หากจะกล่าวถึงโครงการชลประทานที่มีผลสัมฤทธิ์มาจากการบูรณาการความร่วมมือและองค์ความรู้จากทุกภาคส่วน ที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างมั่นคงถาวร หนึ่งในนั้นคือ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโก-ลกหรือโครงการชลประทานมูโนะ ในเขตอำเภอสุไหงโก-ลก และอำเภอตากใบจังหวัดนราธิวาส
จุดเริ่มต้นของโครงการเริ่มต้นขึ้นในเดือนกันยายน พ.ศ. 2517 เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว ทำให้ทรงทราบว่าประชาชนประสบปัญหาน้ำท่วมและน้ำเค็มรุกพื้นที่ ส่งผลให้ขาดแคลนน้ำจืดในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระราชดำริโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโก-ลก หรือโครงการชลประทานมูโนะครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2517 สรุปความว่าให้ กรมชลประทานพิจารณาความเหมาะสมในการจัดทำทำนบกั้นน้ำบริเวณถนนตากใบ – สุไหงโก-ลก และที่เกาะสะท้อนเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเป็นระยะเวลาหลายเดือน และต่อมาในวันที่ 18 กันยายน ปีเดียวกันได้พระราชทานดำริสรุปความได้ว่า
ควรมีการขุดคลองระบายน้ำช่วยให้น้ำที่ท่วมในฤดูมรสุมมีทางระบายลงสู่ทะเลได้รวดเร็วขึ้น คลองระบายน้ำที่จะขุดนั้นจะมีประตูปิดหัวและท้ายคลอง เมื่อถึงฤดูฝนแล้วจะเปิดให้น้ำระบายได้ตลอด แต่ในฤดูแล้งจะปิดคลองทางทะเลเพื่อกั้นน้ำทะเลเข้าคลองระบายน้ำ แต่หัวคลองระบายน้ำนั้นจะเปิดเพื่อส่งน้ำจากแม่น้ำสุไหงโก-ลก เพื่อใช้ในการชลประทาน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงให้ความสำคัญกับการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและประชาชนตั้งแต่เริ่มโครงการ ให้หน่วยงานราชการประสานความร่วมมือกับประชาชนในการพัฒนาพื้นที่ทั้งในด้านการสอบถามความเข้าใจของประชาชนที่มีต่อโครงการ การติดตั้งแผนที่และคำอธิบาย รวมทั้งจัดทำหุ่นจำลองคลองระบายน้ำในโครงการโดยละเอียด ณ ที่ว่าการอำเภอและตำบลต่างๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบการดำเนินงานโครงการ
การศึกษาหาข้อมูลจากพื้นที่จริงเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การดำเนินโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในขั้นตอนต่อมาระหว่างช่วง พ.ศ. 2520 ถึง พ.ศ. 2536โดยทรงอาศัยหลักวิชาการด้านวิศวกรรมควบคู่ไปกับหลักวิชาการอื่นๆ ในการแก้ไขปัญหา เช่น พระราชทานพระราชดำริให้สร้างประตูระบายน้ำบังคับน้ำเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งและป้องกันน้ำเค็มรุกเข้าพื้นที่ การสร้างอ่างเก็บน้ำบริเวณต้นน้ำโก-ลกและระบบผันน้ำจากคลองปาเสมัส เพื่อเป็นแหล่งเก็บกักน้ำต้นทุนสนับสนุนการระบายน้ำในพื้นที่โครงการและช่วยบรรเทาอุทกภัย เป็นต้นจะเห็นได้ว่า ในการดำเนินโครงการ
พัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่างๆ โดยเฉพาะด้านการบริหารจัดการน้ำและการพัฒนาแหล่งน้ำ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร จะทรงคิดค้นดัดแปลง ปรับปรุงแก้ไขและบูรณาการวิชาความรู้หลากหลายแขนง เพื่อสร้างสรรค์โครงการพัฒนาที่สามารถดำเนินการได้โดยง่าย ไม่ยุ่งยากซับซ้อน ประหยัด แต่เกิดประโยชน์สูงสุดและสอดคล้องกับสภาพความเป็นอยู่ของประชาชน ซึ่งต้องอาศัยความ “เข้าใจเข้าถึง พัฒนา” และการ “รู้รักสามัคคี” ของทุกฝ่ายที่มาปฏิบัติงานร่วมกันอย่างบูรณาการเป็นสำคัญ