ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

THAI SME-GP ยอดพุ่ง SME ขึ้นทะเบียนแล้วกว่า 1.32 แสนราย สร้างแต้มต่อเข้าถึงงานภาครัฐ มูลค่ากว่า 1.5 ล้านล้านบาท


สสว. ร่วมกับกรมบัญชีกลาง สร้างระบบ THAI SME-GP หนุนแต้มต่อให้ผู้ประกอบการไทยเข้าถึง งานจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้มากขึ้น ผลตอบรับดีเกินคาด มียอดผู้ประกอบการขึ้นทะเบียนในระบบกว่า 1.32 แสนราย มีข้อมูลสินค้าบริการกว่า 1 ล้านรายการ ตั้งเป้า ปลายปีนี้ มีเอสเอ็มอีที่ขึ้นทะเบียนในระบบรวมกว่า 1.4 แสนราย และสามารถสร้างมูลค่าจากการรับงานจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เป็นมูลค่าสูงถึง 700,000 ล้านบาท โดยจะขยายไปสู่ตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาคเอกชนในอนาคตต่อไป

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า “THAI SME-GP รัฐพร้อมซื้อ SME พร้อมขาย” เป็นมาตรการสำคัญที่กรมบัญชีกลาง ร่วมกับ สสว. ส่งเสริมสนับสนุนให้เอสเอ็มอี เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้ง่าย โดยกำหนดแต้มต่อสำหรับเอสเอ็มอีในการเสนอราคาสูงกว่าผู้ประกอบการทั่วไปได้ไม่เกินร้อยละ 10 ของราคาต่ำสุด และการจัดซื้อจัดจ้างวงเงินไม่เกิน 500,000 บาท โดยให้เลือกจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เป็นลำดับแรก อีกทั้งยังให้สิทธิพิเศษสำหรับเอสเอ็มอี ที่มีสินค้าได้รับการรับรอง Made in Thailand (MiT) สามารถเสนอราคาสูงกว่าราคาต่ำสุดได้ร้อยละ 15 โดยเอสเอ็มอีที่ได้รับสิทธิจะต้องขึ้นทะเบียนในระบบ THAI SME-GP เป็นที่เรียบร้อย มีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์ คือ ภาคการผลิตรายได้รวมต่อปีไม่เกิน 500 ล้านบาท ส่วนภาคการค้าและบริการ รายได้รวมต่อปีไม่เกิน 300 ล้านบาท และผ่านการรับรองความเป็นผู้ประกอบการเพื่อรับสิทธิประโยชน์ตามข้อกำหนด

ผอ.สสว. เผยอีกว่า ผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนในระบบ THAI SME-GP นอกจากจะได้รับแต้มต่อในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ มีมูลค่าการซื้อสินค้าและบริการไม่น้อยกว่า 1.3 ล้านล้านบาทต่อปีแล้ว ยังสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งทาง สสว. ได้ร่วมกับ 8 สถาบันการเงินของภาครัฐและเอกชนให้การสนับสนุนสินเชื่อสำหรับ SME เพื่อการเป็นคู่ค้ากับภาครัฐ นอกจากนี้ยังได้รับโอกาสในการได้รับองค์ความรู้เพื่อต่อยอดธุรกิจให้เติบโตก่อนใคร

 

มาตรการ THAI SME-GP ได้เริ่มดำเนินการเมื่อปลายปี พ.ศ. 2563 เป็นต้นมา จากข้อมูล ณ วันที่ 17 พ.ค. 2565 พบว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการขึ้นทะเบียนรวมทั้งสิ้น 132,178 ราย มีสินค้าและบริการรวม 1,056,788 รายการ ก่อให้เกิดมูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างจากหน่วยงานภาครัฐ ในปี 2564 ที่ผ่านมา รวม 551,365.50 ล้านบาท โดยสินค้าที่ภาครัฐนิยมจัดซื้อจัดจ้างในลำดับต้น ๆ ได้แก่ งานก่อสร้างและปรับภูมิทัศน์ วัสดุก่อสร้าง-อุปกรณ์ไฟฟ้า ยานพาหนะ-พาหนะให้เช่า คอมพิวเตอร์-ซอฟต์แวร์และอุปกรณ์สื่อสาร หนังสือและสื่อการเรียนการสอน เครื่องใช้สำนักงาน เวชภัณฑ์-อุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้น

 

และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ส่งผลให้บางธุรกิจเติบโตและทำมูลค่าในตลาดสูง สสว. มองเห็นในศักยภาพและมุ่งเป้าในการส่งเสริมไปที่กลุ่มนี้ ได้แก่ อุตสาหกรรมการแพทย์ อุตสาหกรรมการบิน และอุตสาหกรรมดิจิทัล ด้วยมาตรการ THAI SME–GP ที่มอบสิทธิพิเศษให้แก่ผู้ประกอบการในระบบได้มีข้อได้เปรียบในการแข่งขันรับงานจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ อีกทั้งยังได้รับสิทธิประโยชน์ในด้านต่าง ๆ มากมาย และคาดว่า ในปลายปี พ.ศ. 2565 นี้ จะมีจำนวนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ลงทะเบียนในระบบ 1.4 แสนราย และมูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐสูงถึง 700,000 ล้านบาท โดยในอนาคตจะขยายไปสู่การจัดซื้อจัดจ้างภาคเอกชนต่อไป

สสว. ยังมุ่งมั่นในภารกิจส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้ รวมถึงช่องทางต่าง ๆ เพื่อให้ SME เข้าถึงบริการและสิทธิประโยชน์ได้มากขึ้น อาทิ แอปพลิเคชัน SME CONNEXT แหล่งรวมข่าวสารและบริการต่าง ๆ ของ สสว. และ Online Market Place เว็บไซต์ www.smeacademy365.com ระบบเรียนรู้ออนไลน์ที่จำเป็นในการพัฒนาธุรกิจ หรือ SME Coach ระบบฐานข้อมูลรวบรวมผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาช่วยเหลือ SME และ เว็บไซต์ www.smeone.info ช่องทางเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับผู้ประกอบการในมิติต่าง ๆ อีกด้วย

ผู้ประกอบการที่สนใจเข้าสู่ระบบ THAI SME-GP รัฐพร้อมซื้อ SME พร้อมขาย เพื่อรับสิทธิประโยชน์ สามารถลงทะเบียนด้วยตนเองได้ที่ www.thaismegp.com หรือติดต่อที่ สสว. Call Center 1301 กด 1