14 ก.ย. 65 กรุงเทพฯ – สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. จัดงาน “คุณวุฒิวิชาชีพ คุณวุฒิของคนทำมาหากิน” และพิธีแสดงเจตนารมณ์ “การเชื่อมโยงข้อมูลและแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการผลิตและพัฒนากําลังคนของประเทศ” ซึ่งเป็นความร่วมมือของ 52 หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ในการเชื่อมโยงฐานข้อมูลกำลังแรงงานกลายเป็นแพลตฟอร์มฐานข้อมูลขนาดใหญ่ร่วมกันเป็นครั้งแรกของประเทศไทย
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การพัฒนาทุนมนุษย์และยกระดับศักยภาพกำลังแรงงานของประเทศไทยในทุกมิติ เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลตามยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของบุคลากรและกำลังแรงงานของประเทศไทยในสาขาอาชีพต่างๆ ให้เป็นแรงงานคุณภาพ มีทักษะและความเชี่ยวชาญในระดับสูงได้การรับรองตามมาตรฐานอาชีพ และได้รับคุณวุฒิวิชาชีพ ซึ่งเป็นคุณวุฒิใหม่ของประเทศไทยที่ให้การรับรองความรู้ ทักษะ และความสามารถ ของกำลังแรงงาน เพื่อให้พี่น้องกำลังแรงงานของประเทศไทยได้พัฒนาตัวเองในช่องทางต่างๆ มีรายได้เพิ่มขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุขอย่างยั่งยืนและได้รับคุณวุฒิที่เทียบเท่าคุณวุฒิทางการศึกษาในระดับต่างๆ ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญที่รัฐบาลจะดำเนินการรองรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมแห่งอนาคตเพื่อการพัฒนาประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้า
รัฐบาลมุ่งพัฒนาคนไทยให้มีทักษะสำหรับการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 เพื่อเป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศและมุ่งพัฒนาคนในทุกมิติตามความเหมาะสมในแต่ละช่วงวัย รวมทั้งให้ความสำคัญกับการสร้างหลักประกันทางสังคมที่เหมาะสมกับประชาชนทุกกลุ่ม กำลังแรงงานของประเทศไทยมีอยู่มากกว่า 38 ล้านคน เป็นผู้มีงานทำ 37.7 ล้านคน ว่างงานอีก 748,268 คน และเป็นแรงงานนอกฤดูอีกราว 2 แสนคน ส่วนผู้ที่ไม่ใช่กำลังแรงงานซึ่งมีทั้งเด็ก คนชรา ผู้ที่อยู่ในวัยเกษียณมีอีกกว่า 18 ล้านคน เหล่านี้เป็นตัวเลขที่รัฐบาลได้หาแนวทางที่ทำให้กำลังคนเหล่านี้ได้มีโอกาสในการเสริมสร้างศักยภาพของตัวเอง ทั้งนี้ภายใต้ความร่วมมือของทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน จะช่วยทำให้กำลังแรงงานเข้มแข็งขึ้น การพัฒนาแพลตฟอร์มต่างๆ ให้ตอบโจทย์การยกระดับสมรรถนะกำลังคนวัยทำงานในอนาคตทั้ง Upskill – Reskill เพื่อทำให้กำลังแรงงานเหล่านั้นมีโอกาสในการเสริมสร้างทักษะและศักยภาพของตัวเองเพื่อใช้ในการประกอบอาชีพแลเพื่อทำให้พวกเขาเหล่านั้นเป็นแรงงานทักษะสูงเป็นที่ต้องการของตลาด ผู้ที่ไม่มีคุณวุฒิทางการศึกษา ก็จะได้รับคุณวุฒิวิชาชีพที่พร้อมให้การรับรองความรู้ ความสามารถ และเมื่อสังคมเกิดการยอมรับคุณวุฒิวิชาชีพ ก็จะเป็นการเพิ่มโอกาสในการจ้างงาน เพิ่มโอกาสในการปรับตำแหน่งหน้าที่ให้สูงขึ้นสามารถเจริญเติบโตก้าวหน้าในอาชีพ ซึ่งในต่างประเทศได้ให้การยอมรับ
ในเรื่องความรู้ ทักษะ ความสามารถ ประสบการณ์ในการทำงานกันมานานแล้ว ประเทศไทยเองก็ต้องสร้างการยอมรับสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้นในประเทศอย่างแพร่หลายและรวดเร็ว
