ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

สคช. เยือนกัมพูชา ร่วมประชุมระดมความคิดเห็นจากผู้ประกอบการกิจการก่อสร้างไทยและผู้ส่งออกแรงงาน เร่งพัฒนาทักษะแรงงานตามมาตรฐานอาชีพ


สคช. เยือนกัมพูชา ร่วมประชุมระดมความคิดเห็นจากผู้ประกอบการกิจการก่อสร้างไทยและผู้ส่งออกแรงงาน เร่งพัฒนาทักษะแรงงานตามมาตรฐานอาชีพ รองรับปัญหาขาดแคลนแรงงาน

  

เมื่อวันที่ วันที่ 7-8 สิงหาคม 2566 สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. นำโดย นางสาวจุลลดา มีจุล รักษาการผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ร่วมกับกระทรวงแรงงานและอาชีวศึกษา ประเทศกัมพูชา สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย และ International Organization for Migration (IOM) สังกัดสหประชาชาติ จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบกิจการก่อสร้างไทย ผู้ส่งออกแรงงานกัมพูชา และบริษัทไทยที่นำเข้าแรงงาน ที่กรุงพนมเปญ กัมพูชา เพื่อหาแนวทางสนับสนุนให้นายจ้างได้คัดเลือกแรงงานที่มีทักษะเหมาะสมกับงานเข้ามาในประเทศไทย และลดภาระการฝึกอบรมหน้างาน แก้ปัญหาอุตสาหกรรมก่อสร้างประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากมีคนไทยเลือกทำงานด้านนี้จำนวนน้อย และจำเป็นต้องพึ่งแรงงานข้ามชาติ

 

 

แนวคิดการพัฒนาแรงงานที่จะเข้ามาทำงานเป็นช่างก่ออิฐให้มีทักษะตามมาตรฐานอาชีพของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ได้รับการสนับสนุนจาก Japan International Labour Foundation (JILAF) และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ในการประชุม กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ได้ช่วยสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับข้อกฎหมาย โดยชี้แจงว่า งานช่างก่ออิฐ อยู่ในบัญชี 3 ซึ่งเป็นงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำโดยมีเงื่อนไข คือ ให้คนต่างด้าวทำงานฝีมือหรือกึ่งฝีมือนั้นได้ก็แต่เฉพาะงานที่มีนายจ้าง

  

 

นางสาวจุลลดา มีจุล รักษาการผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ กล่าวว่า สภาองค์การนายจ้างฯได้จัดประชุมกับนายจ้างและได้สอบถามความต้องการนำเข้าช่างก่ออิฐแล้วในเบื้องต้น โดยนายจ้างยินดีจะนำเข้าแรงงานตามช่องทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และมีความต้องการแรงงานกึ่งฝีมือ เพื่อเพิ่มผลิตภาพ ส่วนกระทรวงแรงงานและอาชีวศึกษา ประเทศกัมพูชา ก็ยินดีที่จะนำมาตรฐานอาชีพของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพไปใช้ฝึกอบรมให้กับแรงงาน สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพจะหารือแนวทางความร่วมมือกับทั้งสองหน่วยงานต่อไป เพื่อให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงโอกาสการพัฒนาทักษะตั้งแต่ประเทศต้นทาง ช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยบรรเทาปัญหาขาดแคลนแรงงาน ตลอดจนสนับสนุนให้นายจ้างชาวไทยได้แรงงานที่มีทักษะเหมาะสมกับงาน