ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

กรมชลฯ สร้างการสำรวจธรณีวิทยาฐานรากด้วยธรณีฟิสิกส์ มั่นใจเขื่อนไทยได้มาตรฐาน


ในการพิจารณาวางแผนเพื่อจะดำเนินการก่อสร้าง บำรุงรักษา หรือการเพิ่มประสิทธิภาพของตัวเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำ จะต้องพิจารณาบนพื้นฐานข้อมูลธรณีวิทยาฐานรากที่เพียงพอ เพื่อให้ได้เขื่อนที่ทำการก่อสร้างได้มาตรฐาน ถูกหลักวิชาการ มีความแข็งแรง และปลอดภัย

นายนพดล ภูมิวิเศษ ผู้อำนวยการส่วนธรณีวิทยา สำนักสำรวจด้านวิศวกรรมและธรณีวิทยา กล่าวว่า ก่อนการก่อสร้างเขื่อน ส่วนธรณีวิทยา สำนักสำรวจด้านวิศวกรรมและธรณีวิทยาจะลงพื้นที่สำรวจธรณีวิทยาฐานราก โดยใช้วิธีธรณีฟิสิกส์ ซึ่งมีด้วยกันหลากหลายวิธี แต่วิธีที่กรมชลประทานนิยมนำมาใช้ สำรวจธรณีวิทยาฐานรากมากที่สุด คือ วิธีธรณีฟิสิกส์แบบคลื่นหักเห ซึ่งเป็นวิธีการที่ง่าย รวดเร็ว ประหยัด มีความแม่นยำ ในระดับที่ยอมรับได้ทางวิชาการ

วิธีธรณีฟิสิกส์แบบคลื่นหักเห มีหลักการทำงานโดยกำเนิดคลื่นเสียงส่งผ่านลงไปใต้พื้นผิวดิน แล้วรับสัญญาณคลื่นนั้น ๆ ที่เดินทางหักเหกลับขึ้นมาสู่เครื่องรับสัญญาณที่จัดวางไว้ตามสถานีต่าง ๆ ที่พื้นผิว จากนั้นนักธรณีวิทยาจึงทำการวิเคราะห์ ประมวลผลสัญญาณแล้วแสดงผลลัพธ์ให้เห็นภาพโครงสร้างใต้ธรณีทั้งที่ปกติและผิดปกติ ทั้งเป็นระบบอนาล็อกและระบบดิจิทัล

ข้อมูลที่นักธรณีวิทยาทำการวิเคราะห์จะเป็นสิ่งที่บ่งบอกได้ว่าพื้นที่ที่ทำการสำรวจ มีความเหมาะสมในการสร้างเขื่อนหรือไม่ หากสามารถสร้างได้วิศวกรก็จะนำข้อมูลที่ได้ไปเป็นแนวทางในการวางแผนออกแบบก่อสร้างเขื่อนได้ถูกต้องตามหลักวิชาการ ได้มาตรฐานตามที่กรมชลประทานกำหนดไว้ โดยต้องมีความแข็งแรงและปลอดภัยตลอดอายุการใช้งาน

“การสร้างเขื่อนเพื่อกักเก็บน้ำ เขื่อนต้องตั้งอยู่บนฐานรากที่แข็งแรงและแน่นทึบ เพื่อเป็นหลักประกันว่า เวลาน้ำมาแรง ๆ กระแทกเขื่อน เขื่อนจะไม่ทรุดเลื่อนหรือราวซึ่งด้วยสภาพพื้นที่ที่แตกต่างกัน จึงต้องให้ความสำคัญในเรื่องฐานรากของแต่ละพื้นที่ เพราะถ้าฐานรากไม่ดี แล้วยังทำการก่อสร้างก็จะมีความเสี่ยงมาก ต้องทำการปรับปรุงฐานรากให้อยู่ในสภาพมั่นคงเสียก่อนจึงจะก่อสร้างได้ ซึ่งทั้งหมดเป็นภารกิจของกรมชลประทาน” นายนพดล กล่าว

จวบจนปัจจุบันกว่า 400 โครงการที่ส่วนธรณีวิทยา สำนักสำรวจด้านวิศวกรรมและธรณีวิทยา กรมชลประทานได้ทำการสำรวจธรณีวิทยาฐานรากถือเป็นปัจจัยสำคัญของงานออกแบบก่อสร้างเขื่อนของกรมชลประทาน และในอนาคตเมื่อเทคโนโลยีมีความทันสมัยขึ้น การสำรวจธรณีวิทยาฐานรากก็จะยิ่งมีความแม่นยำมากขึ้นไปอีก สอดคล้องกับนโยบายของกรมชลประทานที่กำลังเข้าสู่ยุค RID 4.0 สร้างความมั่นใจให้กับประชาชนว่าเขื่อนของประเทศไทยมีมาตรฐาน แข็งแรงและสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง