ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

อยากทำ “ธุรกิจ” สำเร็จ “ผู้ประกอบการมือใหม่” ต้องรู้กฎ 21 ข้อ นี้ หากทำได้ธุรกิจสามารถเดินหน้าต่อได้แน่


สำหรับ ผู้ประกอบการมือใหม่ ที่เพิ่งเริ่มต้นธุรกิจ และอยากประสบความสำเร็จ ชี้ช่องรวย ขอแนะนำกฎ 21 ข้อ ของ วิลเลี่ยม อี.ไฮน์เนคกี้ (William E. Heinecke) ผู้เขียนหนังสือ The Entrepreneur หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า บิล ไอเนค เป็นนักธุรกิจสัญชาติไทย เชื้อสายอเมริกัน ผู้ก่อตั้งเครือบริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล หนึ่งในกลุ่มบริษัทด้านการบริการที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก นั่นเอง

โดยกฎ 21 ข้อที่ผู้ประกอบการมือใหม่ควรเริ่มต้นที่จะทำ มีดังนี้

กฎข้อที่ 1 ฝึกฝนตนเองให้มองเห็นโอกาส

ในการทำธุรกิจต้องฝึกฝนตนเองเพื่อมองให้เห็นโอกาสหรือช่องทาง (ส่วนแบ่ง) ในตลาด และรีบดำเนินการเพื่อเติมเต็มช่องว่างนั้นให้เร็วที่สุดก่อนคนอื่น

กฎข้อที่ 2 ทำการบ้าน

ความคิดหลายอย่างอาจเกิดขึ้นด้วยการสังเกตอย่างไม่เป็นทางการ แล้วนำไปสู่การศึกษาอย่างจริงจังในเวลาต่อมา โดยเริ่มจากสิ่งเล็กๆ เช่น การทำเอง หรือการเป็นแฟรนไชส์ การแยกแยะปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในเชิงการตลาด ทำการวิจัยเชิงกว้างและเชิงลึก คิดถึงสิ่งที่อาจเกิดตามมาด้วย

กฎข้อที่ 3 ให้หยุดอย่าถลำลึกถ้าไม่สนุกกับงาน

ถ้าไม่สนุกกับงาน ก็อย่าถลำลึกด้วยการทุ่มเทเวลาและพลังงานลงไป อีกทั้งอย่าทำงานเพื่อหวังเงินและอำนาจ ไม่มีใครประสบความสำเร็จ ถ้าคิดว่าต้องทำงานที่น่าเบื่อ

กฎข้อที่ 4 : ทำงานหนักและสนุกไปพร้อมกัน

ผู้ประกอบการควรมีความสมดุลด้านการงาน ชีวิตส่วนตัวและครอบครัวโดยการวางแผนในเรื่องเวลาของการทำงานหนักและสนุกไป พร้อมกัน ผสมผสานธุรกิจกับความพอใจเข้าด้วยกัน ดังนั้น ยิ่งทำงานหนักก็จะยิ่งรู้คุณค่าของการพักผ่อน ซึ่งความสมดุลจะทำให้พบกับ ความโชคดีมากขึ้น

กฎข้อที่ 5 : ทำงานด้วยสมองของคนอื่น

ในการทำธุรกิจจำเป็นที่จะต้องศึกษาถึงเทคนิคหรือ know how แต่ถ้าผู้ประกอบการมีโอกาสแต่ยังขาดความรู้ด้านเทคนิคหรือ know how ก็สามารถจ้างคนที่มีความรู้ความสามารถสูงมาทำงานให้ได้ โดยเปิดโอกาสให้เขาได้ใช้ความรู้ความสามารถที่มีทำงาน แต่ผู้ประกอบการก็ต้อง พัฒนาตนเองเพื่อให้สามารถทำงานร่วมกับผู้ที่เราจ้างมาได้

กฎข้อที่ 6 : ตั้งเป้าหมายให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์

เป้าหมายจะเป็นแรงผลักดันให้ธุรกิจก้าวรุดไปได้ ควรทำธุรกิจโดยการวางเป้าหมายเริ่มเรื่องเล็ก ๆ ก่อนเพื่อให้ธุรกิจอยู่บนฐานที่มั่นคง ถ้าสำเร็จก็ค่อยๆขยายเป้าหมายให้ใหญ่ขึ้นไปเรื่อยๆ ทีละ step ซึ่งการตั้งเป้าหมายควรจะเป็นเป้าหมายที่เป็นฐานรองรับกับวิสัยทัศน์ เพระถ้ามีวิสัยทัศน์โดยปราศจากเป้าหมายรองรับก็จะเป็นวิสัยทัศน์ที่ว่างเปล่า

