ์ เพื่อจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของแฟรนไชส์ซอร์ รวมถึงการให้สิทธิ์ใช้เครื่องหมายการค้าของผู้ผลิต
• Conversion Franchise
หมายถึง ระบบแฟรนไชส์ที่ให้สิทธิ์ เพื่อจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของแฟรนไชส์ซอร์ รวมถึงการให้สิทธิ์ใช้เครื่องหมายการค้าของผู้ผลิต โดยผู้ผลิตได้เปลี่ยนธุรกิจที่มีอยู่เดิม ให้เปลี่ยนมาใช้ในรูปแบบใหม่
• แฟรนไชส์ฟี (Franchise Fee)
หมายถึง ค่าตอบแทนที่เป็นจำนวนเงินที่แน่นอน ซึ่งจะจ่ายก่อนเริ่มดำเนินงาน หรือเรียกว่า ค่าธรรมเนียมแรกเข้า ซึ่งถือว่าเป็นการจ่ายค่าสิทธิ์ต่างๆ ให้แก่บริษัทแม่
อธิบายง่ายๆ คือ ค่าธรรมเนียมที่ผู้ซื้อแฟรนไชส์จะต้องจ่ายให้กับผู้ขายแฟรนไชส์ ซึ่งโดยทั่วไปมักจะเป็นการจ่ายเพียงครั้งเดียวในช่วงเริ่มดำเนินกิจการครั้งแรก
• รอยัลตี้ฟี (Royalty Fee)
หมายถึง ค่าตอบแทนที่ต้องจ่ายอย่างต่อเนื่องตามสัดส่วนของผลการดำเนินงาน อาจจะเรียกเก็บเป็นเปอร์เซ็นต์ ต่อเดือนหรือต่อปีจากยอดขาย หรือบางทีก็อาจจะเก็บจากยอดสั่งซื้อสินค้าก็มี
อธิบายง่ายๆ คือ ค่าธรรมเนียมที่ผู้ขายแฟรนไชส์เรียกเก็บจากผู้ซื้อแฟรนไชส์โดยมากมักจะคิดเป็นสัดส่วน จากผลการประกอบการของผู้ซื้อแฟรนไชส์
• แอดเวอร์ไทซิ่ง ฟี (Advertising Fee)
หมายถึง ค่าธรรมเนียมที่ผู้ซื้อแฟรนไชส์จะต้องจ่ายให้กับผู้ขายแฟรนไชส์ เพื่อไปใช้ดำเนินการในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ซึ่งโดยทั่วไปจะขึ้นอยู่กับผู้ขายแฟรนไชส์ว่า จะเรียกเก็บหรือไม่ และมีรูปแบบการเก็บแตกต่างกันไป เช่น เก็บเป็นรายเดือน หรือเก็บเป็นรายปี โดยคิดเป็นเปอร์เซ็นต์จากยอดขาย
• ซับ-แฟรนไชส์ (Sub-Franchise/Individual Franchise)
หมายถึง ผู้รับสิทธิ์รายย่อยแบบตัวต่อตัว จากผู้ที่ได้รับสิทธิ์หรือผู้ที่เป็นเจ้าของสิทธิ์ ซึ่งอาจจะได้รับสิทธิ์ในการเปิดกิจการ ทั้งแบบ Single unit Franchise หมายถึง สิทธิ์ในการดำเนินธุรกิจได้เพียง 1 แห่ง
และ Multi Unit Franchise หมายถึง สิทธิ์ในการดำเนินธุรกิจได้หลายแห่ง แต่ทั้งนี้ผู้รับสิทธิ์ในการดำเนินกิจการทั้ง 2 กรณี ไม่มีสิทธิ์ที่จะขายแฟรนไชส์ต่อให้ผู้อื่นไปเปิดร้านได้อีก นอกจากเปิดเองเท่านั้น
• ซับ-แอเรีย ไลเซนส์ (Sub-Area License/Development Franchise)
หมายถึง สิทธิ์แฟรนไชส์ในการพัฒนาอาณาเขตแฟรนไชส์ซอร์ ที่จะให้สิทธิ์ในการขยายกิจการ แก่แฟรนไชส์ซี ภายในอาณาเขตและระยะเวลาที่กำหนด โดยจะไม่มีใครได้รับสิทธิ์จากบริษัทแม่ให้ไปเปิดกิจการทับกันในอาณาเขตเดียวกันนี้อีกได้
