ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

บุคคลชลประทานประจำเดือน ก.พ.65 สืบสกุล แสนเตปิน วิศวกรชลประทาน ผู้มีใจสืบสานพระราชปณิธาน ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว


บุคคลชลประทานประจำเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นเดือนแห่งความรัก เราจะพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับหนุ่มชลประทานที่เกิดในวันแห่งความรัก (14 กุมภาพันธ์ 2525) “นายสืบสกุล แสนเตปิน” วิศวกรชลประทานชำนาญการ โครงการชลประทานสมุทรปราการ สำนักงานชลประทานที่ 11 ผู้ชายที่มีใจรักในการเป็นข้าราชการรัก ในงานชลประทาน และพร้อมที่จะเดินตามรอยพระยุคลบาทปฎิบัติราชการในการสืบสาน รักษา ต่อยอด โครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ของรัชกาลที่ 9 เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน

ผมฝันจะเป็นข้าราชการ

นายสืบสกุล แสนเตปิน วิศวกรชลประทานชำนาญการ โครงการชลประทานสมุทรปราการ สำนักงานชลประทานที่ 11 เล่าว่า พื้นเพเดิมเกิดที่จังหวัดพิษณุโลก ในครอบครัวฐานะปานกลาง โดยมีคุณพ่อเป็นข้าราชการตำรวจ ส่วนคุณแม่เป็นแม่บ้าน แต่เนื่องด้วยคุณพ่อเป็นตำรวจชีวิตในวัยเรียนของเขาจึงต้องย้ายโรงเรียนตามคุณพ่อที่ต้องไปปฏิบัติราชการในจังหวัดต่างๆ ตั้งแต่เด็ก คือ เรียนชั้นอนุบาลที่ อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร เรียนชั้นประถมศึกษาที่ อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร ก่อนจะย้ายมาศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จนจบมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก

“ปี 2543 หลังจากศึกษาจบมัธยมปลาย ผมก็เดินสายไปสอบเอนทรานซ์ไว้หลายที่ ทั้งคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร สอบพาณิชย์นาวี กรมเจ้าท่า รวมถึงถึงสอบเข้าที่วิทยาลัยการชลประทาน ซึ่งผมก็สอบติดทุกที่นะแต่สุดท้ายเลือกวิทยาลัยการชลประทาน เพราะมีความตั้งใจอยากจะเป็นข้าราชการตามคุณพ่อ ส่วนสาเหตุที่ไม่เลือกเรียนพาณิชย์นาวี เพราะกลัวว่าจะเบื่อกับการอยู่บนเรือเป็นระยะเวลานานๆ” สืบสกุล เล่าถึงช่วงวัยเรียนด้วยอารมณ์ขัน

ออกไปหาประสบการณ์

สืบสกุล เล่าอีกว่า หลังจบการศึกษาจากวิทยาลัยการชลประทานแล้ว แทนที่จะได้เข้าทำงานที่กรมชลประทานตั้งแต่แรกเริ่ม กลับมีบางสิ่งบางอย่างมาดลใจให้เขาเลือกที่จะไม่สอบเข้ารับราชการที่กรมชลประทาน

“ตอนแรกผมอยากเข้ารับราชการ ที่กรมชลประทาน แต่แล้วในช่วงที่ต้องตัดสินใจเหมือนมีความรู้สึกว่าอยากจะออกไปหาประสบการณ์ให้มากๆ ก่อนจะกลับมาพัฒนางานชลประทาน จึงเลือกที่จะไปสอบเข้าและรับราชการที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเริ่มจากองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านบึง กิ่งอำเภอบ้านคา จังหวัดราชบุรี องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก องค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ

สืบสกุลทำงานที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ จนกระทั่งถึงปี 2558 ในวันหนึ่งเขาคิดว่าเวลานี้สมควรแล้วที่จะกลับไปเดินตามความฝันด้วยการเข้ารับราชการในกรมชลประทานที่ฟูมฟักตนเองมาตั้งแต่ครั้งยังเป็นนักศึกษา จึงขอโอนย้ายมากรมชลประทานตำแหน่งวิศวกรชลประทานปฏิบัติการ สังกัดโครงการชลประทานสมุทรปราการ สำนักงานชลประทานที่ 11 ตั้งแต่นั้นมา

