ด้วยความเจริญทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมบวกกับสังคมไทยเข้าสู่โลกดิจิทัล ทำให้พฤติกรรมของผู้คนเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยที่ความเจริญเข้ามามีอิทธิพล เช่นเดียวกับยุคสมัยนี้โซเชียลเน็ตเวิร์กที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน ซึ่งปัจจุบันจะเห็นว่ารูปแบบการทำงานเปลี่ยนไปจากเดิมมากขึ้น เช่น เดิมต้องเดินทางไปทำงานที่ออฟฟิศ แต่เดี๋ยวแค่มีคอมพิวเตอร์ หรือ โน๊ตบุ๊กเครื่องเดียวและ Wifi เชื่อมต่อสัญญาณก็สามารถทำงานที่ไหนก็ได้ หรือ ช่องทางการติดต่อสื่อสารก็มีหลากหลาย ดังนั้น การประชุมผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ (Video Conference) หรือการพูดคุยผ่าน Chat Line ก็เห็นเป็นเรื่องธรรมดาไป เป็นต้น
จากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้วัยทำงานกลุ่ม Gen Z มีพฤติกรรมเกี่ยวกับการทำงานโดยพบว่า คนกลุ่มนี้จะให้ความสำคัญกับ 3 ปัจจัยหลัก คือ “เงินเดือนดี” “งานต้องตรงใจ” และ “ต้องการเติบโต”
ผลการสำรวจของจ๊อบไทย (JobThai) เผยข้อมูลรายงานผลการสำรวจพฤติกรรมและความคิดของเหล่ามนุษย์เงินเดือนเกี่ยวกับสถานการณ์การทำงานในปัจจุบัน จากกลุ่มตัวอย่างคนทำงานประจำทั่วประเทศกว่า 1,800 คน พบว่ามีกลุ่มคนที่อยากเปลี่ยนงาน คิดเป็น 59.26% โดยในกลุ่มนี้พบว่า Gen Z เป็นกลุ่มคนที่มีแผนจะเปลี่ยนงานภายในระยะเวลาอันใกล้มากที่สุดคือ 1-3 เดือน คิดเป็น 31.82% ในขณะที่คนทำงาน Gen X และ Gen Y มีทิศทางเหมือนกันคือมีแผนจะเปลี่ยนงานแต่ยังไม่มีกำหนดชัดเจน
นอกจากนี้ผลสำรวจยังเผยให้เห็น 5 ปัจจัยที่ทำให้คนทำงาน Gen Z อยากเปลี่ยนงานในระยะเวลาอันใกล้นี้ ได้แก่ 1.ไม่พึงพอใจเรื่องเงินเดือน คิดเป็น 66.67% ตามมาด้วย 2.ไม่พึงพอใจเรื่องสวัสดิการ คิดเป็น 56.06% 3.ไม่มีความก้าวหน้าในสายงาน คิดเป็น 53.03% 4.ไม่พึงพอใจเรื่องโบนัส คิดเป็น 39.39% และ 5.ไม่พึงพอใจเรื่องวัฒนธรรมและสภาพแวดล้อมขององค์กร คิดเป็น 24.24% ตามลำดับ ในขณะที่ 3 ปัจจัยแรกที่ Gen Z คาดหวังหลังจากเปลี่ยนงาน คือ ต้องการเงินเดือนที่สูงขึ้น ลักษณะของงานต้องตรงกับทักษะและความสนใจ และมีตำแหน่งงานที่ก้าวหน้าขึ้นกว่าเดิม ตามลำดับ
