ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

แห่จองสิทธิ์”ฮัก TAXI” ครึ่งเช้ายอดทะลุกว่า 5,000 ราย


SME Development Bank ปลื้มผู้ประกอบอาชีพขับแท็กซี่ ตอบรับจองสิทธิเข้าร่วมโครงการ “ฮักTAXI” สร้างโอกาสเข้าถึงเงินทุนดอกเบี้ยต่ำในระบบ เพิ่มทักษะความรู้ สวัสดิการยกระดับคุณภาพชีวิต ช่วยเสริมแกร่งการประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน

ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า โครงการนี้เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับผู้ขับรถแท็กซี่ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมบริการ และมีคนประกอบอาชีพนี้เยอะมาก ตามที่รัฐบาลมีการยกระดับภาคอุตสาหกรรม การผลิต การบริการของประเทศ สร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการของไทยเพื่อให้สามารถพัฒนา อย่างบริการด้านแท็กซี่จะเห็นว่ามีการพัฒนาระบบเทคโนโลยีไปมาก หากจะให้เขาปรับเราก็ต้องไปช่วยในเรื่องภาระที่เขามีให้เหมาะสม จึงเป็นที่มาของโครงการ “ฮักแท็กซี่” ในวันนี้ โดย SME Development Bank ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม โดยใช้วงเงินที่รัฐบาลกำหนดไว้ที่ 10,000 ล้านบาท เรียกว่า วงเงินสินเชื่อเพื่อพัฒนาความเข้มแข็งภายในประเทศ ซึ่งรวมถึงงานภาคบริการหรือกลุ่มคนขับรถแกซี่เช่นเดียวกัน ดังนั้น โครงกานนี้จะเป็นการช่วยปลดภาระทางการเงินให้กับผู้ประกอบการแท็กซี่ด้วยแนวทางที่เหมาะสม เราจะพัฒนาโดย SME Development Bank จะใช้เทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาซอร์ฟแวร์ดิจิทัลเพื่อช่วยในเรื่องของงานบริการของพี่น้องผู้ขับรถแท็กซี่

นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME Development Bank เปิดเผยว่า จากที่ธนาคาร ร่วมกับศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ทำการสำรวจ “การประเมินศักยภาพธุรกิจท้องถิ่นของประเทศไทย” กรณีศึกษาธุรกิจบริการแท็กซี่ พบว่า ปัจจุบัน มีผู้ประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่ทั่วประเทศกว่า 1.2 แสนราย และมีรถแท็กซี่ในระบบกว่า 9 หมื่นคัน เป็นรถส่วนบุคคล (เขียว-เหลือง) กว่า 37% โดยส่วนใหญ่ ผู้ประกอบอาชีพขับแท็กซี่ถึง 76.69% ทำอาชีพนี้มานาน มากกว่า 6 ปีขึ้นไปถึง 20 ปี อีกทั้ง ยึดอาชีพขับรถแท็กซี่เป็นอาชีพหลักถึง 87.98% นอกจากนั้น ผู้ประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่ยังเป็นคนที่ต้องทำงานหนัก เฉลี่ยขับรถ 25 วันต่อเดือน โดยต้องขับควบกะช่วงเช้า ช่วงเย็น และช่วงกลางคืน เฉลี่ยกว่า 12 ชั่วโมงต่อวัน มีรายได้เฉลี่ยต่อวัน 1,702 บาท แต่เมื่อหลังหักค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้ว เหลือรายได้เฉลี่ยเพียงวันละ 400 บาท จึงมีปัญหา ชักหน้าไม่ถึงหลัง รายได้เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย

ผลสำรวจยังชี้ด้วยว่า สัดส่วนรถแท็กซี่ที่ใช้ประกอบอาชีพอยู่ในปัจจุบันเกือบ 50% หรือประมาณ 35,000 คัน เป็นรถที่เหลืออายุการใช้ไม่ถึง 5 ปี ซึ่งตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป รถจะทยอยหมดอายุ ปีละกว่า 10,000 คัน ดังนั้น ผู้ประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่ 70% ต้องการสินเชื่อในระบบ เพื่อจะซื้อรถใหม่ เพราะเชื่อว่า จะช่วยเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย คุ้มกว่าการเช่ารถ และสามารถจัดสรรเวลาทำงานได้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อไปยังการให้บริการแก่ผู้โดยสารด้วย อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริง ที่ผ่านมา ผู้ประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่ส่วนใหญ่ 65% เข้าไม่ถึงแหล่งทุน จึงต้องหันพึ่งพาเงินกู้นอกระบบ ส่งผลแบกภาระหนี้สูง เกิดเป็นปัญหาซ้ำซ้อนมากขึ้นไปอีก จนยากจะหลุดพ้นวงจรความยากจนไปได้

ธพว. ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ภายใต้สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงการคลัง เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายย่อย ได้เปิดโครงการ “ฮัก TAXI เสริมแกร่งแท็กซี่ไทย ช่วยเสริมแกร่งและยกระดับการประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่ให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน ในขณะเดียวกัน ผู้ใช้บริการแท็กซี่จะได้ประโยชน์ เช่น ไม่ถูกปฏิเสธ ไม่ถูกโกงมิเตอร์ ปอลดภัย เป็นต้น

