ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

AEM Retreat การประชุม รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน…


การเปิดเสรีทางเศรษฐกิจของโลกและของไทยดำเนินไปอย่างต่อเนื่องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ธุรกิจไทยต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัว เตรียมพร้อมสำหรับการเปิดเสรีเพื่อก้าวให้ทันกลไกของเศรษฐกิจโลกที่มีความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา

 

ในขณะที่ประเทศไทยมีความตื่นตัวกับการเตรียมรับกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ ASEAN Economic Community (AEC) ที่กำลังจะดำเนินการเสร็จสิ้นในปี 2558  เพื่อเปิดเสรีการค้าการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน 10 ประเทศ เราก็ต้องมีความเข้าใจด้วยว่า AEC ไม่ใช่เขตการค้าเสรีที่สำคัญเพียงหนึ่งเดียวของไทย เรายังมี FTA กับประเทศอื่นๆ อีก ที่เราจัดทำทั้งจากการที่ไทยเจรจาตรงกับประเทศเหล่านั้นและที่ไทยเจรจากับประเทศเหล่านั้นในฐานะสมาชิกของอาเซียน

 

ประเทศที่เรามี FTA แล้ว นอกเหนือจากกับอาเซียนอื่น 9 ประเทศแล้ว ก็ยังมี จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย และเปรู รวมเป็น 16 ประเทศ นอกจากนี้ ยังมี FTA ที่เจรจาเสร็จสิ้น รอมีผลใช้บังคับคือ ชิลี และที่กำลังเจรจา ได้แก่ สหภาพยุโรป และกลุ่ม Regional Comprehensive Economic Partnership หรือ RCEP ซึ่งเป็นความพยายามจะรวม FTA ที่อาเซียนมีกับ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย ให้เป็นตลาด FTA หนึ่งเดียว ครอบคลุม

ผู้บริโภคกว่า 3,000 ล้านคน นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มเอฟต้า (EFTA) ที่รัฐสภาเห็นชอบให้เปิดเจรจาแล้ว ทั้งนี้ EFTA ประกอบด้วยประเทศยุโรปตะวันตกอื่นที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ ไอซ์แลนด์ ลิกเตนสไตน์ และนอร์เวย์ ถ้ารวมมูลค่าการค้ากับประเทศที่ไทยทำ FTA ด้วย จะคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 56.5% มูลค่าการส่งออกรวมของไทย และถ้ารวมสหภาพยุโรป และ EFTA สัดส่วนจะเพิ่มสูงเป็น 68.3%

 

นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ธุรกิจไทยต้องปรับตัวเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ จึงต้องมีการเตรียมการเพื่อรองรับกับการแข่งขันและใช้ประโยชน์จาก FTA ไม่เพียงแต่กับอาเซียน แต่รวมถึงประเทศที่เรามีการจัดตั้ง FTA อื่นๆ ด้วย

 

“ที่ผ่านมามักมีคำถามว่า ทำไมประเทศไทยต้องไปเปิดเสรีกับประเทศต่างๆ ด้วย เพราะเป็นการเปิดให้ต่างชาติส่งสินค้าบริการเข้ามาแข่งขันกับผู้ผลิตและผู้ให้บริการไทย รวมทั้งเข้ามาเปิดกิจการแข่งขันในไทยด้วย ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าประเทศไทยเราจะหลีกเลี่ยงการเปิดเสรีไม่ได้แน่นอน การเปิดเสรีจะต้องเดินหน้าไป เราต้องยอมรับความเปลี่ยนแปลง และจะอยู่เฉยไม่ได้  ที่สำคัญต้องปรับตัวเพื่อรับกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ครับ”

 

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้หยุดยั้งการเปิดเสรีไม่ได้

โดยธรรมชาติแล้วคนเรามีความต้องการของดี ราคาถูก ถ้าต่างชาติมีของดี ราคาถูก เราก็อยากได้ เพื่อช่วยผู้ผลิตในไทย รัฐอาจตั้งกำแพงภาษี กำหนดภาษีนำเข้าสูง แต่กำแพงภาษีกั้นยากเพราะภาษียิ่งสูงยิ่งจูงใจให้มีการลักลอบนำเข้า ที่สำคัญคือเทคโนโลยี ซึ่งมีแต่จะก้าวรุดหน้าไปไม่หยุดยั้ง และพัฒนาเร็วกว่าที่เราจะตามทัน ดูตัวอย่างใกล้ตัวได้จากโทรศัพท์มือถือ ที่เคยมีขนาดเท่ากับกระเป๋าเอกสาร เดี๋ยวนี้เล็กแค่นิ้วเดียว นำเข้าประเทศมาได้ง่ายๆ ราคาที่เคยแพงลิบลิ่ว ลดมาเหลือในระดับที่ถือกันทั่วไป เรากั้นผู้บริโภคไม่อยู่แน่ แต่ที่พอจะกั้นได้ คือ ผู้ผลิตของเราเองไม่ให้ลักลอบนำชิ้นส่วนเข้ามา เพราะผู้ผลิตมีจำนวนน้อย กระบวนการผลิตตรวจสอบได้ แต่ก็เท่ากับปิดกั้นไม่ให้ผู้ผลิตสินค้าเราเข้าถึงส่วนประกอบที่มีเทคโนโลยีสูง ราคาต่ำ ทำให้ผลผลิตของเรามีประสิทธิภาพการแข่งขันต่ำไปด้วย

