ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

“TakeMe Tour” จับคู่คนท้องถิ่นพาฝรั่งเที่ยว


         

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยตื่นตัว เมื่อ อมรเชษฐ์ จินดาอภิรักษ์ CEO & Co-Founder และ นพพล อนุกูลวิทยา COO/CMO & Co-Founder และ ปัญจมพงศ์ เสริมสวัสดิ์ศรี แห่ง TakeMe Tour (เทคมี ทัวร์) ได้สร้างความต้องการใหม่ขึ้นมาในตลาดนั่นคือ “การท่องเที่ยวกับคนท้องถิ่น หรือ Local Expert” ที่สร้างความพึงพอใจให้กับนักท่องเที่ยว ด้วยการสร้างประสบการณ์ทัวร์รูปแบบใหม่ที่ยากแก่การลอกเลียนแบบ ในช่วง 2 ปีแรก พวกเขาเริ่มต้นธุรกิจภายใต้ชื่อ “พาฉันเที่ยว” โดยเป็นตัวกลางส่งคนไทยที่ต้องการไปเที่ยวต่างประเทศ ให้กับเครือข่ายนักเรียนไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศต่างๆ เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้พาเที่ยวแบบรู้ลึกรู้จริง ซึ่งประสบการณ์แนวนี้หาไม่ได้จากอินเตอร์เน็ตหรือไกด์บุ๊คทั่วไป  

         

ตอนนั้นเราทำธุรกิจกันแบบบ้านๆ นพอยู่เมืองไทยรับลูกค้าทั้งทางโทรศัพท์ Facebook, Chat และอีเมล จากนั้นส่งต่อลูกค้ามาให้ผม เพื่อเชื่อมต่อกับนักเรียนไทยในประเทศต่างๆ ด้วยการประสานงานที่หลายขั้นตอน ขณะที่ลูกค้าก็มีจำนวนมากขึ้น เราจึงเริ่มนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวก ด้วยการสร้างแพลตฟอร์มที่นักท่องเที่ยวและผู้พาเที่ยวสามารถพูดคุยกันได้โดยตรงผ่านเว็บไซต์ของเรา แต่ปัญหาที่เจอในตอนนั้น คือ ลูกค้าคนไทยยังใช้อินเตอร์เน็ตไม่คล่องจึงมักโทรศัพท์เข้ามาสอบถามมากกว่า อีกทั้งความนิยมในการจ่ายเงินผ่านบัตรเครดิตยังน้อยอยู่ เลยกลายเป็นว่าระบบที่พัฒนาขึ้นมาไม่ตอบโจทย์ลูกค้าคนไทยเท่าที่ควร” อมรเชษฐ์ เล่าว่าหลังจากสร้างเว็บไซต์  หลังจากธุรกิจท่องเที่ยวแบบ Outbound ไปได้สวย ผู้บริหารได้คิดพลิกมุมหันกลับมาทำธุรกิจท่องเที่ยวแบบ Inbound รับชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในเมืองไทยเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา อันเป็นที่มาของชื่อTakeMe Tour

                

อมรเชษฐ์ เล่าว่า หากมองเพียงผิวเผินลักษณะการทำธุรกิจคงไม่แตกต่าง แต่ปรากฏว่าเขาต้องกลับมาเริ่มต้นใหม่ เพราะกลุ่มลูกค้าเป็นคนละกลุ่มกัน มีพฤติกรรมที่แตกต่างกัน ถึงอย่างนั้นเขาก็ยังมั่นใจว่าคนพาเที่ยวซึ่งเป็นคนในพื้นที่รอบรู้เรื่องราวการท่องเที่ยวท้องถิ่นเป็นอย่างดี ยังคงเป็นที่ต้องการของตลาด โดยเขายังทำหน้าที่เสมือนเป็น “มาร์เก็ตเพลส” เหมือนเดิม Take me Tour ไม่ใช่บริษัททัวร์ ไม่มีไกด์ และโปรแกรมท่องเที่ยว ดังนั้นจึงต้องชักชวนผู้ที่สนใจให้เข้ามาด้วยการนำเสนอขายทัวร์แบบ 1 Day Trip โดย “คนนำเที่ยว” จะต้องมีคุณสมบัติที่สำคัญคือ ต้องเป็นคนท้องถิ่น สื่อสารภาษาอังกฤษได้ หรือสื่อสารภาษาต่างประเทศอื่นๆ ได้ด้วยก็ยิ่งดี อีกด้านหนึ่งก็ต้องทำมาร์เก็ตติ้งออนไลน์ทั้ง Google, Facebook เพื่อหานักท่องเที่ยวต่างชาติมาซื้อทริปกับ TakeMe Tour รวมทั้งทำ Partnership โดยปัจจุบันมี Dtac เป็นทั้งนักลงทุนและพาร์ทเนอร์หลัก