ทั้งนี้ ธนาคารได้เริ่มเปิดให้ผู้ประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่ แสดงเจตจำนงความต้องการเข้าร่วมโครงการ “ฮัก TAXI& เสริมแกร่งแท็กซี่ไทย ตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2561 ซึ่งได้การตอบรับอย่างดียิ่ง เนื่องจากโครงการนี้ ผู้ประกอบอาชีพจะได้รับการพัฒนาการประกอบอาชีพแท็กซี่ ควบคู่กับเข้าถึงแหล่งเงินทุน ตามแนวทางอัตราเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำของสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy Loan) เงื่อนไขผ่อนปรน ผ่อนถูกกว่าจ่ายค่าเช่ารถ ผู้กู้สามารถเลือกระยะเวลาการผ่อนชำระได้ ให้สิทธิ์ 1 คนต่อการกู้ซื้อรถได้ 1 คัน ทั้งนี้ กำหนดวงเงินโครงการรวม 10,000 ล้าน

นอกจากนั้น ผู้เข้าร่วมโครงการดังกล่าว ยังได้รับสวัสดิการยกระดับคุณภาพชีวิต โปรแกรมเสริมแกร่ง เพื่อเพิ่มศักยภาพการประกอบอาชีพ เช่น ฝึกอบรมทักษะภาษา ระบบประกันสังคม การออมเพื่อประโยชน์ในวัยเกษียณ มีระบบเรียกรถผ่านแอปพลิเคชัน เป็นต้น

“อาชีพขับรถแท็กซี่ เกี่ยวโยงกับบุคคลต่างๆ อีกจำนวนมาก ตั้งแต่ผู้โดยสารที่ใช้บริการ ไม่ต่ำกว่า 3-5 ล้านคนต่อวัน นักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเที่ยวประเทศไทย มากกว่า 30 ล้านคนต่อปี ดังนั้น การยกระดับแท็กซี่ จะช่วยให้ผู้ประกอบการอาชีพนี้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ไม่เป็นต้องหนี้นอกระบบ ขณะที่ ผู้ใช้บริการ ได้รับความสะดวก ปลอดภัย รวมถึง สร้างภาพลักษณ์ต่อการท่องเที่ยวไทย” นายมงคล กล่าว

นายสุวรรณฉัตร พรหมชาติ แท็กซี่พลเมืองดี กล่าวถึงโครงการนี้ว่า โครงการนี้ดีมากเพราะสามารถช่วยลดภาระในเรื่องค่าใช้จ่ายในเรื่องค่าเช่ารถแท็กซี่จาดเดิมที่ต้องจ่ายค่าเช่าวันละ 800-900 บาท บางรายจ่ายมากถึงวันละกว่า 1,000 บาท ทำให้คุณภาพชีวิตของคนขับแท็กซี่ไม่ดีเท่าใดนัก ดังนั้นการที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าวจะช่วยลดภาระได้มาก เพราะจ่ายค่าผ่อนรถแท็กซี่เพียงวันละ 390 บาท และยังได้รถแท็กซี่เป็นของตนเองด้วย นอกจากนี้ ยังได้รับสวัสดิการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ประกันสังคม ประกันอุบัติเหตุ การได้รับการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพของคนขับแท็กซี่ให้มีความน่าเชื่อถือ นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาระบบผ่านเทคโนโลยีแอปพลิเคชันต่างๆ สร้างความปลอดภัยให้กับผู้โดยสาร และยังเห็นว่า หากมีการพัฒนาอย่างนี้จะช่วยลดปัญหาการปฏิเสธรับผู้โดยสารได้อีกด้วย

ด้านนายปัญญา โชคดวงจินดา ผู้เข้าร่วมโครงการ “ฮักแท็กซี่” กล่าวให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า เป็นโครงการที่ดีมากๆ และควรมีโครงการนี้เป็นอย่างยิ่ง เพราะมีทั้งการให้สวัสดิการในเรื่องการประกันสังคม ฝึกทักษะ และพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อต่อยอดสู่ความเป็นมืออาชีพ และมีความเห็นว่าช่วยแบ่งเบาภาระได้อย่างมาก เนื่องจากปัจจุบันรายได้จากการขับรถแท็กซี่ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายเพราะต้องนำเงินไปจ่ายค่าเช่าซึ่งตนเองต้องจ่ายมากถึงวันละ 800 บาท ดังนั้นเมื่อเข้าร่วมโครงการได้จ่ายค่างวดเพียงวันละ 390 บาท ถือว่าช่วยลดภาระไปได้มาก ทำให้คุณภาพชีวิตดรขึ้นไม่ต้องไปขับรถวันละ 15 ชั่วโมงเหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน อยากให้ภาครัฐช่วยดูแลเรื่องสวัสดิการยามเจ็บป่วย

คุณรัตนาภรณ์ สุทธิประภา ผู้ขับรถแท็กซี่หญิงและเดินทางมาจองสิทธิ์ในครั้งนี้ กล่าวว่า ผู้ขับรถแท็กซี่บางคนขับรถมา 20-30 ปี ยังไม่มีรถแท็กซี่เป็นของตนเองและต้องเช่ารถแท็กซี่เป็นเวลาหลายปี และต้องจ่ายค่าเช่าควงกะวันละ 800 บาท ซึ่งการเข้าร่วมโครงการนี้จ่ายค่าผ่อนรถเพียงวันละ 390 บาท เรียกว่าช่วยลดภาระได้มาก และยังมีรถเป็นของตนเองอีกด้วย นอกจากนี้ หากเช่ารถก็ยังไม่มีสวัสดิการอะไรมารองรับเท่าใดนัก เพราะกลุ่มคนขับรถแท็กซี่ถือเป็นฟันเฟืองเล็กๆที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ดี ดังนั้น เมื่อมีโครงการที่ออกมาควบคู่กับสวัสดิการดีๆ อย่างนี้ จึงอยากให้มีโครงการแบบนี้อย่างต่อเนื่อง