ธุรกิจผลไม้แปรรูปแบรนด์ “ฟรุ๊ตแลนด์” ของคุณประสงค์ เปิดมาได้ 14 ปีแล้ว จากที่เห็นโอกาสผลไม้ไทยเป็นที่ชื่นชอบของตลาดโลก โดยนำเทคโนโลยี“อบนิ่ม” (Soft Dried Fruit) ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ช่วยคงรสชาติและเนื้อสัมผัสของผลไม้ให้คล้ายกับผลสดมากที่สุด โดยสามารถคงความนิ่มไว้ได้อย่างยาวนานถึง 1 ปี
ผลไม้แปรรูปของ สยาม เอ็ม.ซี. มีกว่า 40 ชนิด อาทิ ขิง ทุเรียน สับปะรด แตงโม มะม่วง กล้วย เปลือกส้มโอ ฯลฯ โดยแหล่งที่มาของวัตถุดิบผลไม้มีทั้งนำเข้า รับซื้อตรงจากชาวสวนผลไม้ และแหล่งค้าส่งผลไม้ เมื่อนำมาแปรรูปแล้วสามารถเพิ่มมูลค่าจากวัตถุดิบผลไม้สดตั้งแต่ 1-10 เท่าแล้วแต่ชนิด การจะเลือกชนิดผลไม้มาแปรรูปนั้น ขึ้นอยู่กับความพร้อมของวัตถุดิบ และควบคู่กับดูความต้องการของลูกค้า ถ้าวัตถุดิบพร้อมและลูกค้าต้องการก็จะนำมาสู่วิธีการคิดค้นหาทางแปรรูป จากทีมวิจัยและพัฒนาที่มีความพร้อม รองรับงานบริการสั่งผลิต
เมื่อผลิตสินค้า “ฟรุ๊ตแลนด์” ออกมา คุณประสงค์ ประเดิมลุยธุรกิจด้วยการส่งออกไปประเทศญี่ปุ่น มียอดขายได้ถึง 50 ล้านบาทต่อปี และเติบโตขึ้นตามลำดับ ต่อมาธุรกิจก็เริ่มขยายตลาดในประเทศมากขึ้น จากการได้รับโอกาสให้ผลิตสินค้าส่งขายไปยังร้าน “เซเว่นอีเลฟเว่น” เมื่อปี พ.ศ.2549 ในราคาห่อละ 20 บาท
“ปัจจุบันสินค้าที่ผลิตส่งขายให้กับร้านเซเว่นอีเลฟเว่น เป็นผลไม้แปรรูปรสชาติเปรี้ยวจี๊ด สามารถกินแก้ง่วง มีทั้ง สตรอเบอร์รี่ แครนเบอร์รี่ เชอร์รี่ และแอปเปิ้ลเขียว ซึ่งสินค้าทุกประเภทได้รับผลการตอบรับดีมาก เพราะสินค้ามีความอร่อย และสะอาด สำหรับร้าน เซเว่นอีเลฟเว่น นับว่าเป็นช่องทางการตลาด ที่ช่วยกระตุ้นกำลังการผลิตได้เป็นอย่างดี จากเดิมประมาณ 100 ตันต่อปี ช่วยกระตุ้นยอดการผลิตได้มากถึง 300 ตันต่อปี”
ปัจจุบันมียอดขายประมาณ 300 ล้านบาทต่อปี เติบโตต่อยอดเฉลี่ย 20% ต่อปี ส่งออกกว่า 30 ประเทศทั่วโลก เช่น สหรัฐฯ จีน ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย ญี่ปุ่นคิดเป็นสัดส่วนรายได้ราว 65% คุณประสงค์ คาดว่าในปีหน้า (2558) จะมุ่งเน้นในด้านพัฒนาสินค้าใหม่ออกมาสู่ตลาดเพื่อให้ผู้บริโภคได้ลิ้มลองรสชาติใหม่ไม่จำเจ เช่น สูตรหวานน้อยให้คนเป็นเบาหวานรับประทานได้ ใช้น้ำผลไม้แทนน้ำตาล หรือนำผลไม้ที่รูปทรงไม่สวยงามมาพัฒนาเป็นสินค้าใหม่ในกลุ่มคุกกี้และแครกเกอร์รสผลไม้ แบรนด์ “บางกอก คุกกี้” ช่วยในการใช้วัตถุดิบได้คุ้มค่าที่สุด และเปิดตลาดหาตลาดใหม่ เป็นต้น
นอกจากนี้ คุณประสงค์ ได้เปิดไลน์รับผลิตผลไม้แปรรูปเพื่อขยายตลาดตัวเอง และเพิ่มโอกาสสร้างรายได้ให้กับคนอื่น โดยขั้นตอนแรกจะต้องมีการพูดคุยกับลูกค้าให้ชัดเจนถึง Know How และความต้องการของลูกค้า เมื่อได้ข้อสรุป ทางโรงงานจะมีหน้าที่ผลิตวัตถุดิบตามจำนวนแพ็กเกจจิ้งที่ทางลูกค้าส่งเข้ามายังโรงงานเพื่อเข้าสู่การบรรจุ เพราะทางโรงงานไม่สามารถผลิตแพ็กเกจจิ้งให้กับลูกค้าได้
เนื่องจากรับออเดอร์จากลูกค้าหลากหลายประเทศ ฉะนั้นแพ็กเกจจิ้งของแต่ละประเทศก็จะมีภาษาที่แตกต่างกันไป กำหนดขั้นต่ำอยู่ที่ 1 พาเลท ประมาณ 50 ลัง โดย 1 ลังบรรจุ 24 ห่อ