ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

ได้เวลา “ทุเรียนไทย” เจาะตลาดสหรัฐฯ


นางขวัญนภา ผิวนิล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส สหรัฐฯ เปิดเผยว่า ขณะนี้ทุเรียนไทยเริ่มเป็นที่รู้จักและเป็นที่นิยมในการบริโภคของชาวสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ล่าสุด ลินเซย์ เกสิค บล็อกเกอร์ชาวอเมริกันวัย 29 ปี ผู้ติดใจและหลงใหลในรสชาติทุเรียน ได้จัดทำบล็อกชื่อ Year of the Durian และได้ใช้เวลาถึง 1 ปี เพื่อเดินทางติดตามทุเรียนในประเทศต่างๆ รวม 8 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และนำข้อมูลเกี่ยวกับทุเรียนมาเขียนไว้ในบล็อก เพื่อแนะนำให้ผู้บริโภคชาวสหรัฐฯ ได้รู้จัก และปัจจุบันเริ่มมีคนรู้จักทุเรียนมากขึ้น และเริ่มนิยมบริโภคทุเรียนมากขึ้นด้วย

ทั้งนี้ บล็อกเกอร์ดังกล่าวได้อธิบายรสชาติของทุเรียนให้ชาวสหรัฐฯ จินตนาการถึงรสชาติทุเรียนพันธุ์ต่างๆ ไว้ว่า รสชาติเหมือนไอศกรีมรสเฟรนช์วานิลา , กาแฟใส่นม , ช็อกโกแลตนม , ช็อกโกแลตขาว , หัวกะทิ , วิสกี้ , ไวน์ หรือแม้แต่เหล้ารัมที่ทำมาจากกล้วย หลังจากที่ได้ทดลองทุเรียนมากกว่าครึ่งหนึ่งของ 130 สายพันธุ์ที่จดทะเบียนในมาเลเซีย และกว่า 65 พันธุ์ในจำนวน 234 พันธุ์ในไทย

“เธอบอกว่าคนไทยนิยมทานทุเรียนที่สุกกำลังดี เนื้อทุเรียนจึงมีลักษณะเนื้อแป้ง รสชาติหวาน และกลิ่นไม่แรงมาก ทุเรียนโดยธรรมชาตินั้นสุกจากเม็ดออกมาด้านนอก ทุเรียนไทยจึงมีลักษณะเหมือนขนมเอแคลร์ เนื้อแข็งข้างนอกแต่ข้างในนุ่มลื่นเหมือนเนย ขณะที่คนมาเลเซียนิยมทานทุเรียนที่สุกหง่อมเต็มที่แบบที่ร่วงมาจากต้น เนื้อจึงมันและมีกลิ่นแรงกว่า ทำให้เกิดความเข้าใจต่อรสชาติของทุเรียนในกลุ่มผู้บริโภคสหรัฐฯ เพิ่มมากขึ้น และมีความต้องการบริโภคทุเรียนเพิ่มขึ้น”นางขวัญนภากล่าว

นางขวัญนภากล่าวว่า ผลจากการที่บล็อกของเธอมีคนมาเยี่ยมชมเดือนละกว่า 1 หมื่นครั้ง ทำให้เธอได้ใช้โอกาสนี้ในการจัดทริปไปบริโภคทุเรียนถึงแหล่งปีละ 3 ครั้ง ซึ่งไทยเป็นประเทศเป้าหมาย และเมื่อนักท่องเที่ยวที่ได้พามาชิมทุเรียนถึงแหล่งเพาะปลูก ทำให้มีประสบการณ์ในการบริโภคทุเรียนที่ดีขึ้น โดยได้พบไปที่สวนทุเรียน สวนบ้านเรา อ.แกลง จ.ระยอง และยังได้เยี่ยมโรงงานผลิตทุเรียนแปรรูป ที่ Chanthaburi Global Fruits ที่จ.จันทบุรีด้วย

“จะเห็นได้ว่า ธุรกิจ Agritourism เป็นอีกหนึ่งแนวคิดในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการของไทย เพราะผู้บริโภคในปัจจุบันให้ความสำคัญกับประสบการณ์ในการรับประทานมากพอๆ กับคุณภาพและรสชาติ ซึ่งสำนักงานฯ จะทำการส่งเสริม รวมทั้งแนะนำรสชาติทุเรียนไทยให้เป็นที่รู้จักในตลาดสหรัฐฯ เพื่อเพิ่มการบริโภคต่อไป เพราะทุเรียนไทยได้เปรียบทุเรียนจากมาเลเซียที่ต้องรอให้สุกเต็มที่จนหล่นจากต้น ทำให้เก็บได้ไม่นาน แต่ของไทย ตัดก่อนสุก เก็บได้นาน และขนส่งได้นาน จึงมีโอกาสในการขยายตลาดเข้าสู่สหรัฐฯ ได้ และขณะนี้ เท่าที่ตรวจสอบในบล็อก พบว่า ที่รัฐฮาวาย ทุเรียนเป็นที่นิยมอย่างมาก มีป้ายประชาสัมพันธ์ขายทุเรียน แต่ส่วนใหญ่เป็นทุเรียนแช่แข็งจากไทย”นางขวัญนภากล่าว

ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือช่องทางสายตรงการค้าระหว่างประเทศ โทร 1169