เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2566 สสว. จัดงาน SME Day 2023 “รวมพลังโต” แถลงผลการบูรณาการเพื่อขับเคลื่อน SME ไทย “รวมพลังโต” ณ Dome Sale Gallery อาคาร Pearl Bangkok พร้อมอัปเดตทิศทางเศรษฐกิจและสถานการณ์ SME ครึ่งปีหลัง 2566 แนะแนวทางการปรับตัวของ SME และสนับสนุนมาตรการลดต้นทุนธุรกิจให้ SME ผ่านระบบ BDS และสิทธิประโยชน์ เพื่อพี่น้อง SME
นางสาวเรขา ศรีสมบูรณ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์สถานการณ์และเตือนภัยทางเศรษฐกิจ ได้ให้ข้อมูลอัปเดตทิศทางเศรษฐกิจและสถานการณ์ SME ครึ่งปีหลัง 2566 ว่า จากสถานการณ์เศรษฐกิจช่วงหลังการระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา SME เริ่มฟื้นตัวจากข้อมูลกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น การจ้างงาน เริ่มมีการจ้างงานเทียบเท่าระดับก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ 12.06 ล้านคน ในปี 2562 เป็น 12.83 ล้านคน ในปี 2565 ซึ่งการจ้างงาน SME คิดเป็นสัดส่วน 71% ของการจ้างงานรวมของประเทศ GDP SME ในไตรมาสที่ 1 เติบโต 4.9% สะท้อนถึงการฟื้นตัวของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะจากธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่องซึ่งกลับมาให้บริการและมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาประเทศไทยนับตั้งแต่เดือนมกราคม-เมษายน 2566 อยู่ที่ประมาณ 8.66 ล้านคน เพิ่มขึ้น 995.30% เทียบกับปี 2564 โดยทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยประมาณการไว้ว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะมีจำนวนถึง 25 ล้านคน ซึ่งจะก่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่อง เช่น ที่พัก ร้านอาหาร ขนส่ง ของที่ระลึก นวด สปา เป็นต้น รวมถึง Supply Chain เป็นจำนวนมาก
แต่จากสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ยังมีความผันผวนทั้งปัญหาภาวะเงินเฟ้อ การผลิต การส่งออกที่ยังไม่คลี่คลาย ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก อาจทำให้ช่วงครึ่งปีหลังจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาในประเทศไทยมีจำนวนต่ำกว่าที่คาดการณ์ หรืออาจจะมีการใช้จ่ายลดลงได้ ประกอบกับยังอยู่ระหว่างการจัดตั้งรัฐบาลและหากเกิดความล่าช้าจะส่งผลต่อการใช้งบประมาณของภาครัฐในช่วงรอยต่อระหว่างปีงบประมาณทำให้ไม่สามารถใช้งบประมาณเพื่อการลงทุนหรือโครงการใหม่ที่จะเกิดขึ้นได้
แต่ในวิกฤติยังพอมีโอกาสให้ประเทศไทยโดยเฉพาะจากผลความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และ ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของโลก ทำให้ประเทศไทยสามารถส่งออกสินค้ากลุ่มอาหาร ผัก ผลไม้ทั้งสดและแปรรูปได้ดี และยังเป็นประเทศที่ดึงดูดการลงทุนจากประเทศคู่ขัดแย้งต่าง ๆ ด้วย เช่น การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ไฟฟ้า ดังนั้น ถ้าประเทศไทยสามารถสร้าง Ecosystem ที่เหมาะต่อการประกอบธุรกิจ รวมถึงการพัฒนาทักษะแรงงาน การใช้เทคโนโลยีเพื่อการผลิตได้เพิ่มขึ้นและทันต่อการเปลี่ยนแปลง จะทำให้ผู้ประกอบการ SME ไทย มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจที่กำลังเติบโตสูงได้
ดังนั้น SME ควรเตรียมการรับมือสำหรับเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาความรู้ เทคโนโลยีเพื่อใช้ในการประกอบธุรกิจ การกระจายความเสี่ยงในการทำธุรกิจเพื่อรองรับความผันผวนที่จะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ไม่พึ่งพิงคู่ค้าหรือลูกค้ารายใดหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น
นางสาวลลนา เถกิงรัศมี ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายและแผนส่งเสริม SMEs ให้ข้อมูลว่าความท้าทายของ SME ในการปรับตัวรับมือกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปมีมากมาย แต่ปัจจัยที่ต้องมุ่งเน้นและไม่ควรมองข้ามเพราะอาจส่งผลต่อการอยู่รอดของธุรกิจได้ ก็คือ
1) การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัวแล้ว ดังนั้น ความต้องการสินค้าและบริการที่เข้ามารองรับกลุ่มผู้สูงอายุจึงจะมีมากขึ้น ในขณะที่สินค้าบางอย่างเริ่มมีแนวโน้มความต้องการที่ลดลง เช่นสินค้าเด็ก ส่วนแรงงานซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตสำคัญในธุรกิจก็จะมีจำนวนลดลง ส่งผลให้ค่าแรงสูงขึ้น
2) การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ผู้ซื้อให้ความสำคัญกับสินค้าและบริการที่ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เป็นโอกาสทางธุรกิจให้กับ SME ที่ปรับผลิตภัณฑ์หรือบริการให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กลับกัน ในธุรกิจที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมก็จะเป็นอุปสรรคสำคัญทั้งการขายสินค้าสู่ผู้บริโภค การทำการตลาด หรือการเป็นซัพพลายเออร์สินค้าในห่วงโซ่อุปทานให้กับผู้ประกอบการรายใหญ่ เนื่องจากทุกธุรกิจต้องปฏิบัติตามมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม
3) เศรษฐกิจดิจิทัลที่มาถึงอย่างรวดเร็ว ทำให้หลายอุตสาหกรรมปรับตัวไม่ทัน บุคลากรของ SME ยังไม่มีทักษะขาดความเชี่ยวชาญในการพัฒนาและใช้งานโปรแกรมและแพล็ตฟอร์มดิจิทัล ทำให้สูญเสียโอกาสในการลดต้นทุนและเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ และ
4) ความไม่แน่นอนของสถานการณ์โลก ความไม่แน่นอนต่าง ๆ ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจไทย ทั้งเรื่องต้นทุนพลังงาน ภาวะเงินเฟ้อ การชะงักตัวของห่วงโซ่อุปทานโลก การขาดแคลนแรงงาน และมีอีกมากที่เกิดขึ้น และมีผลต่อ SME
ดังนั้น แนวทางการปรับตัวที่สำคัญสำหรับ SME ก็คือ
- 1) การสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าและบริการยังคงเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจ การพัฒนานวัตกรรม การมีทรัพย์สินทางปัญญาเป็นเครื่องมือที่ยังสำคัญอยู่
- 2) การสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าในเรื่องคุณภาพของสินค้า และการให้บริการ รวมทั้งสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยในด้านต่างๆ เป็นสิ่งที่จะสำคัญมากขึ้นในอนาคต SME ต้องเรียนรู้การยกระดับคุณภาพและมาตรฐานต่างๆ ให้มากขึ้น
- 3) การใช้เครื่องมือเทคโนโลยีดิจิทัล การเปลี่ยนแปลงธุรกิจทั้งกระบวนการให้เข้าสู่การใช้ดิจิทัลเป็นเรื่องสำคัญ ช่วยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีข้อมูลที่ใช้กำหนดแผนธุรกิจได้ การใช้ดิจิทัลจะกลายเป็นเรื่องพื้นฐานสำหรับทุกองค์กร
- 4) การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต จากการที่ประเทศต่างๆ มีความเชื่อมโยงกันมากขึ้นทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม เมื่อมีเหตุการณ์หรือวิกฤตการณ์เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบที่ขยายผลไปในระดับโลกได้อย่างรวดเร็ว SME จำเป็นต้องมีแนวทางรองรับความเสี่ยงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น และมีแผนสำรองในการทำธุรกิจ
- 5) การสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน สังคมและผู้บริโภคในยุคปัจจุบันให้ความสำคัญกับการเติบโตที่ยั่งยืน ซึ่งครอบคลุมทั้งเรื่องการดูแลแรงงาน การรักษาอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการมีธรรมาภิบาลในการทำธุรกิจ SME ต้องพยายามปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงาน หรือโมเดลธุรกิจที่มุ่งสู่ ESG และ SDG
นางสาวนิธิวดี สมบูรณ์ ผู้อำนวยการฝ่ายประสานเครือข่ายผู้ให้บริการ SMEs และส่งเสริมนโยบายภาครัฐ ให้ข้อมูลว่า โครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS หรือ SME ปัง! ตังได้คืน เป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการรูปแบบใหม่ของ สสว. ผ่านแพล็ตฟอร์มออนไลน์ bds.sme.go.th โดย สสว. จะรวบรวมบริการต่าง ๆ ที่จำเป็นในการดำเนินธุรกิจจากหน่วยงานภาครัฐ/องค์กรเอกชน ตาม พ.ร.บ. เช่น การขอรับมาตรฐาน การเพิ่มผลิตภาพ การบริหารธุรกิจ การตลาดในประเทศ การตลาดต่างประเทศ เป็นต้น มาให้ผู้ประกอบการได้เลือกบริการที่เหมาะสมกับธุรกิจของตนเอง โดย สสว. จะอุดหนุนค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่งแบบร่วมจ่าย (Co-payment) เป็นสัดส่วนตามขนาดของธุรกิจตามนิยาม SME ของ สสว.
นอกจากนี้ สสว. ได้ให้การอุดหนุนผู้ประกอบการ MSME เพิ่มเติม ในชื่อแคมเปญ “จ่ายหมื่น คืนเก้าพัน” ตั้งแต่วันนี้ – วันที่ 30 กันยายน 2566 ให้แก่ผู้ประกอบการ MSME ทุกขนาด ในสัดส่วน 90% วงเงินไม่เกิน 10,000 บาท สำหรับ MSME 5,000 รายแรก เฉพาะบริการด้านการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการประกอบธุรกิจ เช่น Cloud, AI, ERP, POS และบริการด้านบัญชีการเงิน เช่น ระบบบัญชี การจัดทำบัญชี เป็นต้น และสิทธิ์ที่ได้เป็นสิทธิ์ที่เพิ่มเติมอีก 1 ครั้ง จากปีละ 2 ครั้ง/ราย/ปีงบประมาณ วงเงินสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท/ราย