ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

รัฐทุ่ม 2 พันล้าน! สร้าง “ฟิวเจอเรียม” ปั้นแรงงานอนาคต


  อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า  ศูนย์นวัตกรรมแห่งอนาคตหรือ “ฟิวเจอเรียม” (Futurium) ภายใต้งบประมาณ 2,076.37 ล้านบาท เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม ตลอดจน ทดสอบและพัฒนาทักษะอาชีพ เพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่เยาวชน นักเรียน นักศึกษาที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน ให้เหมาะกับอุตสาหกรรมที่จำเป็นของไทย และกำลังขาดแคลนในยุคปัจจุบันและอนาคต ใน 27 อาชีพ ได้แก่

       

นักวางแผนระบบการจราจร วิศวกรเครื่องกล นักออกแบบอุตสาหกรรม นักพัฒนาซอฟต์แวร์ วิศวกรหุ่นยนต์ นักควบคุมหุ่นยนต์ นักวิเคราะห์สภาพภูมิอากาศ นักวาง แผนการจัดการภัยพิบัติ เวชกิจฉุกเฉิน นักธรณีวิทยาปิโตรเลียม วิศวกรพลังงาน วิศวกรพลังงานแสงอาทิตย์ นักพัฒนาพันธุ์พืช วิศวกรรมพันธุกรรม วิศวกรการเกษตรอัจฉริยะ นักวิศวกรรมชีวการแพทย์ นักวิทยาศาสตร์คิดค้นยา นักวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง นักวิทยาศาสตร์ด้านอาหาร พ่อครัวอาหารเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นักออกแบบบรรจุภัณฑ์อาหาร นักออกแบบ 3 มิติ นักหัตถกรรมงานโลหะ นักแกะสลักไม้ วิศวกรการบินและอวกาศ ช่างเทคนิคการส่งข้อมูลข่าวสารและนักบิน

       ทั้งนี้ ในศูนย์ฯ ดังกล่าวจะมีห้องทดลองปฏิบัติอาชีพ โดยจะมีผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำและทดสอบ เพื่อให้ทดสอบและได้รู้ว่าตนเหมาะสมกับอาชีพใด และจะเตรียมตัวอย่างไรเพื่อเดินไปตามความฝันของตน หรือเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่กับการเลือกเส้นทางอาชีพ รมว.วิทยาศาสตร์ฯ กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน ในศูนย์นวัตกรรมแห่งอนาคต หรือฟิวเจอเรียม ยังจะเป็นที่พัฒนาศักยภาพกำลังคนในอีก 8 อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรม ประกอบด้วยการคมนาคมและการขนส่ง หุ่นยนต์-ระบบอัตโนมัติ จัดการภัยพิบัติ พลังงานทางเลือก การเกษตรอัจฉริยะ เทคโนโลยีชีวภาพ/นาโนเทคโนโลยี อวกาศและการบินและนวัตกรรมไทย เพื่อเมืองไทยที่ดีขึ้น รวมทั้งพัฒนากำลังคนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น การประดิษฐ์รถไฟฟ้าหรือเครื่องมือแขนกลต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ การคำนวณ ภาษาอังกฤษ และเทคโนโลยีมาผสมผสานกัน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเตรียมกำลังคนของอนาคตประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และนำไทยก้าวพ้นกับดับประเทศรายได้ปานกลาง ศูนย์นวัตกรรมแห่งอนาคต หรือฟิวเจอเรียม จะสร้างขึ้นบนพื้นที่ 51 ไร่ ในองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2564 โดยศูนย์ฯแห่งนี้ นับเป็นครั้งแรกของไทยที่มีศูนย์ลักษณะดังกล่าว