ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

เปิดแผนช่วย “Micro SME” ผ่าน “วชิระ แก้วกอ” ให้ผงาดได้ในระดับสากล


ไม่นานมานี้ หลายคนจะเริ่มได้ยินหรือคุ้นกับคำว่า “Micro SME” ด้วยวัตถุประสงค์ของภาครัฐที่วางแผนเตรียมผลักดันหวังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบาย “สร้างสังคมผู้ประกอบการให้เติบโต และก้าวสู่สากล เพิ่มความมั่งคั่งและยั่งยืน” ซึ่งถ้าหากมองจากตัวเลข GDP และสถิติต่างๆ ทางเศรษฐกิจ ต้องยอมรับว่าประเทศไทยยังเป็นปิรามิดฐานกว้าง ฐานล่างคนยากจนหนีไม่พ้นเกษตรกรกว่าสามสิบล้านคน ดังนั้นการสร้างโอกาสให้ “เกษตรกร” ก้าวสู่ “ผู้ประกอบการ” จึงเป็นภารกิจหลักของ สสว. ต้องทำให้ได้

ซึ่งหนึ่งในยุทธศาสตร์ของพันธกิจหลักนี้ คือ การจัดงาน “ผสาน สร้างสรรค์ มุ่งมั่น ยั่งยืนสุดยอดผลิตภัณฑ์เครือข่ายวิสาหกิจกิจชุมชน & Product Champion 2019 ครั้งที่ 2” เพื่อยกระดับให้วิสาหกิจชุมชนไทยเติบโตอย่างเข้มแข็งและมั่นคง พร้อมสำหรับการแข่งขันในยุค 4.0 พร้อมสร้างเครือข่ายและสร้างรายได้ให้กับ 400 วิสาหกิจชุมชน ในงานทดลองกิจกรรมการตลาด ตลอดเดือนกันยายนนี้ ณ ไอคอนสยาม สร้างเม็ดเงินและรายได้ให้กับผู้ประกอบการราว 50 ล้านบาท

วชิระ แก้วกอ ผู้อำนวยการประสานเครือข่ายผู้ให้บริการ SME และ รักษาการผู้อำนวยการกลุ่มงานข้อมูลและสถานการณ์ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า Micro SME ได้เก็บสถิติจำนวนผู้ประกอบการที่ลงทะเบียนไว้กับทาง สสว. ณ ตอนนี้มีจำนวน 3.1 ล้านราย ในจำนวนนี้ มีผู้ประกอบการ Micro SME รวมอยู่ด้วย ซึ่งจากเดิมได้แยกประเภทตามขนาดของธุรกิจ ตั้งแต่ขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขณะนี้ได้นำเอากลุ่ม Micro เข้าไปรวมอยู่ด้วย ภายใต้แผนพัฒนาโดยยกระดับแบบเดียวกัน จากจำนวน 2.9 ล้านราย เป็นจำนวน 3.2 ล้านราย

ทั้งนี้ พันธกิจหลักของ สสว. ตามพรบ. คือ ส่งเสริมธุรกิจเอสเอ็มอี ทั้งทางด้านนโยบาย แผนยุทธศาสตร์ และระบบปฏิบัติการ ให้ทุกหน่วยงานสามารถนำข้อมูลไปใช้ได้ ล่าสุด ทาง สสว.ได้เป็นเจ้าภาพการประชุมอาเซียน เรื่อง Micro SME หรือ M SME ซึ่งจะพูดถึงบทบาทและแนวทางการดำเนินงาน โดยมีนโยบายการส่งเสริมที่ชัดเจนมากขึ้น รวมถึงได้ให้ความร่วมมือกับต่างประเทศ พร้อมทั้งมีการจัดสรรงบประมาณภาครัฐมาบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ อีกด้วย

สำหรับ M SME คือ ผู้ประกอบการที่มีรายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี และมีทรัพย์สินไม่เกิน 200 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ได้ปรับมาเป็น 500 ล้านบาท ถือเป็นการปรับนิยามการดำเนินงานแบบใหม่ เนื่องจากระบบของเดิมใช้มาตั้งแต่ปี 2544 จนมาถึงปี 2562 ถือว่าประเทศไทยเติบโตมากขึ้น มีความแข็งแรงทางเศรษฐกิจมากขึ้น ทั้งนี้ กลุ่ม Micro SME ขณะนี้มีประมาณ 2 ล้านราย ประกอบด้วย กลุ่มผู้ประกอบการรายเดียว วิสาหกิจชุมชน ฯลฯ