กฎข้อที่ 7 : เชื่อในสัญชาตญาณ

สัญชาตญาณเป็นความเข้าใจโดยการใช้ความรู้สึกในทันทีทันใดโดยปราศจาก เหตุผลหรือเป็นความเข้าใจในภาพแรกที่เห็น ในบางครั้ง ผู้ประกอบการอาจตัดสินใจบนพื้นฐานของการเชื่อในความรู้สึกนั้นแล้ว ประสบความสำเร็จกว่าการตัดสินใจอยู่บนพื้นฐานของเหตุผล หรือวิชาการ เพราะฉะนั้น จงเชื่อในสัญชาตญาณของตนเอง

กฎข้อที่ 8 : ไปให้ถึงท้องฟ้า

ผู้ประกอบการต้องคิดการใหญ่แล้วพยายามทำให้สำเร็จด้วยความตั้งใจจริงโดย ไม่ต้องกลัวยักษ์ใหญ่ ถึงแม้ว่าบางครั้งจะต้องก้าวอย่างอาจหาญ เพื่อให้ไปถึงท้องฟ้าและคว้าดาวให้ได้แม้เพียงครั้งเดียวก็ยังดี

กฎข้อที่ 9 : เรียนรู้การขาย

ก่อนที่จะเป็นเจ้าของกิจการที่ดีผู้ประกอบการต้องเรียนรู้ที่จะเป็นนัก ขายที่ดีก่อน เพราะการเป็นนักขายที่ดี สามารถที่จะโน้มน้าวผู้อื่น ให้คล้อยตามได้ดี นักขายที่ดีจะต้องมีความเชื่อมั่นและศรัทธาในตัวสินค้า ที่จะขายต้องเป็นคนที่มองโลกในแง่ดี รวมทั้งต้องมีความขยันขันแข็ง ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จไม่ใช่เกิดจากการขายสินค้าอย่างเดียวแต่ได้ มาจากการขายความคิดด้วย

กฎข้อที่ 10 : การเป็นผู้นำ

ผู้ประกอบการคือผู้นำที่ต้องตัดสินใจ การเป็นผู้นำประกอบด้วยองค์ประกอบหลายอย่าง เช่น การเป็นผู้ฟังที่ดี การสร้างแรงจูงใจ เชื่อมั่นในทีมงาน มีมารยาท เป็นตัวอย่างที่ดี เป็นต้น ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จบางครั้งก็ต้องใช้ความเป็นเผด็จการบ้าง และต้องมีความรับผิดชอบในสิ่งที่ได้ตัดสินใจไปแม้ว่าบางครั้งจะผิดพลาดก็ตาม

กฎข้อที่ 11 : จดจำความล้มเหลวแล้วดำเนินการต่อไป

ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จจะต้องถือว่า ความล้มเหลวคือจุดเริ่มต้นหรือเป็นสิ่งกระตุ้นที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ เมื่อเกิดความผิดพลาด ต้องถือเป็น ประสบการณ์ที่ต้องเรียนรู้แล้วดำเนินการต่อไป อย่ากลัวความผิดพลาด เพราะนั่นจะเป็นเส้นทางใน การเรียนรู้ในสิ่งที่ถูกที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ

กฎข้อที่ 12 : ทำเพื่อให้ได้โชคดีมากที่สุด

โชคคือสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงจังหวะและเวลาที่เหมาะสม ผู้ที่โชคดีอยู่เสมอคือผู้ที่สร้างโอกาสที่ดีที่อยู่ตรงหน้า โชคอาจเกิดได้จากโอกาสทางธุรกิจ ความสัมพันธ์ส่วนตัว การจ้างคนเข้ามาร่วมงาน เป็นต้น โชคจึงเป็นสิ่งที่ไม่ต้องรอ แต่เป็นสิ่งที่เราสามารถเตรียมพร้อม ที่จะไขว่คว้า และยึดมาให้ได้

กฎข้อที่ 13 : ยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นวิถีของการดำเนินชีวิต

ผู้ประกอบการต้องมีความยืดหยุ่น เปิดรับความคิดใหม่ ๆ และเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ต้องมองหาวิธีการใหม่ ๆ ในการผลิตสินค้าตลอดเวลา และต้องมีความเชื่อว่า เมื่อได้ใช้วิธีการใหม่ใด ๆ แล้ว ในไม่ช้ามันก็จะล้าสมัย การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ต้องทำงานบน ความเปลี่ยนแปลงให้ได้

กฎข้อที่ 14 : สร้างสัมพันธภาพ

ไม่มีใครประสบความสำเร็จได้ในสุญญากาศ ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จต้องมีสัมพันธภาพกับสังคม ต้องสร้างเครือข่ายกับ หน่วยงานต่าง ๆ ในสังคม เช่น นายธนาคาร นักกฎหมาย นักการเมือง นักหนังสือพิมพ์ และลูกค้าที่สำคัญ ๆ ต้องนึกเสมอว่า สันถวไมตรีเป็นสิ่งจำเป็นที่ไม่สามารถซื้อ แต่ต้องหาให้ได้โดยการหว่านและเก็บเกี่ยว