         

“ถ้ามีเพื่อนต่างชาติมาเราจะพาเพื่อนไปเที่ยวที่ไหน นี่เป็นโจทย์ของเรา เราเชื่อว่า ‘ใครๆ ก็พาเที่ยวได้’ เช่น เดินตลาดสด ทำผัดไทยที่บ้านอาม่า ปิคนิคที่สะพานพระรามแปด นั่งรถไฟไปสระบุรี เรียกว่าเป็นการท่องเที่ยวที่เข้าถึงวิถีชีวิตชุมชน เป็นประสบการณ์ตรงแบบ Local Experience ที่นักท่องเที่ยวจะได้รับ” อมรเชษฐ์อธิบายความแตกต่างของ TakeMe Tour

             แม้ TakeMe Tour จะเป็นธุรกิจคอนเซ็ปต์ใหม่ ในลักษณะ “Sharing Service” ใครมีเวลาว่าง ก็มาพาเพื่อนเที่ยวได้ แต่อมรเชษฐ์ก็ไม่ได้ละเลยเรื่องของ “ความปลอดภัย” และ “คุณภาพ” ในการท่องเที่ยวของไกด์ท้องถิ่น รวมถึงนักท่องเที่ยวที่ซื้อทัวร์ด้วย ส่วนของไกด์ท้องถิ่น เรื่องความปลอดภัย ก่อนนำทริปขึ้นไปขายในระบบ อมรเชษฐ์จะต้องตรวจเช็คอีเมล เบอร์โทรศัพท์ บัตรประชาชน พาสสปอร์ต เช็คบัญชีธนาคาร ประวัติอาชญากรรม ข้อมูลทุกอย่างต้องถูกต้องตรงกัน หากเกิดปัญหาจะต้องตามตัวเจอ ส่วนคุณภาพของทัวร์นี้ดีหรือไม่ ความสนุกสนานในการนำเที่ยว ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของแต่ละบุคคล โดยจะปล่อยให้รีวิวลูกค้าเป็นตัวบอก ซึ่งปัจจุบันนักท่องเที่ยวก็เชื่อรีวิวมากกว่า  

             

เช่นเดียวกับทางฝั่งนักท่องเที่ยว ที่จะต้องจ่ายเงินจองทริปเข้ามาก่อน บริษัทก็จะมีข้อมูลบัตรเครดิตเก็บไว้ กระทั่งจบทริปถึงจะโอนรายได้ให้คนนำเที่ยวภายใน 3-7 วัน ส่วน TakeMe Tour นั้นก็จะมีรายได้จากค่าคอมมิชชั่น 20% ต่อทริป กรณีทริปจบแบบไม่แฮปปี้นัก ไม่ว่าจะเกิดกับฝั่งใดก็ตาม เช่น คนนำเที่ยวพูดภาษาอังกฤษได้ไม่ดี นักท่องเที่ยวยกเลิกโปรแกรมทัวร์ ก็จะมีการคืนเงินเพื่อเยียวยากลับไปให้ “เรามีหน้าที่ดูแลทุกอย่างที่เกิดขึ้นมาในระบบ อย่างการตั้งราคาพาเที่ยว Local Expert จะเป็นคนกำหนดเอง เราจะไม่เข้าไปควบคุมราคา แต่กลไกตลาดเสรีจะทำหน้าที่คัดกรองด้วยตัวของมันเอง เพื่อให้ทุกฝ่าย Win-Win คือ ถ้าตั้งราคาสูงไป ลูกค้าก็ไม่เลือก ตั้งราคาถูกไป ลูกค้าก็จะจองจนล้น”

