เมื่อพิจารณาความแตกต่างของแรงงาน แต่ละประเทศมีได้เปรียบด้านการแข่งขันที่แตกต่างกันไป อาทิ กัมพูชา เป็นประเทศที่มีความได้เปรียบด้านค่าจ้างแรงงานที่ต่ำ เวียดนามสามารถสร้างข้อได้เปรียบระหว่างค่าจ้างและผลิตภาพที่พัฒนาขึ้นได้ อินโดนีเซียมีจำนวนแรงงานมากที่สุด ฟิลิปปินส์มีความพร้อมด้านภาษา ส่วนไทยมีความโดดเด่นด้านงานที่ต้องใช้ความแม่นยำ และสิงคโปร์เน้นที่แรงงานคุณภาพสูงและการใช้ทักษะขั้นสูง เป็นต้น
อาเซียนแม้จะเป็นกลุ่มประเทศที่มีศักยภาพด้านแรงงานที่หลากหลาย และมีจำนวนประชากรวัยแรงงานอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าในหลายประเทศกำลังจะประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคธุรกิจ ซึ่งปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่ว่านี้ไม่ได้เกิดจากปัญหาโครงสร้างของประชากรหรือการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ แต่เป็นปัญหาที่เกิดจากความไม่สอดคล้องกันระหว่างแรงงานที่เข้าสู่ตลาดกับความต้องการของตลาด หรือที่เรียกว่า Skill Mismatch นั่นเอง
จากการสำรวจความคิดเห็นของเจ้าของกิจการในภูมิภาคอาเซียนด้านทักษะและขีดความสามารถของแรงงานอาเซียนในแต่ละประเทศว่าเป็นไปตามความต้องการขององค์กรหรือไม่ การสำรวจพบว่ากว่าร้อยละ 50 ของเจ้าของกิจการหรือผู้ว่าจ้างในเมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ กัมพูชา สปป.ลาว และอินโดนีเซีย มีความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า แรงงานที่มีในแต่ละประเทศนั้นไม่สอดคล้องกับความต้องการขององค์กรและจะเป็นอุปสรรคในการเติบโตขององค์กรในอนาคต
ในขณะที่ประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ มีความสอดคล้องกับความต้องการแรงงานที่สูงกว่า โดยปัจจัยหลักๆ มาจากการมีจำนวนแรงงานมากแต่มีทักษะต่ำ (Low Skill) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมียนมาร์ กัมพูชา สปป.ลาว และอินโดนีเซีย ในขณะที่ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไทย มีปัญหาการขาดแคลนทักษะ (Skill Shortage) ซึ่งเกิดจากความต้องการของอุตสาหกรรมเปลี่ยนไป แต่ทักษะของแรงงานไม่ได้พัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน
เมื่อวิเคราะห์ทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาค ประกอบกับการคาดการณ์ลักษณะของงานที่น่าจะเกิดขึ้นในอีก 10 ปีข้างหน้า ความต้องการแรงงานทักษะหรือแรงงานขั้นสูงจะมีจำนวนมากขึ้นตามการพัฒนาของระบบเศรษฐกิจ ข้อมูลของ International Labor Organization และ Asian Development Bank พบว่าในประเทศกัมพูชา สปป.ลาว เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และไทย กำลังประสบปัญหาด้านคุณสมบัติและขีดความสามารถของแรงงาน
เพราะแรงงานกว่าร้อยละ 50 ที่ผลิตออกมามีความสามารถไม่ตรงกับความต้องการของภาคการผลิต โดยเฉพาะกลุ่มงานที่ต้องการทักษะขั้นสูง โดยที่ประเทศอินโดนีเซียจะประสบปัญหาหนักที่สุด คือประมาณร้อยละ 63 ของจำนวนแรงงานนั้นไม่สามารถตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมได้ แม้ประเทศอินโดนีเซียจะได้ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่มีจำนวนแรงงานสูงที่สุดในอาเซียนก็ตาม
แนวโน้มด้าน Skill Mismatch นี้ชี้ให้เห็นความเร่งด่วนในการปรับปรุงระบบการศึกษาและพัฒนาระบบฝึกทักษะด้านอาชีพ เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้เกิดความชะงักของเศรษฐกิจอาเซียนที่กำลังเติบโต การสนับสนุนของภาครัฐ มีส่วนช่วยให้ทิศทางการผลิตแรงงานเป็นไปตามความต้องการของตลาดแรงงาน เช่น สปป.ลาว รัฐบาลจะให้เรียนฟรีในบางสาขาที่ขาดแคลนและจำเป็นมาก เช่น ช่างไม้ ช่างก่อสร้าง ช่างไฟฟ้า
โดยนักศึกษาเหล่านี้นอกจากจะได้รับการยกเว้นค่าเล่าเรียนแล้วยังมีเบี้ยเลี้ยงให้ในระหว่างเรียนอีกด้วย และสำหรับไทยก็กำลังเร่งแก้ปัญหาแรงงานไม่สมดุล โดยตั้งเป้าหมายของการเพิ่มสัดส่วนเรียนสายอาชีวศึกษาต่อสายสามัญ 51 ต่อ 49 ภายในปีการศึกษา 2558
ที่มา : International Labour Organization and Asian Development Bank, ASEAN Community 2015 : Managing Integration for Better Jobs and Shared Prosperity, 2014.