ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

เตรียมนำร่อง 4 งานหัตถกรรมวัยเกษียณ พัฒนาแรงงานผู้สูงอายุ


กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) สานต่อนโยบายรัฐบาลในการสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มประชากรผู้สูงวัย พร้อมเผย 3 แนวทางในการส่งเสริมและรองรับแรงงานภาคอุตสาหกรรมหลังวัยเกษียณ ประกอบด้วย การพัฒนาวิสาหกิจชุมชนยกระดับเศรษฐกิจฐานราก การส่งเสริมเอสเอ็มอีวัยเกษียณ และการส่งเสริมด้านเงินทุนหมุนเวียน โดยเริ่มนำร่องฝึกอาชีพและเพิ่มทักษะการผลิตสินค้าหัตถกรรมชุมชนให้กับผู้สูงอายุกว่า 1,900 ราย ในอำเภอสันกำแพง 4 สาขา ได้แก่ การทำโคมยี่เป็ง การทำตุง 12 ราศี การประดิษฐ์ดอกไม้จันทน์จากกระดาษสา และการทำไม้กวาดทางมะพร้าว เพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองและเลี้ยงดูครอบครัวได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งนี้ คาดว่าผู้เข้าที่ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ต่าง ๆ จะสามารถนำทักษะและประสบการณ์ที่ได้รับไปสร้างรายได้ ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในช่วง 2 – 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านโครงสร้างประชากรอย่างชัดเจน ซึ่งในปัจจุบันจะเห็นได้ว่า ทั้งจำนวน และสัดส่วนของผู้สูงอายุมีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขได้มีการคาดการณ์ว่าภายในปี พ.ศ. 2564 ประชากรผู้สูงอายุในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นอีก 5.6 ล้านคน (จากเดิมในปี พ.ศ. 2560 มีประชากรผู้สูงอายุ จำนวน 10 ล้านคน) ซึ่งการเพิ่มจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจะส่งผลกระทบทางด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และการพัฒนาสังคมโดยรวม ดังนั้น ขณะนี้หลาย ๆ ภาคส่วน จึงต้องมีการกำหนดมาตรการและการวางแผนในการยกระดับกลุ่มประชากรดังกล่าวให้สอดคล้องกับการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศอย่างรัดกุม

นายกอบชัย กล่าวต่อว่า ภายใต้การดำเนินงานของ กสอ. ได้เล็งเห็นว่าจำนวนผู้สูงอายุในกลุ่มผู้ใช้แรงงานของภาคอุตสาหกรรมในปัจจุบันนั้นมีอยู่เป็นจำนวนมาก และยังสามารถทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการสร้างงานและอาชีพเสริมให้กับผู้สูงวัยในภาคการผลิตที่จะกลับสู่ชุมชน ซึ่งจะทำให้คนเหล่านี้อยู่ได้โดยไม่รู้สึกว่าตนเองเป็นภาระลูกหลาน ดังนั้น ล่าสุดจึงได้เริ่มวางกลไกการพัฒนาระบบการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุเชิงระบบที่ในอนาคตจำเป็นจะต้องเน้นการสร้างความยั่งยืนของระบบสวัสดิการ หลักประกันในด้านรายได้ รวมถึงโอกาสต่าง ๆ  ที่กลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่วัยเกษียณควรจะได้รับ ซึ่งได้วางแนวทางไว้ 3 ด้านประกอบด้วย

1.การพัฒนาวิสาหกิจชุมชนยกระดับเศรษฐกิจฐานราก  โดยการนำร่องจัดหลักสูตรฝึกอบรมอาชีพให้แก่ผู้สูงอายุในแต่ละชุมชนเพื่อเพิ่มทักษะ ความรู้ความสามารถจากภูมิปัญญาท้องถิ่น และพัฒนาศักยภาพด้านการผลิตสินค้าจากชุมชนที่เป็นอัตลักษณ์เพื่อเพิ่มโอกาสในการกระจายรายทั้งผู้สูงอายุและภายในชุมชน ซึ่งกรมฯ ได้มีการดำเนินงานผ่านโครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry Village: CIV) ที่มุ่งเน้นในการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนสามารถเติบโตได้ด้วยตนเอง ส่งผลให้เศรษฐกิจฐานรากมีความแข็งแกร่งและยั่งยืน 

2.การส่งเสริมเอสเอ็มอีวัยเกษียณ  โดยเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับแรงงานสูงวัย เพื่อก้าวสู่ การเป็นผู้ประกอบการใหม่วัยเกษียณ โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มผู้เกษียณอายุ ในช่วงอายุ 55-60 ปี ที่มีความตั้งใจเป็นเจ้าของธุรกิจ ให้สามารถเขียนโมเดลธุรกิจและแผนประกอบกิจการอย่างง่าย  เพื่อขอรับเงินทุนและการยื่นคำขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน เพื่อให้ SMEs ในกลุ่มนี้มีขีดความสามารถ  ทางธุรกิจ ทั้งในด้านการผลิตสินค้าและการบริการ

3.ส่งเสริมด้านเงินทุนหมุนเวียน  สำหรับผู้สูงอายุบางส่วนที่ต้องการจะเป็นเจ้าของธุรกิจในวัยเกษียณ  กสอ. จึงเตรียมความพร้อมด้านเงินทุนหมุนเวียนโดยเฉพาะด้านการส่งเสริมอุตสาหกรรมไทย  และหัตถกรรมไทย วงเงินให้กู้ต่อรายไม่เกิน  2 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยคงที่เพียงร้อยละ 4 อีกทั้งนี้ ต้องเป็นทายาทของผู้เกษียณและเข้าหลักเกณฑ์คุณสมบัติของผู้กู้ จึงสามารถยื่นกู้ได้

นายกอบชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ กองพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน ภายใต้การดำเนินงาน ของ กสอ. ยังได้นำร่องสำรวจความต้องการในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของผู้สูงอายุใน ต.แช่ช้าง อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ โดยมีประชากรผู้สูงอายุจาก 10 หมู่บ้าน จำนวน 1,857 คน ร่วมกันกับ กสอ. คิดค้นหลักสูตร  ที่มีความเหมาะสมและเกิดจากความต้องการของกลุ่มผู้สูงอายุในพื้นที่ รวมถึงสอดกับความต้องการของตลาด ภายใต้โครงการ “การส่งเสริมการผลิตสินค้าหัตถกรรมชุมชนเพื่อเพิ่มทักษะและรายได้สำหรับผู้สูงอายุ” ซึ่งหลังจากนี้จะเริ่มทำการฝึกอาชีพและเพิ่มทักษะการผลิตสินค้าหัตถกรรม 4 สาขา ได้แก่ การทำโคมยี่เป็ง การทำตุง 12 ราศี  การประดิษฐ์ดอกไม้จันทน์จากกระดาษสา และการทำไม้กวาดทางมะพร้าว ทั้งนี้ การดำเนินกิจกรรมดังกล่าว เป็นการสนองต่อนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการมีงาน มีอาชีพของประชากรกลุ่มต่าง ๆ ให้สามารถพึ่งพาตนเองและเลี้ยงดูครอบครัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งคาดว่าผู้ที่ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ต่าง ๆ จะสามารถนำทักษะและประสบการณ์ที่ได้รับไปสร้างรายได้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80

สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทรศัพท์ 022024414 – 17หรือ เข้าไปที่ www.dip.go.th