               อมรเชษฐ์กล่าว ปัจจุบันแพลตฟอร์มของ TakeMe Tour มีคนนำเที่ยวประมาณ 10,000 คน พาเที่ยวได้ 45 จังหวัดทั่วไทย มีโปรแกรมทัวร์ที่มีความ Live พร้อมขายจริง 500 ทริป ซึ่งอาจมีสถานที่ซ้ำบ้าง ซึ่ง นพพล จะแนะนำให้ Local Expert แต่ละราย พยายามสร้างจุดต่างของทัวร์ เพื่อแข่งขันกันที่ “คุณค่า” มากกว่า “ราคา” นพพล อธิบายว่า ธุรกิจนี้เป็นส่วนผสมระหว่างสถานที่เที่ยว คนพาเที่ยว และประสบการณ์ ที่บริษัทสร้างขึ้นมาเพื่อนำเสนอให้กับนักท่องเที่ยว หลังจบทริปจะส่งอีเมลไปสอบถามลูกค้า ซึ่ง 100% ของลูกค้าพึงพอใจกับประสบการณ์ที่ได้รับ ส่วนใหญ่รู้สึกเหมือนได้เพื่อนใหม่เพิ่มขึ้น 1 คน และจะบอกต่อให้เพื่อนคนอื่นๆ ได้ลองมาเที่ยวด้วย แม้จะเป็นบริษัทท่องเที่ยว

         แต่ทั้งคู่มองว่าหัวใจหลักของธุรกิจนี้คือ “เทคโนโลยี” ที่จะช่วยเลือก Local Tour ในระบบที่ตรงกับความต้องการของนักท่องเที่ยวมากที่สุด มานำเสนออย่างถูกที่ ถูกเวลา ในขณะที่ทั้ง 500 ทริปต่างก็มีโอกาสเท่าเทียมในการนำเสนอตัวเอง นภดล กล่าวว่า สิ่งที่ลงทุนมากที่สุดคือ “บุคลากร” คนยิ่งเก่ง ระบบยิ่งฉลาด สำหรับการแข่งขันในโมเดลธุรกิจเดียวกันนั้น คู่แข่งส่วนใหญ่เป็นต่างชาติ ด้วยความที่ธุรกิจอยู่บนออนไลน์ จึงไม่มีกำแพงทางภูมิศาสตร์อีกต่อไป นักลงทุนสามารถอยู่ที่ไหนก็ได้ สามารถเปิดตลาดได้ทั่วทุกที่ รวมทั้งประเทศไทยที่หลายๆ ชาติอยากกระโดดเข้ามาลงทุน เนื่องจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยเติบโตมาก แต่ปัญหาคือ นักธุรกิจชาวต่างชาติไม่ได้พูดจาภาษาเดียวกันกับคนไทย

          TakeMe Tour จึงมีความได้เปรียบอย่างชัดเจน ผู้บริหารวางแผนไว้ว่าในปลายปีนี้ต้องครองตลาดในประเทศไว้ให้ได้ ซึ่งกลุ่มนักท่องเที่ยวที่น่าจะช่วยตลาดท่องเที่ยวไทยได้มากคือ นักท่องเที่ยวจีน ที่พวกเขาพยายามจะเจาะเข้าไป และตั้งใจจะมอบประสบการณ์ให้นักท่องเที่ยวจีนสัมผัสโดยตรงว่าสิ่งใดควรทำ สิ่งใดไม่ควรทำ ส่วนปีหน้าจะเริ่มขยายโมเดลธุรกิจไปยังต่างประเทศต่อไป