 

นอกจากนี้ สินค้าประเภทเทคโนโลยีเป็นที่ต้องการทุกแห่ง ใครที่ผลิตสินค้าและบริการที่มีเทคโนโลยีสูงกว่าย่อมได้เปรียบ แต่ไทยไม่มีพื้นฐานที่จะช่วยให้ผลิตสินค้าและบริการที่มีเทคโนโลยีสูงกว่าคู่แข่ง จะซื้อก็ราคาสูงมาก เจ้าของเทคโนโลยีไม่ค่อยยอมขายง่ายๆ ประเทศกำลังพัฒนาก็แข่งขันกันจูงใจให้ธุรกิจเทคโนโลยีสูงจากประเทศพัฒนาแล้วเข้าไปลงทุน เพื่อดึงดูดเทคโนโลยีเข้ามา เพื่อสร้างงานและเพื่อให้สินค้าและบริการที่ผลิตแข่งขันในตลาดโลกได้

 

เงินทุนต่างชาติจะไปยังประเทศที่มีความมั่นคง และให้ผลตอบแทนดีที่สุด FTA ช่วยเปิดเสรีการลงทุน เพื่อให้ต่างชาติมีความมั่นใจเข้ามาลงทุนมากกว่าไม่มี FTA เพราะเป็นการเปิดให้ลงทุนภายใต้สัญญาระหว่างประเทศ คือ FTA และขยายขนาดตลาดให้น่าลงทุน

 

เศรษฐกิจไทยเล็กเกินกว่าจะหวังพึ่งแค่ตลาดในประเทศ

ไทยเป็นประเทศเล็ก ตลาดของเรามีขนาด 65-70 ล้านคน  การผลิตจำนวนน้อยเพื่อตลาดขนาดเล็กย่อมมีต้นทุนสูงกว่าการผลิตจำนวนมากเพื่อตลาดขนาดใหญ่ FTA ช่วยให้ตลาดมีขนาดใหญ่ขึ้น เพราะมีการลดภาษีการค้าระหว่างประเทศที่ทำ FTA เป็นประโยชน์ต่อทั้งธุรกิจไทยและธุรกิจต่างชาติที่จะขยายออกไปในตลาด FTA ขนาดของตลาด FTA ที่ใหญ่ขึ้น ย่อมทำให้มีโอกาสแสวงหาวัตถุดิบและส่วนประกอบที่มีราคาต่ำ แรงงานที่ราคาถูกขึ้น ซึ่งช่วยให้ต้นทุนการผลิตต่ำ ธุรกิจไทยควรจะต้องพิจารณาออกไปผลิตให้ใกล้ปัจจัยการผลิตด้วย เพื่อให้ต้นทุนต่ำสุด

 

เปิดเสรีเพื่อให้แข่งขันได้

เหตุผลสำคัญอีกข้อที่ทำให้เราหลีกเลี่ยงการเปิดเสรีและ FTA ไม่พ้น ก็คือ ผลกระทบหากประเทศคู่แข่งเข้ามาทำ FTA กับตลาดของเรา ลองคิดดูว่า ขณะนี้ทั้งมาเลเซียและเวียดนามกำลังเจรจาจัดทำ FTA กับสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นตลาดที่เราส่งออกไปปีละกว่า 10% หากเขาเจรจาสำเร็จสินค้าของเขาเข้าสหภาพยุโรปก็จะไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า ในขณะที่สินค้าไทยยังต้องเสียภาษีนำเข้า ไทยก็จะสูญเสียตลาดนี้ไป ไทยจึงต้องเข้าเจรจาทำ FTA กับสหภาพยุโรปด้วย เพื่อรักษาสถานะการแข่งขันของเราไว้

 

เหตุผลทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า เราหลีกเลี่ยงการเปิดเสรีไม่พ้น ประเทศยักษ์ใหญ่อย่างจีนและรัสเซียเคยมีเศรษฐกิจแบบปิดมาก่อน แต่ในที่สุดก็ต้องเปิดเสรีเศรษฐกิจ เริ่มจากการเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกหรือ WTO และเปิดเสรีลดภาษีนำเข้ากับประเทศสมาชิก WTO ซึ่งตอนนี้จีนก้าวไปอีกก้าว โดยการเริ่มเจรจาเปิดเสรีการลงทุนกับสหรัฐอเมริกา

 

หนทางข้างหน้าสำหรับผู้ประกอบการไทยจะเป็นอย่างไรเมื่อประเทศต้องเข้าสู่การเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ ก็ขึ้นอยู่กับว่าผู้ประกอบการไทยมีการเตรียมรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นนี้มากน้อยเพียงใด หลายคนเฝ้ามองว่าในโอกาสเข้าสู่การเปิดเสรีทางเศรษฐกิจจะเป็นเช่นไร คงเป็นช่วงเวลาที่ดีหลายอย่างของประเทศไทย ซึ่งก็คงเป็นความเข้าใจที่ไม่คลาดเคลื่อนนัก แต่ทุกอย่างมีสองหน้าเสมอ ในขณะที่มีโอกาสในการพัฒนาร่วมกันของประชาคมอาเซียน การเริ่มต้นนั้นจำต้องใช้พละกำลังในการลากจูงให้ประเทศเข้าสู่เส้นทางในกระบวนการพัฒนาที่เพียงพอจะรับมือกับการรวมเป็นประชาคมอาเซียนได้