สถานการณ์ SME และโอกาสในอนาคต

ปัจจุบันภาครัฐเข้าไปส่งเสริมในหลายมิติ ผ่านการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง จะเห็นว่า จากเดิมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ไม่ได้ใส่ใจมาตรฐาน คุณภาพสินค้า การตลาด มีการขายแบบเดิมๆ หลังจากที่ภาครัฐเข้าไปช่วยเหลือผ่านโครงการต่างๆ ผู้ประกอบการเหล่านี้จึงมีการปรับตัวที่ดีขึ้น พร้อมทั้งพัฒนาให้มีมาตรฐานระบบเดียวกัน สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็น สินค้า OTOP จะต้องดำเนินการให้ถูกต้อง ผ่านการรับรองจาก อย.หากมีการส่งออกไปยังต่างประเทศก็ต้องดำเนินการผ่านระบบ GMP และ HACCP เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ ทำให้ประกอบการเกิดการตื่นตัว และปรับตัวมากขึ้น แต่ยังคงไม่เพียงพอ ยกตัวอย่างเช่น ในเรื่องของมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็น มาตรฐานสถานประกอบการ ระบบการทำบัญชี ที่ผู้ประกอบการยังไม่เข้าสู่มาตรฐาน หลายรายพบว่า สินค้าขายดีแต่ขาดทุน นั่นเพราะเขาไม่รู้ต้นทุนที่แท้จริง เราจึงเข้าไปสอน และพัฒนาระบบการทำบัญชีให้ถูกต้อง คิดต้นทุน การตั้งราคา การทำบัญชีให้ดีมีระบบนั้น จะส่งผลดีกับผู้ประกอบการในเรื่องการยื่นเอกสารขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินต่างๆ ซึ่งทางธนาคารเองก็ยินดีให้ความช่วยเหลืออย่างดีด้วย

ปัญหาหลัก “เกษตรกร” เป็น “ผู้ประกอบการ”

ปัญหาสำคัญของเกษตรกร คือ การไม่ปรับตัว และขาดความเข้าใจในเรื่องของการเป็นผู้ประกอบการ ยังผลิตสินค้าในพื้นที่ ขาดองค์ความรู้ด้านการตลาด ซึ่งเหล่านี้ถือเป็นหัวใจสำคัญ นอกจากนี้ ยังต้องติดตามข่าวสารรู้เท่าทันกับสถานการณ์โลก โดยเฉพาะการตลาดที่ปัจจุบันนี้ได้เปลี่ยนรูปแบบเข้าสู่ระบบออนไลน์มากขึ้น ซึ่งทางภาครัฐเองก็ได้พยายามวางโครงสร้างของระบบ และเปิดให้กลุ่มผู้ประกอบการทั่วประเทศได้เข้ามาใช้ จนถึงขณะนี้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นค่อนข้างมาก เพราะเกือบทุกโครงการที่ทาง สสว.ได้ร่วมกับสถาบันการศึกษา หน่วยการศึกษาของท้องถิ่น ที่ให้ความช่วยเหลือ อบรม สอนงานบางกลุ่มจนชำนาญแล้ว แต่ยังมีบางกลุ่ม เช่น กลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่มีลูกหลาน ขาดคนให้ความช่วยเหลือ แต่กลุ่มนี้ก็ทำผลิตภัณฑ์สินค้าได้ออกมาดีมาก

อยากรอด ต้องพัฒนาให้โดดเด่น

จะเห็นว่าในทุกชุมชน จะมีสินค้าที่ไม่แตกต่างกันเท่าใดนัก ซึ่งตรงนี้ถือเป็นปัญหาพอสมควร ซึ่งตัวผู้ประกอบการเองก็ต้องพัฒนาสินค้าให้มีจุดเด่น สร้างความแตกต่าง ยกตัวอย่างเช่น ข้าวแต๋น ที่ไหนก็เหมือนกันหมด เมื่อมีผู้ประกอบการเจ้าแรกทำแล้ว ผู้ประกอบการรายใหม่ที่จะทำผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้ ก็จะต้องพัฒนาให้มีความแตกต่างจากเจ้าเดิมจึงจะสามารถขายสินค้าของตนได้ เช่น รูปแบบ รสชาติ บรรจุภัณฑ์ ฯลฯ เป็นต้น

ห้าดาว เตรียมผลักดันไป ตลาด ตปท.

เรื่องของการตลาด จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ตลาดออฟไลน์ และตลาดต่างประเทศ ซึ่งการส่งเสริมผู้ประกอบการไปเปิดตลาดต่างประเทศนั้น เราจะเลือกผู้ประกอบการที่มีความพร้อม ต้องได้รับมาตรฐาน GMP หรือ HACCP สะท้อนถึงศักยภาพในการผลิต จากนั้นมาศึกษาความเป็นไปได้ ดูว่าสินค้าของเขาเป็นที่ต้องการของตลาดหรือไม่เพียงใด มองโอกาสให้กับเขา พร้อมๆ ไปกับดูเทรนด์ตลาดโลกให้ด้วย เช่นตอนนี้ สินค้าออร์แกนิก หากสินค้าของผู้ประกอบการรายใดเป็นที่ต้องการของตลาดในประเทศนั้นๆ ก็นำไปเปิดตลาด และทำให้ประเทศเหล่านั้นเข้าใจว่า ทำไมต้องซื้อสินค้าของประเทศไทย เรามีจุดเด่นในอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น เราเคยนำผู้ประกอบการผลิตกระดาษสาไปออกงานที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งที่นั่นเขาก็ขึ้นชื่อเรื่องของการทำกระดาษสาอยู่แล้ว แต่ที่เขาตัดสินใจซื้อของเราเพราะสินค้าเรามีความแตกต่างจากที่เขามี นั่นคือ กระดาษของเราแตกต่างที่มีกลิ่นหอม และยังดูดซับกลิ่นอับหรือกลิ่นไม่พึงประสงค์ได้ ปัจจุบัน ผู้ประกอบการไทยรายนี้ได้ผลิตสินค้าส่งออกไปยังเมืองไดโซะ ประเทศญี่ปุ่น ดังนั้น เรื่องของ “นวัตกรรม” ก็มีความสำคัญเช่นกัน