เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา คุณศรีรัตน์ รัษฐปานะ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ได้รับมอบหมาย
จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นหัวหน้าผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมคณะมนตรีประชาคม
เศรษฐกิจอาเซียน (AEC Council) ครั้งที่ 11 และการประชุมเตรียมการของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (Prep-AEM) สำหรับการประชุมผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 24 ณ กรุงเนปิดอร์ ประเทศเมียนมาร์
สาระสำคัญของการประชุมได้กล่าวถึง การดำเนินการไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
(ASEAN Economic Community : AEC) ซึ่งกำลังเร่งดำเนินการเพื่อมุ่งสู่การเป็นประชาคมอาเซียน (ASEAN Community : AC) ในปี 2558 ด้านเศรษฐกิจอาเซียน การดำเนินการตามพิมพ์เขียว
(AEC Blueprint) ซึ่งเป็นแผนงานการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ที่ครอบคลุมการดำเนินงาน
ด้านเศรษฐกิจทุกด้าน เพื่อเป็นแนวทางในภาพรวมสำหรับการดำเนินมาตรการต่างๆ ไปสู่การเป็น
ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนภายในปี 2558 (ค.ศ. 2015) ซึ่งปัจจุบันมีความคืบหน้ามากพอสมควร โดยในปี 2556 สามารถดำเนินการตามมาตรการสำคัญได้ถึงร้อยละ 81.7
ทั้งนี้ อุปสรรคที่ทำให้การดำเนินการบางมาตรการไม่เป็นไปตามแผนฯ ที่สำคัญ ได้แก่ การที่ประเทศ
สมาชิกไม่สามารถลงนามหรือให้สัตยาบันความตกลงและพิธีสารต่างๆ รวมถึงปัญหาในการปรับ
กฎระเบียบและกฎหมายภายในให้เป็นไปตามพันธกรณี โดยที่ประชุมขอให้ทุกประเทศเร่งดำเนิน
มาตรการตามที่ระบุใน AEC Blueprint ให้ทันภายในปี 2558 โดยเฉพาะรายการมาตรการสำคัญ
ซึ่งคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Council) ได้ให้ความเห็นชอบแล้ว
อาเซียนกำลังอยู่ในระหว่างการหารือแนวทางการดำเนินงานต่อไปภายหลังปี 2558 ตามที่ผู้นำอาเซียน
ได้มอบหมาย โดยมีเป้าหมายดำเนินการให้แล้วเสร็จและรายงานผลต่อที่ประชุมผู้นำอาเซียน
ครั้งที่ 27 ในช่วงปลายปี 2558 ในด้านเศรษฐกิจได้มีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อจัดทำวิสัยทัศน์
ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนภายหลังปี 2558 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือ ทั้งนี้ คณะทำงานฯ จะเสนอร่างเอกสารดังกล่าว ต่อที่ประชุมคณะทำงานระดับสูงว่าด้วยการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ
ของอาเซียน ครั้งที่ 26 ในเดือนกรกฎาคม 2557 และที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Ministers : AEM) ในเดือนสิงหาคม 2557 โดยอาจมีการจัดทำ AEC Blueprint ฉบับใหม่เพื่อระบุรายละเอียดมาตรการที่ต้องดำเนินการหลังปี 2558 ต่อไป
การประชุมครั้งนี้ กล่าวถึงการจัดทำความตกลงพันธมิตรทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (regional comprehensive economic partnership : RCEP) โดยที่ประชุมรับทราบความคืบหน้า
การเจรจาจัดทำความตกลง RCEP หรือความตกลงการค้าเสรีระหว่างอาเซียนกับ 6 ประเทศ
(จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์) อย่างไรก็ดี ขณะนี้ประเทศต่างๆ ยังมีท่าทีที่ค่อนข้างแตกต่างกัน โดยที่ประชุมได้เน้นให้ทุกฝ่ายให้ความสำคัญกับการเจรจา RCEP ให้เป็นการเปิดเสรีที่มีมาตรฐานสูง โดยมีอาเซียนเป็นศูนย์กลาง (ASEAN Centrality) เพื่อปูทางสู่การเจรจาเปิดเสรีทางการค้าที่มีมาตรฐานสูงขึ้นในอนาคต และเพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจของอาเซียนเข้ากับเศรษฐกิจโลก (Global Supply Chain)
เนื่องจากสำนักเลขาธิการอาเซียน (ASEAN Secretariat) เป็นกลจักรสำคัญในการขับเคลื่อน
การทำงานของอาเซียน ที่ประชุมเห็นว่าสำนักเลขาธิการอาเซียน จำเป็นต้องมีทรัพยากรและ
โครงสร้างพื้นฐานที่เพียงพอในการทำงาน โดยควรทำงานในเชิงวิเคราะห์เพื่อให้สามารถเสนอ
ข้อคิดเห็นให้สมาชิกอาเซียนพิจารณาได้มากขึ้น และเพื่อให้เกิดความสมดุลและความมีประสิทธิภาพ
ในการทำงาน อาเซียนควรปรับปรุงกลไกการทำงานให้เหมาะสมไปพร้อมกันด้วย