สำหรับคนว่างงาน แรงงานนอกฤดูกาล หรือผู้ที่ไม่ใช่กำลังแรงงาน รัฐบาลก็ได้มีการพัฒนาแพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์การเป็นรัฐบาลดิจิทัล มีธนาคารหน่วยกิตสะสมผลการเรียนรู้ของเหล่านักเรียน นักศึกษาเพื่อการก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงานในอนาคตได้ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานอย่างแท้จริง เพราะนอกจากการศึกษาในห้องเรียนแล้วต้องมีการเรียนรู้ในด้านต่างๆ เช่น ภาษาต่างประเทศ เทคโนโลยีดิจิทัล และการฝึกประสบการณ์ ควบคู่กันไปด้วย ซึ่งการเชื่อมโยงข้อมูลและแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศที่เกิดขึ้นในวันนี้ จะส่งผลให้เกิดการพัฒนากำลังคนของประเทศให้มีโอกาสเรียนรู้ พัฒนาขีดความสามารถในการทำงานที่มีมาตรฐานได้รับการยอมรับจากภาคเอกชนและภาคธุรกิจ ขณะเดียวกันต้องฝากให้ทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและผู้ประกอบการให้การส่งเสริมสนับสนุนให้มีการศึกษาและเรียนรู้ทักษะภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน เป็นต้น ให้กับบุคลากรภายในหน่วยงานของตัวเอง เพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพให้มีความพร้อมรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งการพัฒนาเหล่านี้เป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาคน เพื่อให้ทุกคนในชาติมีภูมิต้านทานต่อความเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเราทุกคนจะพัฒนาไปด้วยกันโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เมื่อทุกคนมีภูมิต้านทานที่แข็งแรง ไม่ว่าจะเกิดวิกฤติหรือภัยคุกคามประเภทไหน ก็จะต่อสู้ฝ่าฟันไปได้และเกิดเป็นความยั่งยืนอย่างแท้จริง
ด้านนายสุรพล พลอยสุข ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ กล่าวถึง การดำเนินงานของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ประจำปี 2565 ว่าสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) เป็นหน่วยงานของรัฐที่ให้การรับรองคนด้วยคุณวุฒิวิชาชีพ ซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนเพื่อเปิดโอกาสให้กำลังแรงงาน ได้เข้าถึงการพัฒนาความรู้ ทักษะ ความสามารถในการประกอบอาชีพ ด้วยการวัดระดับจากมาตรฐานอาชีพ ที่ถูกกำหนดโดยผู้เชี่ยวชาญเจ้าของอาชีพ ครอบคลุมทั้งธุรกิจบริการ การท่องเที่ยว อุตสาหกรรมการผลิต และการเกษตรสมัยใหม่ เพื่อนำไปสู่การรับรองด้วยประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพ ซึ่งมีศักดิ์และสิทธิเทียบเท่าคุณวุฒิทางการศึกษา
ในปี 2565 สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ มีการจัดทำมาตรฐานอาชีพ โดยเจ้าของในอาชีพ ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ ผู้ที่ทำงานอยู่ในอาชีพ สถานศึกษา สมาคม องค์กรอาชีพต่างๆ มาร่วมกันพัฒนา กำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ จัดทำมาตรฐานอาชีพ ซึ่งตรงตามสภาพการทำงาน และตรงตามหลักเกณฑ์การประกอบอาชีพอย่างแท้จริง พร้อมประกาศใช้ในพระราชกิจจานุเบกษา ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 900 อาชีพ โดยเฉพาะปี 2565 มีการจัดทำใหม่ 25 อาชีพ และทบทวนมาตรฐานอาชีพเดิมให้ทันสมัยสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันจำนวน 84 อาชีพ ครอบคลุมทั้งธุรกิจการท่องเที่ยวและบริการ อุตสาหกรรมการผลิต และการเกษตร ซึ่งมาตรฐานอาชีพเหล่านี้เป็น
เกณฑ์บ่งชี้สมรรถนะที่ถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการวัดระดับความรู้ ความสามารถกำลังแรงงานให้ตรงกับสภาพการทำงานในแต่ละอาชีพอย่างแท้จริงผ่านกลไกการทดสอบ หรือประเมินสมรรถนะที่แตกต่างกันไปตามแต่ละสาขาอาชีพ
มาตรฐานอาชีพยังถูกใช้เป็นแนวทางในการให้กำลังแรงงานของประเทศ นำไปพัฒนาความรู้ ความสามารถในการปฏิบัติงานของตัวเอง รวมถึงหน่วยงาน สถานประกอบการ ซึ่งมีหน้าที่พัฒนากำลังแรงงาน ก็นำไปปรับเป็นหลักสูตรการฝึกอบรมและการเรียนการสอนให้ตรงตามกรอบสมรรถนะที่กำหนดได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ช่วยทั้งพัฒนากำลังแรงงานก่อนเข้าสู่ตลาด ช่วยทั้งให้ตลาดที่มีกำลังแรงงานอยู่แล้ว ได้มีกรอบในการพัฒนาคนที่ชัดเจน ตรงตามความต้องการของสถานประกอบการที่แท้จริง
