โอกาสของคนตัวเล็ก เมื่อ 2 สินค้าของไทยมีโอกาสที่จะเข้าไปตีตลาดอินเดีย แทนจีนจากผลพวงข้อพิพาทการแบ่งดินแดนในที่ราบสูงอักไสซิน จนเกิดปัญหาการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งสินค้าตัวเต็งที่จะสร้างเม็ดเงินกลับเข้ามาในประเทศ คือ สินค้าเกษตร และสินค้าประเภทของใช้ในบ้าน อย่างเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ซึ่งหากเอ่ยถึงสินค้าเกษตรถือว่าไทยเรามีคุณภาพส่งออกได้เลยทีเดียว
DITP แนะโอกาสของไทยจากกรณีอินเดียและจีน
จากปัญหาข้อพิพาทด้านการแบ่งดินแดนในที่ราบสูงอักไสชิน (Aksai Chin) ระหว่างจีนและอินเดีย ที่มีกันมาอย่างยาวนานและมาปะทุขึ้นจนกลายเป็นชนวนสำคัญเมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และกลายเป็นปัญหาต่อเนื่องจนถึงการค้าระหว่างประเทศ
เคยพึ่งพากันมาก่อน
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจีนเคยเป็นแหล่งนำเข้าอันดับหนึ่งของอินเดีย มีสัดส่วนประมาณ 12% ของการนำเข้าทั้งหมด โดยในปีงบประมาณ 2563 (เม.ย. 62- มี.ค. 63) อินเดียนำเข้าจากจีนเป็นมูลค่า 65,100 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่อินเดียส่งออกไปจีนได้เพียง 5% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของอินเดีย ซึ่งสะท้อนถึงการพึ่งพาสินค้าจีน และเมื่อห่วงโซ่การผลิตจากจีนต้องสะดุดไปในช่วงโรคระบาดของ COVID-19 ช่วงเริ่มต้นของการล็อคดาวน์เมื่อเดือนมีนาคม กระทรวงพาณิชย์ของอินเดียได้ระบุรายการสินค้ามากถึง 1,050 รายการที่อินเดียมีความเสี่ยงจะได้รับผลกระทบจากโรคระบาดในจีนและฮ่องกง โดยได้มอบหมายให้ทูตพาณิชย์ทั่วโลกประสานหาแหล่งนำเข้าสารองจากประเทศอื่นๆ
คลอดนโยบายอินเดียที่พึ่งพาตนเอง
จากแนวคิดที่จะลดการพึ่งพาสินค้าจากจีนและฮ่องกง ประกอบกับแนวโน้มเศรษฐกิจของอินเดียเองที่ต้องการผลักดันการผลิตและการบริโภคภายในประเทศให้สามารถพยุงเศรษฐกิจในช่วงผลกระทบของ COVID-19 (โควิด-19) นายกรัฐมนตรีโมดีจึงได้ประกาศนโยบาย Atmanirbhar Bharat (‘อัตมานิรภาร์ ภารัต’ หรือ อินเดียที่พึ่งพาตนเอง) เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อกระตุ้นให้ภาครัฐและเอกชนเร่งพัฒนาการผลิตและใช้สินค้าของอินเดียให้มากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ
สินค้าที่เคยนำเข้าจากจีน
ที่ผ่านมาอินเดียต้องนำเข้าวัตถุดิบขั้นกลางของสินค้าจำเป็น อาทิ สารประกอบในการผลิตยาซึ่ง 70% เป็นการนำเข้าจากจีน รวมถึงเวชภัณฑ์ ปุ๋ยและเคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนโทรศัพท์มือถือ ชิ้นส่วนของเครื่องฟอกอากาศและเครื่องทำความเย็น รวมถึงสินค้าที่อินเดียนำมาผลิตเพื่อส่งออกอีกหลายรายการ
สินค้าไทยประเภทใดจะแทนที่จีนได้
ข้อมูลจาก กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ แนะนำว่าสถานการณ์ช่วงนี้ถือเป็นโอกาสของไทยในการเข้าไปเจาะตลาดอินเดียแทนที่จีน โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าของใช้ในบ้านและสำนักงาน อาทิ เครื่องซักผ้า ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ รถยนต์ อุปกรณ์สื่อสาร และอุปกรณ์ผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ตลอดจนที่นอน เครื่องแก้ว เสื้อผ้าและเส้นใย ของเล่นที่ทำจากพลาสติก อุปกรณ์กีฬา นาฬิกาข้อมือและแขวนผนัง แชมพูและครีมนวดผม ลิปสติก แป้งทาหน้าและน้ำหอม ผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์ไม้ และกระดาษ/วัสดุบรรจุภัณฑ์ แต่ไทยก็ยังมีคู่แข่งสำคัญในอาเซียน ไม่ว่าจะเป็น เวียดนาม สิงคโปร์ และมาเลเซีย ซึ่งแม้ว่าไทยเองจะมีข้อได้เปรียบในด้านความประณีตทางด้านฝีมือแรงงานและเทคโนโลยีที่ทันสมัย แต่ยังต้องให้ความสำคัญในเรื่องของคุณภาพและการบริการทั้งก่อนและหลังการซื้อสินค้าด้วย
อุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรก็น่าลงทุน
นอกจากสินค้ารายผลิตภัณฑ์แล้วในแง่ของธุรกิจก็ยังมีช่องว่างให้ประเทศไทยเข้าไปลงทุนทำธุรกิจ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรซึ่งอินเดียมียุทธศาสตร์ที่จะมุ่งสู่การเป็น World Food Factory นักลงทุนต่างชาติ (FDI) จะได้รับการสนับสนุนและอำนวยความสะดวกจากรัฐบาลท้องถิ่น ทั้งนี้ อาจนำสินค้าจากไทยเข้ามาใช้ในการผลิตด้วย รวมถึงธุรกิจบริการด้านอุตสาหกรรมที่จะเข้าไปสนับสนุนการยกระดับอุตสาหกรรมในอินเดียและการร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการสตาร์ทอัพจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ในแต่ละรัฐ
สำหรับเรื่องการค้าระหว่างประเทศในอินเดียยังคงน่าจับตามอง เพราะเป็นอีกหนึ่งโอกาสสำคัญของไทยที่จะขยายตลาดได้เพิ่มมากขึ้นนอกเหนือจาก เครื่องปรับอากาศ, เครื่องจักรกล, รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูป, ตู้เย็น ตู้แช่แข็ง และยางพาราที่มีการส่งออกอยู่แล้ว ผู้ประกอบการควรหาช่องว่างทางการตลาดและติดตามพฤติกรรมผู้บริโภคภายในประเทศอินเดียอย่างใกล้ชิด