นางสาวแสงเดือน ตั้งธรรมสถิตย์ ผู้ร่วมก่อตั้งและหัวหน้าผู้บริหารด้านปฏิบัติการของจ๊อบไทย (JobThai) เปิดเผยว่า จ๊อบไทย (JobThai) ในฐานะผู้ให้บริการหางาน สมัครงาน ออนไลน์ ได้เผยผลสำรวจพฤติกรรมและความคิดของเหล่ามนุษย์เงินเดือนเกี่ยวกับสถานการณ์การทำงานในปัจจุบันจากกลุ่มตัวอย่างคนทำงานประจำทั่วประเทศกว่า 1,800 คน โดยจากการสำรวจพบว่ามีกลุ่มคนที่อยากเปลี่ยนงาน (Active Job Seekers) คิดเป็นจำนวน 59.26% และคนที่ยังไม่มีแผนจะเปลี่ยนงาน (Passive Job Seekers) คิดเป็น 40.74%
ทั้งนี้ ข้อมูลทั้งหมดของกลุ่มคนที่อยากเปลี่ยนงาน พบว่ากลุ่มคนทำงาน Gen Z มีความแตกต่างจากกลุ่มอื่น ๆ มากที่สุด เนื่องจากมีแผนจะเปลี่ยนงานในช่วงเวลาอันใกล้นี้ โดยมีแผนจะเปลี่ยนงานภายใน 1-3 เดือน คิดเป็น 31.82% ตามมาด้วย มีแผนจะเปลี่ยนงานแต่ยังไม่มีกำหนดชัดเจน คิดเป็น 30.30% และ มีแผนจะเปลี่ยนงานภายใน 4-6 เดือน คิดเป็น 13.64% ในขณะที่กลุ่มคนทำงาน Gen X และ Gen Y มีทิศทางเหมือนกันคือ 1.มีแผนจะเปลี่ยนงานแต่ยังไม่มีกำหนดชัดเจน ตามมาด้วย 2.มีแผนจะเปลี่ยนภายในระยะเวลา 1-3 เดือน และ 3.มีแผนจะเปลี่ยนภายใน 1 ปี ตามลำดับ
นอกจากนี้ผลสำรวจยังเผยให้เห็นถึงข้อมูลที่น่าสนใจของกลุ่ม Gen Z ซึ่งเป็นกลุ่มคนทำงานที่อยากเปลี่ยนงานในระยะเวลาอันใกล้สุดนี้ อาทิ
5 ปัจจัยแรกที่ทำให้คนทำงาน Gen Z อยากเปลี่ยนงาน ได้แก่
1. ไม่พึงพอใจเรื่องเงินเดือน คิดเป็น 66.67%
2. ไม่พึงพอใจเรื่องสวัสดิการ คิดเป็น 56.06%
3. ไม่มีความก้าวหน้าในสายงาน คิดเป็น 53.03%
4. ไม่พึงพอใจเรื่องโบนัส คิดเป็น 39.39%
5. ไม่พึงพอใจเรื่องวัฒนธรรมและสภาพแวดล้อมขององค์กร คิดเป็น 24.24%
5 ปัจจัยแรกที่คนทำงาน Gen Z คาดหวังหลังจากเปลี่ยนงาน ได้แก่
1.ต้องการเงินเดือนสูงขึ้น คิดเป็น 75.76%
2.ลักษณะงานตรงกับทักษะ และความสนใจ คิดเป็น 65.15%
3.ตำแหน่งงานก้าวหน้าขึ้น คิดเป็น 62.12%
4.สวัสดิการที่ดี คิดเป็น 59.09%
5.องค์กรมีความมั่นคง และ มีโอกาสในการเรียนรู้งานมากขึ้น คิดเป็น 46.97%
อย่างไรก็ตามข้อมูลจากการสำรวจข้างต้นจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถมองเห็นภาพรวมเกี่ยวกับแนวโน้มพฤติกรรม รวมไปถึงความคิดของคนทำงานในปัจจุบัน โดยเฉพาะคนทำงานในกลุ่ม Gen Z ที่เริ่มเข้ามามีบทบาทในโลกการทำงานมากขึ้น ซึ่งสามารถนำข้อมูลที่ได้รับไปประยุกต์ใช้เป็นแนวทางในการบริหารและดูแลพนักงาน เพื่อเสริมสร้างศักยภาพขององค์กรให้สามารถแข่งขันในตลาดแรงงานได้อย่างยั่งยืนต่อไป