ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

ทำความเข้าใจกฎหมาย PDPA ให้ถูกต้อง เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล


DSI ย้ำ หลักการของพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 หรือ PDPA คือ ต้องการให้ข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนได้รับการปกป้อง ไม่ให้นำไปใช้ทางที่ไม่ถูกต้อง เพราะเมื่อเวลาที่ประชาชนไปติดต่อธุรกรรมต่างๆ หรือซื้อของผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ทำให้ข้อมูลของผู้ใช้บริการจะถูกร้านค้าเก็บข้อมูลไว้ในระบบคอมพิวเตอร์ ทั้งชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ ประวัติการรักษาพยาบาล

ซึ่งหากจะนำไปใช้หรือเปิดเผย ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของข้อมูลก่อน แต่ถ้านำไปใช้โดยไม่ได้รับคำยินยอมและทำให้เสียหาย สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีได้ตามกฎหมาย โดยโทษอาญาจำคุก 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท แต่ในรายละเอียดก็ว่ากันไป เช่น การโพสต์รูป ถ่ายรูปติดผู้อื่น ถ้าติดโดยไม่มีเจตนา หรือทำให้เสียหาย ก็ไม่มีความผิด เช่นเดียวกับสื่อมวลชนเสนอข่าวเกี่ยวกับบุคคล หรือข้อมูล ถ้าเป็นเรื่องที่เปิดเผยถือว่าไม่มีความผิด แต่ถ้าไปเสนอข้อมูลส่วนตัวที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เช่น พฤติกรรมทางเพศ รสนิยมบางอย่างที่ไม่อยากเปิดเผย หรือข้อมูลสุขภาพ ประวัติการรักษาโรค ถ้าจะเปิดเผยต้องได้รับการยินยอมก่อน ซึ่งเจ้าตัวมีสิทธิจะฟ้องร้องถ้าทำให้ได้รับความเสียหาย

ถ้าข้อมูลสาธารณะ หรือข้อมูลที่เป็นส่วนบุคคล เช่น คำพิพากษาศาลที่เปิดเผยอยู่แล้ว หรือข้อมูลของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช ที่เกี่ยวกับการทุจริต สามารถนำเสนอข่าวได้ เพราะถือเป็นข้อมูลสาธารณะ แต่ต้องระมัดระวัง

เข้าใจให้ถูกต้อง กฎหมาย PDPA “พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562” ที่มีผลบังคับใช้แล้ว เมื่อ 1 มิถุนายน 2565

  1. ถ่ายภาพ หรือคลิปวิดีโอติดภาพของบุคคลอื่นโดยไม่เจตนา หากใช้เพื่อวัตถุประสงค์ส่วนตัว และไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายกับบุคคลที่ถูกถ่าย สามารถทำได้
  2. การโพสต์ภาพหรือคลิปวิดีโอที่ติดภาพของบุคคลอื่นในสื่อสังคมออนไลน์ หากทำเพื่อวัตถุประสงค์ส่วนตัว ไม่แสวงหากำไรทางการค้าและไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย สามารถทำได้
  3. ติดกล้องวงจรปิดภายในบ้าน ไม่จำเป็นต้องมีป้ายแจ้งเตือน หากติดเพื่อป้องกันอาชญากรรมและรักษาความปลอดภัย ทำได้

หมายเหตุ : กฎหมาย PDPA เป็นกฎหมายใหม่ อาจมีการปรับในรายละเอียดเกี่ยวกับข้อปฏิบัติข้างต้น พิจารณาตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเป็นกรณีไป