มีคนกล่าวไว้ว่า การที่เลือกลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์ก็เหมือนกับการเลือก “คู่แต่งงาน” ที่จะต้องใช้ระยะเวลาศึกษาดูใจ และมองรายละเอียดจนกระทั่งมั่นใจและแน่ใจว่า ธุรกิจที่คุณเลือกนั้นจะสามารถทำให้คุณเติบโตและประสบความสำเร็จดังใจที่คุณใฝ่ฝันได้
แล้วเราจะมีวิธีเลือกจับคู่ธุรกิจแฟรนไชส์อย่างไรที่จะทำให้ผู้ลงทุนอย่างคุณสมหวังได้แบบไม่มีผิดพลาด และประสบความสำเร็จ แถมยังจะช่วยให้การบริหารแฟรนไชส์ของคุณราบรื่น ไม่มีสะดุด ชี้ช่องรวย มีวิธีการเลือก 4 ขั้นตอนดังนี้
1.เข้าใจความหมายของธุรกิจแฟรนไชส์
การ ซื้อแฟรนไชส์ไม่เหมือนการซื้อหุ้น ที่ลงทุนแต่ไม่ต้องลงแรง การลงทุนแฟรนไชส์เป็นเรื่องของ Licensing ที่มีการอนุญาตให้ใช้สิทธิ์ เมื่อคุณลงทุนแล้ว ซึ่งหมายถึง การทำสัญญากับเจ้าของแบรนด์หรือผู้อนุญาตให้ใช้สิทธิ์ต่าง ๆ เพื่อประกอบกิจการ โดยต้องใช้ความสามารถลงมือทำ พร้อมทั้งนำเอาระบบการบริหารจัดการของผู้อนุญาตให้ใช้สิทธิ์หรือแฟรนไชสซอร์มาประกอบกิจการสาขาแฟรนไชส์ให้เป็นไปตามเงื่อนไขและขั้นตอนการดำเนินงานในมาตรฐานเดียวกัน
2.ถ้ารู้ตัวชอบทำอะไรแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องเลือกแฟรนไชส์
ให้ถามใจคุณก่อนว่า หากคุณมีเป้าหมายที่อยากทำธุรกิจ และมีความรู้ มีโนว์ฮาวของคุณเองที่ชัดเจนอยู่แล้ว ระบบแฟรนไชส์ก็ไม่จำเป็นสำหรับคุณ แต่ถ้าหากคุณไม่ต้องการเริ่มต้นเรียนรู้สิ่งใหม่ อยากได้โนว์ฮาว อยากมีที่ปรึกษา อยากมีทีมช่วยสนับสนุน และซื้อความสำเร็จมาบริหารได้เลย คุณจึงควรเลือกซื้อแฟรนไชส์ อย่างไรก็ตาม การเลือกคู่แฟรนไชส์ ก็ต้องศึกษาพิจารณาดูก่อนเช่นกัน มิเช่นนั้นชีวิตคู่คุณก็ย่อมไม่สมหวัง
3.ศึกษาดูใจ “แฟรนไชส์ซอร์” อย่างใจเย็น
ควรใช้เวลาทำการบ้านและพิสูจน์ โดยหาแบรนด์ที่เหมาะสม คัดเลือก เปรียบเทียบ สังเกตการณ์และทดลองใช้บริการด้วยตัวเองดูก่อน หลังจากนั้นศึกษาเงื่อนไขการลงทุนแฟรนไชส์ และสอบถามข้อสงสัย แนวคิดการบริหารแฟรนไชส์ และวิธีการแก้ไขปัญหาเมื่อคุณเกิดปัญหากับแฟรนไชส์ซอร์อย่างตรงไปตรงมา ก่อนตัดสินใจเลือกเป็นคู่ค้าธุรกิจ เพราะการทำธุรกิจย่อมมีปัญหาตามมาแน่นอน แต่จะใช้ช่องทางหรือวิธีการช่วยเหลือสนับสนุนคุณให้ประคองชีวิตคู่ไปได้อย่างไร หรือหากไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้แล้วจริง จะรับผิดชอบหรือมีการแบ่งสินสมรสอย่างไร เป็นต้น
4.คู่แท้ ต้องไม่ทิ้งกัน
เมื่อตัดสินใจจรดปากกาเซ็นสัญญาและเลือกลงทุนแฟรนไชส์นั้นแล้ว เมื่อเกิดปัญหาใด ๆ ในธุรกิจก็ตามแต่ แฟรนไชส์ซอร์ ต้องพร้อมที่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือคุณในทุกสถานการณ์ หรืออย่างน้อยต้องมีวิธีการซัพพอร์ท ช่วยหาทางออก เตรียมแผนรับมือต่าง ๆ เช่น การช่วยเหลือด้านการบริหารหน้าร้าน การสต๊อกสินค้า การทำตลาด การฝึกอบรม ฯลฯ โดยที่จะต้องไม่ทอดทิ้งคุณให้เผชิญปัญหาอย่างโดดเดี่ยว
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : สมาคมแฟรนไชส์และไลเซนส์ (FLA)