ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยโดยภาพรวม ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2560 พบว่ายังคงมีทิศทางที่เป็นบวกโดยมีนักท่องเที่ยวประมาณ 11.81 ล้านคน และมีรายได้จากการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ ที่ไม่ต่ำกว่า 6.1 แสนล้านบาท (ที่มา: ธ.กสิกรไทย) โดยปัจจัยที่สนับสนุนและยังคงช่วยให้อุตสาหกรรมนี้มีการเติบโต พบว่าส่วนใหญ่นั้นมาจากการรุกประชาสัมพันธ์และนโยบายการส่งเสริมการท่องเที่ยว มาตรการการกระตุ้นการใช้จ่ายต่อผู้บริโภคที่มีมากขึ้น ผู้ประกอบการมีการสร้างความแตกต่างทางธุรกิจและการให้บริการโดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ มีการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการเชื่อมโยงกิจกรรมต่างๆ ซึ่งสามารถช่วยดึงดูดความน่าสนใจและยกระดับการท่องเที่ยวได้อย่างดีเยี่ยม นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ดำเนินธุรกิจในหลาย ๆ ประเภทยังได้หันมาใช้กลยุทธ์การตลาดแบบเจาะกลุ่ม ซึ่งสามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคและนักท่องเที่ยวอย่างเห็นได้ชัดอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสนับสนุนที่กล่าวถึงข้างต้น นอกจากจะเป็นตัวช่วยให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีการเติบโตและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้แล้ว ยังช่วยกระตุ้นและส่งผลดีกับการขยายตัวของอุตสาหกรรมและธุรกิจที่เป็นฐานรองรับและเกี่ยวเนื่องกับกิจกรรมด้านการท่องเที่ยว ดังนี้
- อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม อาหารไทยนับว่าเป็นสินค้าทางการท่องเที่ยวที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างมาก ทั้งอาหารจานด่วน อาหารสำเร็จรูป เครื่องดื่มน้ำผลไม้เพื่อสุขภาพ อาหารเฉพาะกลุ่ม และอาหารที่เป็นของฝาก ทั้งนี้ การมีความหลากหลายและวัตถุดิบที่มีอยู่อย่างไม่จำกัดถือเป็นข้อดีให้ผู้ประกอบการได้หยิบยกความได้เปรียบในส่วนนี้มาใช้ ซึ่งถ้าหากยิ่งพัฒนาและยิ่งสร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น เชื่อว่าในอนาคตอุตสาหกรรมดังกล่าวนี้จะขยับขึ้นมามีความสำคัญเทียบเท่ากับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างแน่นอน
- อุตสาหกรรมชุมชนและโอทอป ผลิตภัณฑ์หรือสินค้าจากวิสาหกิจชุมชน ถือเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างรายได้ให้กับประเทศและอุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยวอยู่ไม่น้อย โดยในปีที่ผ่านมาสามารถสร้างมูลค่าได้กว่า 8.04หมื่นล้านบาท (ที่มา : กรมการพัฒนาชุมชน) โดยสินค้าที่เป็นที่นิยมส่วนใหญ่พบว่าอยู่ในกลุ่มเครื่องประดับ วัตถุดิบท้องถิ่นแปรรูป เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย และสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร สำหรับการสร้างความเข้มแข็งและเชื่อมโยงสินค้าเหล่านี้ให้เข้ากับการท่องเที่ยวผู้ประกอบการจะต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์ มีนวัตกรรม รวมทั้งดีไซน์ใหม่ๆ มากขึ้น
- อุตสาหกรรมดิจิทัลและสตาร์ทอัพ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ผู้ประกอบการหลายรายได้นำเทคโนโลยีใหม่ ๆ และช่องทางออนไลน์มาเป็นส่วนหนึ่งของการทำตลาดถึงกว่าร้อยละ 80 (ที่มา: การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)) อาทิ บริการจองร้านอาหารและที่พัก บริการการขนส่งและนำเที่ยว รวมถึงแอปพลิเคชั่นที่เชื่อมโยงถึงหลายอุตสาหกรรมและธุรกิจหลาย ๆ ประเภท สำหรับในปีที่ผ่านมามูลค่าการประชาสัมพันธ์บนสื่อออนไลน์พบว่ามีมูลค่า สูงถึง 9,150 ล้านบาท (ที่มา : สมาคมโฆษณาดิจิทัล ประเทศไทย) ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่าในอนาคตอันใกล้นี้อุตสาหกรรมประเภทดังกล่าวจะเป็นส่วนสำคัญอันดับหนึ่งในการเข้าถึงกลุ่มตลาดนักท่องเที่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีบทบาทสำคัญที่สุดอย่างแน่นอน
