“บัตรทอง” อัพเกรด ผู้ป่วยในนอนโรงพยาบาลไม่ต้องกลับไปรับใบส่งตัว พร้อมเพิ่มสิทธิประโยชน์บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค จำนวน 4 รายการ ใหม่จาก สปสช.
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีมติเห็นชอบร่างประกาศ สปสช.เรื่องกำหนดกรณีที่มีเหตุสมควรและอัตราค่าใช้จ่ายที่หน่วยบริการมีสิทธิได้รับ (ฉบับที่…) พ.ศ…เพื่อสนับสนุนนโยบายยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ที่ระบุว่า ต้องไม่มีผู้ป่วยอนาถา ทุกคนเท่าเทียมกันหมด ต้องอยู่ด้วยศักดิ์ศรี ไม่ว่าจะยากดีมีจน
เลขาธิการสปสช.กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2564 สปสช.ได้ยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 4 เรื่อง เช่น ประชาชนที่เจ็บป่วยไปรับบริการกับหมอประจำครอบครัว ในหน่วยบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ ดำเนินการแล้วในเขตพื้นที่เขต 7 ขอนแก่น เขต 8 อุดรธานี เขต 9 นครราชสีมาเขต 10 อุบลราชธานี และเขต 13 กทม. โครงการโรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม ดำเนินการทั่วประเทศ ย้ายหน่วยบริการได้สิทธิทันที ไม่ต้องรอ 15 วันทั่วประเทศ และผู้ป่วยในไม่ต้องกลับไปรับใบส่งตัว นำร่องเขต 9 และเขต 13 กทม.
“จากบริการผู้ป่วยในไม่ต้องกลับไปรับใบส่งตัวที่หน่วยบริการประจำ ซึ่งได้รับการตอบรับจากการนำร่องที่เขต 9 (นครราชสีมา) และเขต 13 (กรุงเทพฯ) เนื่องจากได้เพิ่มความสะดวกให้กับผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยที่ไม่ต้องมีภาระกลับไปขอใบส่งตัวกรณีไปรับการรักษาผู้ป่วยในต่างหน่วยบริการประจำ โดยเขต 9 (นครราชสีมา) มีการดำเนินการจำนวน 82,599 ครั้ง โดยไม่ปรากฏข้อร้องเรียน (ข้อมูล วันที่ 30 เมษายน 2564 / ผลการดำเนินงานการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 6 เดือน ปีงบประมาณ 2564)”
นพ.จเด็จ กล่าวว่า จากข้อมูลดังกล่าว ในปี 2565 สปสช.จะขยายการบริการผู้ป่วยในไม่ต้องกลับไปรับใบส่งตัวทั่วประเทศ เพื่อให้ผู้มีสิทธิเข้ารับบริการผู้ป่วยในทั่วไปทุกรายการ ทั้งกรณีเข้ารับบริการที่หน่วยบริการในเขตหรือข้ามเขต โดยที่ไม่ต้องใช้ใบส่งตัว ที่เป็นความจำเป็นของผู้มีสิทธิในหน่วยบริการอื่นนอกจากหน่วยบริการประจำของตน หรือหน่วยบริการปฐมภูมิในเครือข่ายหน่วยบริการที่เกี่ยวข้อง
เลขาธิการ สปสช.กล่าวว่า บอร์ด สปสช.ได้เห็นชอบประกาศฯฉบับนี้เพื่อรองรับตามมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ที่กำหนดให้บุคคลที่ได้ลงทะเบียนแล้ว ให้ใช้สิทธิรับบริการสาธารณสุขได้จากหน่วยบริการประจำของตน หรือหน่วยบริการปฐมภูมิในเครือข่ายหน่วยบริการที่เกี่ยวข้อง หรือจากหน่วยบริการอื่นที่หน่วยบริการประจำของตน หรือเครือข่ายหน่วยบริการที่เกี่ยวข้องส่งต่อ เว้นแต่กรณีที่มีเหตุสมควร หรือกรณีอุบัติเหตุ หรือกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน ซึ่งการออกประกาศฯนี้ จะทำให้การเข้ารับบริการผู้ป่วยในทั่วไปที่เป็นความจำเป็นของผู้มีสิทธิ ถือเป็นกรณีที่มีเหตุสมควร ในการเข้ารับบริการโดยใช้สิทธิบัตรทองได้
นอกจากนี้ หลังจากการประชุม คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 1 พ.ย. ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบการบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค จำนวน 4 รายการ ได้แก่
1. การคัดกรองธาลัสซีเมียในคู่ของหญิงตั้งครรภ์
2. การคัดกรองซิฟิลิสในคู่ของหญิงตั้งครรภ์
3. การตรวจวัดความดันโลหิตด้วยตนเองที่บ้าน
4. บริการสายด่วนเลิกบุหรี่ ซึ่งการจ่ายชดเชยบริการจะใช้งบประมาณ จำนวน 32,149,500 บาท
โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2565 ยกเว้นบริการสายด่วนเลิกบุหรี่ ให้เริ่มภายหลังจากที่ศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ ได้ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการในระบบบัตรทองแล้ว โดยมอบให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ออกหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข สำหรับสิทธิประโยชน์ใหม่ต่อไป