ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

แฟรนไชส์ VS ทำธุรกิจเอง มีความแตกต่างกันอย่างไร มีข้อดี ข้อเสีย อย่างไรบ้าง เลือกแบบไหนถึงจะเหมาะกับตัวเรา


หลายคนมักมีข้อสงสัยว่าหากเราจะเริ่มทำธุรกิจอะไรซักอย่างหนึ่ง เราควรเริ่มจากอะไร เช่น ลงทุนแฟรนไชส์ หรือ เริ่มต้นทำเองทั้งหมด วันนี้ ชี้ช่องรวย จะมาบอกถึงความแตกต่างของทั้ง 2 อย่าง และข้อดี ข้อเสีย ว่ามีอะไรบ้าง และแบบไหนถึงจะเหมาะกับตัวเรา

ธุรกิจแฟรนไชส์

ธุรกิจแฟรนไชส์ เป็นโมเดลธุรกิจที่ได้ถูกจัดวางระบบไว้ทั้งหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นชื่อกิจการ สูตร โปรโมชั่น รูปแบบการขาย ผู้ซื้อแฟรนไชส์เพียงจ่ายเงินค่าธรรมเนียมแลกกับสิทธิ์ในการใช้ชื่อและกระบวนการต่างๆ จากนั้นเจ้าของแฟรนไชส์จะจัดการหาทำเล ตั้งร้าน ติดต่อซัพพลายเออร์ ฝึกอบรม จนกระทั่งสามารถเปิดร้านได้ โดยที่ผู้ซื้อแฟรนไชส์ไม่ต้องสิ้นเปลืองเวลาคิดค้นกลยุทธ์เอง

ข้อดีของธุรกิจแฟรนไชส์

1.มีรูปแบบการลงทุนให้เลือกหลากหลาย

ปัจจุบันผู้ประกอบธุรกิจสามารถที่จะเลือกธุรกิจแฟรนไชส์ตามกำลังเงินทุนที่มี ซึ่งมีทั้งที่เริ่มต้นด้วยเงินลงทุนตั้งแต่หลักพันบาท ไปจนถึงแฟรนไชส์ที่ใช้เงินลงทุนมากกว่า 1 ล้านบาท ดังนั้นผู้ที่มีเงินทุนน้อยก็สามารถเป็นเจ้าของธุรกิจแบบเอสเอ็มอีได้ และยังช่วยประกันความเสี่ยงต่อความล้มเหลวของธุรกิจได้ในระดับหนึ่ง

2.มีช่องทางการตลาดรองรับ

ปกติแล้วธุรกิจที่ขยายแฟรนไชส์มักจะดำเนินธุรกิจมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว จนตราสินค้ารวมทั้งสินค้าหรือบริการเป็นที่ยอมรับของตลาด ดังนั้นช่องทางตลาดสำหรับผู้ที่เข้ามาซื้อสิทธิแฟรนไชส์ จึงใช้เวลาไม่นานก็สามารถขยายและเติบโตได้อย่างไม่ยากเย็นนัก เนื่องจากบริษัทแม่ที่จำหน่ายแฟรนไชส์ ช่วยลดระยะเวลาในการทำให้สินค้าหรือบริการเป็นที่รู้จักของลูกค้าอยู่แล้ว

3.ไม่ต้องลองผิดลองถูกเอง

โดยปกติผู้ประกอบการที่สนใจเริ่มต้นธุรกิจใหม่ๆ ด้วยตนเอง มักจะขาดความรู้ ความเข้าใจในการดำเนินธุรกิจ แต่การลงทุนแฟรนไชส์ไม่จำเป็นต้องลองผิดลองถูกเอง ซึ่งธุรกิจแฟรนไชส์ต่างๆ จะมาพร้อมเทคนิคหรือการริหารจัดการที่เพียบพร้อมจึงช่วยลดระยะเวลาที่ต้องเรียนรู้ธุรกิจให้สั้นลง ในขณะเดียวกันยังสามารถให้คำปรึกษาและแก้ไขปัญหาแก่ผู้ลงทุน

4.ต้นทุนต่ำ

ธุรกิจแฟรนไชส์ ที่มีสมาชิกในเครือข่ายที่มากจะทำให้ปริมาณการสั่งซื้อวัตถุดิบ ตลอดจนอุปกรณ์การผลิตต่างๆ มีสูง ซึ่งได้ราคาที่ต่ำกว่าการสั่งซื้อสินค้าทีละน้อย และเป็นปัจจัยทำให้ธุรกิจมีต้นทุนต่ำลงและมีศักยภาพการแข่งขันที่สูงขึ้น

ความเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ทในธุรกิจแฟรนไชส์

1.เลือกธุรกิจให้ตรงกับความต้องการของตัวเอง

การเลือกทำธุรกิจตามความชอบหรือสนใจและมีความถนัดหรือเชี่ยวชาญในธุรกิจนั้นอยู่บ้าง จะช่วยให้ผู้ประกอบการไม่เกิดความท้อถอยแม้จะพบอุปสรรค ในขณะเดียวกันก็พร้อมจะเรียนรู้หาทางแก้ปัญหาให้ลุล่วงไปได้ นอกจากนี้การทำธุรกิจที่ถนัดหรือชอบจะทำให้สามารถเรียนรู้หลักการบริหารจัดการต่างๆ จากบริษัทแม่ผู้ขายแฟรนไชส์ ได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากกว่าผู้ประกอบการที่ไม่มีความถนัดอยู่เดิม เช่น หากเดิมเคยประกอบธุรกิจร้านอาหารเล็กๆ มาก่อน การซื้อแฟรนไชส์ ที่มีชื่อเสียงมาเปิดดำเนินการก็จะทำได้ง่าย เนื่องจากมีความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารและเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคอยู่พอสมควรแล้ว

2.เลือกทำเลผิดชีวิตเปลี่ยน

แม้ว่าสินค้าหรือบริการจะมีความโดดเด่นหรือมีความน่าสนใจและเป็นที่ต้องการของผู้ซื้อ แต่หากเลือกทำเลที่จะเปิดดำเนินการไม่เหมาะสม เช่น สถานที่ที่มีลูกค้าสัญจรไปมาน้อยหรือสถานที่ซึ่งลูกค้าเดินทางมาไม่สะดวก ประการสำคัญพื้นที่นั้นมีผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจคล้ายหรือใกล้เคียงกัน เปิดกิจการอยู่เป็นจำนวนมากอยู่แล้ว ซึ่งปัจจัยดังกล่าวก็อาจส่งผลกระทบต่อยอดขายหรือการแข่งขันที่รุนแรงและส่งผลกระทบต่อความยั่งยืนของธุรกิจในท้ายที่สุด ดังนั้นการเลือกทำเลที่เหมาะสม

จึงเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สามารถบ่งบอกถึงความสำเร็จหรือการเติบโตของธุรกิจ โดยในเบื้องต้นผู้ประกอบการควรใช้เวลาเสาะแสวงหาทำเลที่จะเปิดดำเนินการโดยไม่รีบร้อนและต้องพิจารณาทำเลหลายๆ แห่ง โดยเฉพาะทำเลที่สอดคล้องกับสินค้าหรือบริการที่จะจำหน่าย เช่น ทำเลที่ตั้งอยู่ใกล้กับอาคารสำนักงาน สถานีรถไฟฟ้า หมู่บ้านจัดสรร หรือตั้งอยู่ในศูนย์การค้า เป็นต้น ทั้งนี้หากจำเป็นก็อาจต้องมีการศึกษา ทำวิจัย พฤติกรรมผู้ซื้ออย่างละเอียดประกอบการเลือกทำเล

3.ปล่อยปละละเลยไม่ได้

มีหลายกรณีที่ผู้ประกอบการธุรกิจที่มีศักยภาพทางด้านเงินทุนดำเนินการ แต่มีข้อเสียคือไม่มีเวลาที่จะบริหารเองและเมื่อลงทุนซื้อแฟรนไชส์ ไปแล้วก็มักจ้างคนมาทำหรือให้ญาติพี่น้องมาดูแล ซึ่งอาจส่งผลทำให้กิจการดำเนินไปได้ด้วยความไม่ราบรื่น เนื่องจากความเอาใจใส่ต่อการดูแลจัดการธุรกิจจะมีน้อยกว่ากรณีที่เจ้าของลงมือทำเอง เนื่องจากการขาดจิตสำนึกของการเป็นเจ้าของกิจการนั่นเอง ในขณะเดียวกันการให้ผู้อื่นเข้ามาบริหารกิจการแทนนั้นอาจประสบกับปัญหาค่าใช้จ่ายหรือรายได้ที่รั่วไหลออกไป จนส่งผลกระทบต่อผลกำไรของธุรกิจก็เป็นได้

ลงทุนทำธุรกิจเอง

การทำธุรกิจเองนั้นแน่นอนว่าจะต้องเริ่มต้นใหม่เองทั้งหมด ต้องสร้างระบบการบริหารจัดการเอง ต้องวางแผนธุรกิจเอง เพราะไม่มีใครเป็นแบบอย่าง ฉะนั้นก่อนเริ่มจำเป็นต้องมีความรู้ทางธุรกิจที่มากพอ ซึ่งแน่นอนว่าทุกขั้นตอนต้องใช้ระยะเวลานานพอสมควร นั่นหมายถึงการลงผิดลองถูกหลายครั้งถึงจะประสบความสำเร็จ

แต่ถึงอย่างไรความแตกต่างที่เห็นได้ชัด คือ การลงทุนทำธุรกิจเองจะมีอิสระในการบริหารจัดการ สามารถสร้างระบบในการบริหารธุรกิจเองได้ สร้างเอกลักษณ์ความเป็นตัวตนได้ มีความยืดหยุ่นสูง พลิกแพลงสูตร เมนู รูปแบบสินค้าหรือบริการต่าง ๆ ได้เอง