โดยผู้ที่ผ่านการทดสอบสมรรถนะตามมาตรฐานอาชีพที่กำหนด ซึ่งมีการทดสอบ ประเมินตามรายการสมรรถนะในแต่ละสาขาอาชีพมาทำการทดสอบที่แตกต่างกันไป ทั้งสอบข้อเขียนวัดความรู้ วัดทักษะ สอบปฏิบัติจริง ถ้าผ่านก็จะได้รับประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพ ซึ่งมีศักดิ์และสิทธิเทียบเท่ากับคุณวุฒิทางการศึกษา ซึ่งคุณวุฒิวิชาชีพเราเรียกว่าคุณวุฒิของคนทำมาหากินจริงๆ ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพกล่าว
ทั้งนี้ สคช. จับมือ 52 หน่วยงานภาครัฐ-เอกชน เชื่อมฐานข้อมูลกำลังแรงงานเพื่อการพัฒนากำลังของของประเทศด้วยระบบ EWE โดยเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ให้รับผิดชอบในกิจกรรมปฏิรูปประเทศที่ส่งผลต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ (Big Rock) เรื่อง การพัฒนาระบบการบริหารจัดการกำลังคนของประเทศแบบบูรณาการ โดยในกิจกรรมปฏิรูปประเทศฯ ได้มีการพัฒนา E-Workforce Ecosystem Platform ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มอัจฉริยะในการบริหารจัดการข้อมูลด้านกำลังคนและการพัฒนาสมรรถนะเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประเทศไทย ที่เชื่อมโยงข้อมูลของแต่ละหน่วยงานให้เป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ด้านตลาดแรงงานอยู่บนโครงสร้างเดียวกัน โดย E-Workforce Ecosystem Platform ประกอบด้วยระบบ ได้แก่
– ระบบ E-portfolio เป็นการจัดเก็บข้อมูลของบุคคลอย่างเป็นระบบ อาทิ ข้อมูลประวัติการศึกษา การอบรม ประสบการณ์ทำงาน ทักษะที่บุคคลมีไว้ในที่เดียว
– ระบบ Education and Career Guidance Check เป็นการประเมินทักษะ ความรู้ของตนเองว่าต้องพัฒนาอะไรบ้าง (3) ระบบ E-Coupon เป็นระบบสนับสนุนค่าใช้จ่ายสำหรับการ Up-skill Re-skill New-skill หรือต้องการพัฒนาเป็นอาชีพที่ 2 อาชีพที่ 3 โดยตรงไปยังผู้ใช้งาน โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการชำระเงิน ตรวจสอบ ติดตามผลได้ โดยจะอบรมผ่าน Accredited Training Programs ที่ได้รับการรับรอง
– ระบบ Digital Credit Bank หรือ Competency Credit Bank เป็นระบบการสะสมประสบการณ์เพื่อเชื่อมโยงภาคการศึกษา
– ระบบ Job Matching ระหว่างคนหางานและผู้ประกอบการมีประสิทธิภาพ เกิดการจ้างงานทุกระดับอย่างเป็นธรรม ผู้ประกอบการได้แรงงานมีคุณภาพ มีทักษะฝีมือตรงตามความต้องการ จะเห็นได้ว่า E-Workforce Ecosystem Platform เป็นระบบที่ช่วยในการสร้างโปรไฟล์ เพื่อรองรับการเพิ่มทักษะ การมีงานทำ การศึกษาต่อได้ และยังเป็นกลไกในการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong learning) อย่างเป็นรูปธรรม
สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ขอเชิญชวนนักเรียน นักศึกษา พนักงาน ลูกจ้าง ผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ และกำลังแรงงานในสถานประกอบการทุกท่าน เข้าใช้งานแพลตฟอร์ม E-Workforce Ecosystem เพื่อค้นหาข้อมูลด้านกำลังแรงงานของประเทศ และร่วมกันสร้างค่านิยมใหม่ให้สังคมเห็นคุณค่าของประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถ และทักษะในการทำงานหรือประกอบอาชีพ ด้วยประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพ โดยสามารถเข้าไปฝากประวัติผลงานในระบบ EWE ที่เว็บไซต์ https://ewe.go.th ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพกล่าวปิดท้าย