กฎข้อที่ 15 : ใช้เวลาอย่างฉลาด

เวลาเป็นสิ่งที่มีจำกัด และเวลาของผู้ประกอบการ หมายถึงเงิน จึงต้องรู้จักจัดการเรื่องเวลาอย่างเหมาะสม อาจลองวิเคราะห์ดูว่า เวลาที่สูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ไปอยู่ที่ส่วนใดบ้าง และแก้ปัญหาในส่วนนั้น เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อธุรกิจ

กฎข้อที่ 16 : วัดผลเพื่อประเมินผล

การใช้ Benchmarking ในการวัดผลหรือประเมินผลการทำงานเพื่อการเปรียบเทียบผลระหว่างบุคคลหรือ ระหว่างหน่วยงาน เป็นสิ่งจำเป็น ในการดำเนินธุรกิจ เพราะ Benchmarking เป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สำหรับการพัฒนาบุคลากรในทุกระดับ

กฎข้อที่ 17 : อย่าสร้างธุรกิจด้วยคนธรรมดาๆ

ในบางครั้งผู้ประกอบการต้องยอมเจ็บปวดในการที่จะต้องไล่คนที่ไม่มีผล งานออกไป ถึงแม้ว่าจะไม่อยากทำก็ตาม แต่เพื่อความแข็งแรงของธุรกิจ จำเป็นต้องทำ แต่ต้องรักษาคนที่เก่งมีความสามารถมีผลงานดีให้อยู่สร้างความเข้มแข็งให้ ธุรกิจ ดีกว่าที่จะคิดที่จะพยายามรักษาพนักงานทุกคนไว้ เพราะฉะนั้นจะยิ่งทำให้ธุรกิจอ่อนแอลงไปอีก

กฎข้อที่ 18 : เน้นคุณภาพไม่ใช่เงิน

ผู้ประกอบการที่จะประสบความสำเร็จไม่ควรมุ่งแต่หาเงิน แต่ควรมุ่งเน้นไปในการพัฒนาคุณภาพเพื่อเข้าสู่ภาวการณ์แข็งขัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายมากกว่า ในช่วงเหตุการณ์วิกฤตผู้ประกอบการไม่ควรลดคุณภาพสินค้าเพื่อรักษาเงินให้ได้ เท่าเดิม แต่ควรควบคุมค่าใช้จ่ายแต่คงคุณภาพสินค้าไว้ ซึ่งวิธีการนี้จะเป็นวิธีการที่จะได้เปรียบคู่แข่งในการแข่งขัน

กฎข้อที่ 19 : รีบลงมือทันทีในช่วงวิกฤต

ผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาต่าง ๆ ควรจะพลิกวิกฤตที่เผชิญอยู่ให้เป็นโอกาสในด้านต่าง ๆ โดยเมื่อประสบปัญหาต้องตั้งสติค่อย ๆ พิจารณาสถานการณ์อย่างรอบคอบแล้ววางแผนการทำงานและลงมือทำด้วยความมั่นใจ แน่วแน่ไม่ย่อท้อ ซึ่งต้องอาศัย ความเชื่อมั่นในตนเองและเชื่อมั่นในลูกทีมตลอดเวลา จัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่ต้องทำ ซึ่งอันดับแรกก็คือ การอยู่รอด มีความมั่นคงและเติบโตต่อไปของธุรกิจ

กฎข้อที่ 20 : เมื่อตกม้าต้องรีบกระโดดขึ้นใหม่ทันที
ผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาด้านใดก็แล้วแต่ต้องพร้อมที่จะเริ่มต้นใหม่ ทันทีโดยใช้ความรู้ทั้งหมดที่มีและใช้กฎทุกข้อที่กล่าวมาแล้ว รวมทั้งการเชื่อมั่นในสัญชาตญาณ กำหนดกลยุทธ์เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปและเพื่อพิสูจน์ความสามารถ ในการดำเนินธุรกิจต่อไป

กฎข้อที่ 21 : จงพอใจ

การดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ ผู้ประกอบการจะต้องทุ่มเททุกอย่างทั้งแรงกายแรงใจ แต่ความสำเร็จทางธุรกิจ จะต้องสมดุลกับ คุณภาพด้านอื่น ๆ แต่ถ้าชีวิตไม่มีความสมดุลก็จะเป็นอันตรายต่อชีวิตตัวเองและครอบครัว เพราะฉะนั้นจะพึงพอใจกับทุกสิ่งที่มีในชีวิต เพราะความสุขที่แท้จริงไม่ได้มาจากการได้ทุกอย่างตามที่ต้องการ แต่มาจากความพึงพอใจในสิ่งที่มีอยู่