- อุตสาหกรรมสิ่งทอ การท่องเที่ยวและวัฒนธรรมถือว่ามีผลบวกต่อการเข้าสู่ตลาดโลกของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มได้เป็นอย่างดี เนื่องจากผู้บริโภคแฟชั่นและนักท่องเที่ยวล้วนมีการเชื่อมโยงรสนิยมและเอกลักษณ์ของท้องถิ่นเข้ากับสินค้าประเภทต่าง ๆ อย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่อยู่ในภูมิภาคโดยรอบ ประเทศไทยยังนับว่าได้เปรียบในอุตสาหกรรมด้านนี้อยู่สูงมาก เนื่องจากมีแบรนด์สินค้าที่มีเอกลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ที่เด่นชัดมากกว่า รวมทั้งการออกแบบที่หลากหลาย
- อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ในปีที่ผ่านมาการผลิตเครื่องประดับและอัญมณีของไทยมีมูลค่ากว่า 480,000 ล้านบาท (ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) และถือว่ายังคงได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวในปริมาณที่สูงทั้งในกลุ่มเครื่องประดับเทียม ทองรูปพรรณ เครื่องประดับที่ทำจากเงินและสินค้าประดับเพชรพลอย โดยสินค้าเหล่านี้สามารถพบได้ตามแหล่งท่องเที่ยว อาทิ กาญจนบุรี จันทบุรี ศรีสะเกษ อุบลราชธานี แพร่ เพชรบูรณ์ และสุโขทัย ทั้งยังพบได้ตามช่องทางการค้าต่าง ๆ ทั้งที่เป็นแหล่งของฝากและระดับโมเดิร์นเทรด
อย่างไรก็ดี ในช่วงไตรมาสที่ 2 กสอ. มีความเชื่อมั่นว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะยังคงมีทิศทางที่สดใส ซึ่งขณะนี้เริ่มมีสัญญาณบวกของนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะตลาดนักท่องเที่ยวจีน และกลุ่มตะวันตกที่มีการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวมากขึ้น โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนทั้งจากเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งปีนี้คึกคักกว่าปีที่ผ่านมาเล็กน้อย คาดการณ์ว่าจะมีเงินสะพัด 127,693 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 2.53เนื่องจากประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนมีนาคมอยู่ที่ระดับ 76.8 ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ซึ่งสูงที่สุด ในรอบ 24 เดือน (ที่มา : หอการค้าไทย) นอกจากนี้ ยังมีการสร้างแพ็คเกจต่าง ๆ การทำตลาดและการโฆษณาที่แปลกใหม่ โดยกสอ. ได้จัดทำกิจกรรม ภายใต้แนวคิด “ไทย..เที่ยว..เท่” ที่ได้ผลักดันให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสเสน่ห์วิถีชุมชนจาก 9 หมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ หรือ Creative Industry Village (CIV) ซึ่งประกอบไปด้วย 1.ชุมชนออนใต้ จ.เชียงใหม่ 2.ชุมชนน้ำเกี๋ยน จ.น่าน 3.ชุมชนบ้านนาต้นจั่น จ.สุโขทัย 4.ชุมชนเกาะเกร็ด จ.นนทบุรี 5.ชุมชนบ้านศาลาดิน จ.นครปฐม 6.ชุมชนปากน้ำประแส จ.ระยอง 7.ชุมชนบ้านเชียง จ.อุดรธานี 8.ชุมชนบ้านนาตีน จ.กระบี่ และ 9.ชุมชนเกาะยอ จ.สงขลา เพื่อเป็นทางเลือกการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับบริการและกิจกรรมที่จะสร้างประสบการณ์แบบที่ไม่เคยมีในเมืองไทย ทั้งยังจะได้เรียนรู้ วิถีชีวิต การเลือกชมและซื้อสินค้ารูปแบบใหม่ ๆ ที่ได้พัฒนาจากความคิดสร้างสรรค์
สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทรศัพท์ 0 2202 4414-17 หรือ เข้าไปที่ http://www.dip.go.th หรือ www.facebook.com/dip.pr