ข้อดี ของการลงทุนทำธุรกิจด้วยตัวเอง

1.มีอิสระ

แน่นอนว่าการทำธุรกิจด้วยตัวเองจะไม่ถูกผูกมัดไว้กับสํญญาเหมือนการลงทุนแฟรนไชส์ ซึ่งมีอิสระทางความคิดที่มากกว่า สามารถดัดแปลงทำสิ่งใหม่ หรือพัฒนาให้ดีขึ้นได้โดยไม่ติดขัดอะไร สามารถบริหารธุรกิจได้ตามไอเดียของตัวเองทั้งหมด

2.รายได้เข้ากระเป๋า 100 เปอร์เซ็นต์

ในส่วนของการทำธุรกิจนั้นรายได้ทั้งหมดจะเข้ากระเป๋าของเจ้าของธุรกิจแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งผู้ประกอบการสามารถควบคุมต้นทุนการผลิต เพื่อเพิ่มกำไร ได้ตามต้องการ ไม่เหมือนกับการลงทุนแฟรนไชส์ในบ้างแบรนด์อาจมีเงือนไขของกันแบ่งสัดส่วนรายได้เข้ามาเกี่ยวข้อง

3.เกษียณตัวเองได้ไวกว่า

การเป็นเจ้าของธุรกิจ หากกิจการประสบความสำเร็จและสร้างผลตอบแทนได้มาก มีสินทรัพย์ที่มีมูลค่ามาก และเงินเก็บที่มากพอ คุณก็จะสามารถเกษียณได้ตั้งแต่อายุน้อย และไปทำในสิ่งต่างๆ ที่ชอบได้ แต่คุณก็อย่าลืมที่จะหาตัวตายตัวแทนมารับช่วงดูแลบริหารจัดการธุรกิจที่คุณสร้างมากับมือต่อจากคุณ คัดเลือกคนที่คุณไว้ใจ และทำงานแทนคุณได้

ข้อเสีย ของการลงทุนทำธุรกิจด้วยตัวเอง

1.ใช้เงินลงทุนสูง

ไม่ว่าจะเริ่มจากกิจการเล็กๆ หรือกิจการใหญ่ๆ ก็ต้องใช้เงินทุนทั้งนั้น อาจจะมากน้อยตามแต่ลักษณะของกิจการแต่ละประเภท และนอกจากเงินลงทุนแล้ว เรายังระดมความรู้จากสมองที่มีและแรงกายทั้งหมดที่มี เพื่อให้กิจการของเราไปได้และดีด้วย

2.งานหนักและเหนื่อยมากกว่า

จำไว้อย่างหนึ่งว่าเมื่อมีกิจการเป็นของตัวเองแล้ว ก่อนที่จะประสบความสำเร็จเราจะต้องทุ่มเทเป็นอย่างมาก เพราะคิดเอง ทำเอง เมื่อเกิดปัญหาก็ต้องแก้ไขเอง จนบางครั้งเวลาทำงานอาจจะมากกว่าการทำงานประจำก็เป็นได้ ช่วงที่คนอื่นได้หยุดตามเทศกาลเราก็อาจจะไม่ได้หยุดเหมือนคนอื่น

3.มีความเสี่ยงต่อการขาดทันในช่วงแรก

การเป็นเจ้าของธุรกิจต้องยอมรับความเสี่ยงในข้อนี้ โดยเฉพาะช่วงการเริ่มต้นทำธุรกิจในระยะแรก พูดได้เลยว่ายังไม่มีรายได้ที่แน่นอน มิหนำซ้ำธุรกิจอาจขาดทุนอีกด้วย ถ้าหากธุรกิจหรือสินค้าของคุณไม่มีตลาดรองรับ ซึ่งต่างจากคนที่เป็นลูกจ้างหรือมนุษย์เงินเดือน จะมีรายได้แน่นอนทุกเดือน สำหรับการทำธุรกิจตัวเอง นอกจากรายได้ไม่แน่นอนแล้ว ในเวลา 3-5 ปี ยังต้องเสี่ยงต่อการขาดทุนอีกด้วย ถ้าหากเงินทุนหมุนเวียนไม่มากพอ และธุรกิจไม่เป็นที่ต้องการของตลาด

4.ไม่มีที่ปรึกษาต้องแก้ปัญหาด้วยตัวเอง

การเป็นเจ้าของธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจเล็กๆ เริ่มแรกคุณอาจจะต้องขายสินค้าหรือบริการด้วยตัวเอง เพราะคุณยังไม่มีลูกจ้าง กระบวนทางธุรกิจต่างๆ คุณจะต้องทำด้วยตัวเองทั้งหมด บางครั้งถ้าเกิดปัญหาขึ้นกับลูกค้า คุณก็จะต้องแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นด้วยตัวเอง ซึ่งต่างจากการเป็นลูกจ้างที่ไม่ต้องรับผิดชอบในส่วนนี้