ซึ่งรูปแบบนี้แตกต่างจาก Multi Unit Franchise คือ Sub-Area License สามารถที่จะขายซับแฟรนไชส์ต่อได้ เพื่อให้การขยายสาขาเป็นไปตามเป้าที่ตกลงกันไว้กับบริษัทแม่
• คู่มือปฏิบัติงาน (Operation Manual)
หมายถึง คู่มือการดำเนินธุรกิจซึ่งเขียนขึ้นโดยผู้ขายแฟรนไชส์ เพื่อแนะนำถึงขั้นตอนต่างๆ ในการทำงาน และการทำธุรกิจ ซึ่งสำหรับผู้ซื้อแฟรนไชส์ โดยปกติแล้ว Operation Manual จะมีข้อมูลที่ครอบคลุมในทุกๆ ด้าน ของธุรกิจนั้น ซึ่งอาจมีเพียงเล่มเดียว หรือหลายเล่มก็ได้
• ค่าเครื่องหมายการค้า และความนิยม (Trademark)
หมายถึง เป็นค่าใช้จ่ายในการลงทุนสร้างความเชื่อถือในตราสินค้า ที่ต้องสร้างด้วยระยะเวลา และงบประมาณ เช่นเดียวกันกับค่าความรู้
• ค่าฝึกอบรมต่างๆ (Training)
หมายถึง เป็นค่าใช้จ่ายในระบบการฝึกอบรม และสร้างกระบวนการถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้ปฏิบัติงานทั้งระบบ เป็นค่าใช้จ่ายประมาณการต่อสาขา
• ค่าการบริหารงานทีมงานสนับสนุนของส่วนกลาง (Organization Cost)
หมายถึง ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการบริหารงานส่วนกลาง ที่บริษัทแม่จะต้องเรียกเก็บมาจากแฟรนไชส์ซี ที่จะทำให้การบริหารงานระบบทั้งหมดเป็นไปได้ด้วยดี
โดยค่าการบริหารงานนี้อาจเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการวางระบบงานด้านคอมพิวเตอร์ที่ต้องใช้ร่วมกัน และค่าใช้จ่ายระหว่างสร้างทีมงานที่ต้องจัดระบบงานก่อนที่จะสามารถสร้างรายได้ ซึ่งค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นโดยรวมนี้จะต้องแบ่งเฉลี่ยต่อสาขาเช่นเดียวกันด้วย
สำหรับคำศัพท์น่ารู้ ธุรกิจแฟรนไชส์ ยังมีอีกหลายคำที่เป็นประโยชน์และน่าสนใจ ซึ่งผู้อ่านสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากช่องทางอินเตอร์เน็ต
ทั้งนี้ หากกล่าวโดยสรุปและเข้าใจง่าย ธุรกิจการซื้อขายแฟรนไชส์จะประกอบด้วย 3 ปัจจัยหลัก คือ
1. มีแฟรนไชส์ซอร์ (ผู้ขายสิทธิ์) และแฟรนไชส์ซี (ผู้ซื้อสิทธิ์)
2. มีการถ่ายทอดความชำนาญ ขั้นตอนต่างๆ รวมถึงเทคโนโลยี และเครื่องหมายการค้า ฯลฯ
3. มีการจ่ายค่าตอบแทนอย่างน้อย 2 อย่าง คือ ค่าแรกเข้าในการใช้เครื่องหมายการค้า (Franchise Fee) และค่าตอบแทนผลดำเนินการ (Royalty Fee)
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : สมาคมแฟรนไชส์และไลเซนส์