นักบรรยาย

เมื่อมีการตั้งคำถามว่ามีผลงานชิ้นใดประทับใจบ้าง ที่จะเล่าให้ผู้อ่านได้รับรู้ สืบสกุลที่ดูจะเป็นผู้ชายที่ซื่อตรงกับความคิดของตนเองตอบว่า “ผลงานที่โดดเด่นของผมไม่มีครับ แต่ถ้าจะให้บรรยายถึงงานที่ผมรักก็คงจะเป็นเมื่อปี 2560 ที่ได้มีโอกาสเข้ามาดูแลงานบริหารจัดการน้ำที่โครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งประเด็นสำคัญอยู่ตรงที่ผมเป็น เด็กสายวิศวะที่สื่อสารไม่เก่ง เงียบขรึม (ทำหน้าเข้ม) แต่ต้องมาปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงการพบปะพี่น้องเกษตรกร ยิ่งในช่วงเดือนตุลาคมที่เป็นช่วงน้ำหลากจะต้องพูดคุยทำความเข้าใจกับเกษตรกรอยู่ตลอด”

จากเดิมที่ไม่มีประสบการณ์ในการสื่อสารและบริหารจัดการน้ำมากนัก ทำให้ต้องพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกด้าน ทั้งเรื่องการจัดทำข้อมูลแผนงานงบประมาณการบริหารจัดการน้ำ รวมถึงฝึกฝนการสื่อสารจนเกิดความชำนาญและแล้วในวันหนึ่งสืบสกุลก็ได้รับโอกาสให้ทำหน้าที่บรรยายเกี่ยวกับพระอัจฉริยภาพของรัชกาลที่ 9 ในด้านการชลประทานแก่หน่วยงานอื่นและประชาชนที่มาเยี่ยมชมโครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

“จากการที่ได้เข้ามารับผิดชอบงานในโครงการพระราชดำริทำให้ผมหล่อหลอมเรื่องราวของในหลวงรัชกาลที่ 9จากการอ่านหนังสือเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มความเข้าใจที่แท้จริงถือเป็นเกียรติมากที่ได้รับโอกาสเป็นผู้บรรยายถึงพระอัจฉริยภาพทางด้านน้ำของท่าน ผมจึงกล้าที่จะพูดว่าท่านเป็นทั้งแรงบันดาลใจและต้นแบบในการทำงานของผม”

สืบสาน รักษา ต่อยอด

สืบสกุล ยังบอกอีกว่า ทุกวันนี้เขามีความสุขมากกับการที่ได้เข้ามาสร้างการมีส่วนร่วมบริหารจัดการน้ำในรูปแบบต่างๆ เช่น การจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทาน การจ้างกลุ่มเกษตรกรเพื่อซ่อมแซมบำรุงรักษาอาคารชลประทานตามข้อเสนอของเกษตรกรผู้ใช้น้ำชลประทาน การจัดอบรมเกษตรกรในพื้นที่ วิเคราะห์ข้อมูล ปัญหา สาเหตุ และพื้นที่ประสบปัญหาด้านน้ำ เป็นต้น

“เมื่อไม่นานมานี้ผมได้ฟอร์มทีมที่มีความพร้อม เพื่อเข้าไปบริหารจัดการน้ำในพื้นที่คุ้งบางกระเจ้าซึ่งถือเป็นเสมือนปอดกลางกรุง และยังเป็นพื้นที่ที่ถูกรุกตัวจากค่าความเค็มจากน้ำทะเล เราจึงต้องวางแผนในทุกมิติ เช่น การพัฒนาแหล่งน้ำในชุมชน การจัดทำพื้นที่เกษตรกรรมสีเขียว เน้นด้านการมีส่วนร่วม รวมถึงบูรณาการเพื่อจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่ ให้ทุกคนเล็งเห็นถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก นับเป็นอีกหนึ่งความภูมิใจของผมที่ได้ทำงานนี้”

ท้ายนี้ สืบสกุล เปิดเผยว่า ในอนาคตเขาอยากเดินหน้าทำงานตามแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้มีพระราชปณิธาน สืบสาน รักษา ต่อยอด โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และแนวพระราชดำริต่างๆ ของรัชกาลที่ 9 อยากพัฒนาโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านการพัฒนาแหล่งน้ำให้เกิดประโยชน์มากที่สุด รวมถึงอยากทำให้กรมชลประทานเป็นที่ยอมรับจากหน่วยงานต่างๆ ในระดับสากล