ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

เจาะ 3 กลยุทธ์ “ธุรกิจรับสร้างบ้าน”


             

ทั้งนี้ การสร้างบ้านเองในกรุงเทพฯ และปริมณฑล นั้นมีจำนวนประมาณ 2 หมื่นหลังต่อปี คิดเป็นมูลค่าราว 4.4 หมื่นล้านบาท ในปี 2016 โดยเป็นส่วนแบ่งตลาดของ “ธุรกิจรับสร้างบ้านครบวงจร” ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท หรือราว 25% และที่เหลือเป็นส่วนของ “ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างบ้านทั่วไป” Economic Intelligence Center (EIC) คาดว่าตลาดรับสร้างบ้านในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีแนวโน้มที่จะเติบโตได้ในอนาคต จากปัจจัยสนับสนุนต่างๆ ได้แก่ ที่ดินว่างเปล่าในกรุงเทพฯ ที่ยังเหลืออยู่อีกมาก โดยเฉพาะใน 10 เขตพื้นที่ที่อยู่อาศัยหลัก ซึ่งมีศักยภาพในการสร้างบ้านเองได้ในอนาคต ได้แก่ สะพานสูง มีนบุรี บึงกุ่ม ประเวศ บางเขน สวนหลวง คลองสามวา ลาดพร้าว ดอนเมือง และหลักสี่ และการใช้จ่ายเพื่อรีโนเวทบ้านที่คาดว่าจะขยายตามจำนวนบ้านที่มีอายุเกินกว่า 30 ปี ซึ่งจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นถึง 3.1 แสนหลัง ในระหว่างปี 2018-2021 นอกจากตลาดรับสร้างบ้านในกรุงเทพฯ และปริมณฑลแล้ว ผู้ประกอบการควรพิจารณาการขยายธุรกิจไปยังตลาดต่างจังหวัด โดยเฉพาะ หัวเมืองใหญ่ เช่น อุบลราชธานี สระบุรี นครศรีธรรมราช พระนครศรีอยุธยา และประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมีความต้องการที่จะสร้างบ้านเอง สะท้อนจากตัวเลขการขอใบอนุญาตก่อสร้างบ้านเดี่ยวรวมกันที่ขยายตัวต่อเนื่อง 3%CAGR ใน 5 ปีหลังสุด มาอยู่ที่ 1.5 ล้านตารางเมตร ในปี 2016 หรือคิดเป็น 8% ของทั้งประเทศ

          

อย่างไรก็ตาม การเข้ามาของผู้เล่นรายใหม่ รวมถึงปัญหาการแย่งชิงแรงงานจะส่งผลให้การแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการรุนแรงขึ้น นอกจากธุรกิจรับสร้างบ้านครบวงจรจะต้องแข่งขันกันเองและแข่งขันกับผู้รับเหมาก่อสร้างบ้านทั่วไปที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 3,000 ราย แล้ว ธุรกิจดังกล่าวยังต้องแข่งขันกับผู้เล่นรายใหม่จากอุตสาหกรรมอื่น เช่น SCG ที่อยู่ในอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง อีไอซีแนะธุรกิจรับสร้างบ้านครบวงจร ควรกำหนดกลยุทธ์จากความต้องการของผู้บริโภค (customer centric) ประกอบด้วย “ความน่าเชื่อถือและคุณภาพงาน” “จำนวนแบบบ้าน” และ “บริการหลังการขาย” ซึ่งเป็น 3 ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกบริษัทรับสร้างบ้านมากที่สุด คือ

1) สร้างความน่าเชื่อถือ พร้อมนำเสนอคุณภาพของงานก่อสร้างด้วยการรายงานความคืบหน้าผ่านช่องทางออนไลน์ ทั้งนี้ บริษัท Marshall Home Builders ซึ่งเป็นบริษัทรับสร้างบ้านในสหรัฐฯ เป็นตัวอย่างความสำเร็จของการใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการสื่อสารและรายงานความคืบหน้าของการก่อสร้างผ่านช่องทาง Facebook, YouTube และ Twitter เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือแก่ผู้บริโภค โดย การดำเนินการดังกล่าวส่งผลให้ยอดขายบ้านของบริษัทนั้นขยายตัวขึ้นมากจาก 16 หลัง ในปี 2007 เป็น 100 หลังในปี 2009 หรือเติบโตกว่า 150%CAGR ภายในระยะเวลาเพียง 2 ปี   

  2) เพิ่มแบบบ้านรองรับความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภค จากการรวบรวมแบบบ้านของผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน (Home Builder Association, HBA) พบว่าธุรกิจรับสร้างบ้านครบวงจรมีแนวโน้มที่จะมีรายได้เพิ่มขึ้น 2-3 ล้านบาทต่อปี เมื่อมีแบบบ้านเพิ่มขึ้น 1 ชิ้น นอกจากนี้ บริษัทรับสร้างบ้านครบวงจรควรมองหาความต้องการเฉพาะของผู้บริโภค (niche market) เพื่อนำมาใช้ในการออกแบบ เช่น บ้านประหยัดพลังงาน และบ้านผู้สูงอายุ เป็นต้น

  3) สื่อสารให้ผู้บริโภครับรู้ถึงการรับประกัน รวมถึงการบริการหลังการขายที่บริษัทรับสร้างบ้านครบวงจรมีเหนือกว่าผู้รับเหมาก่อสร้างบ้านทั่วไป เพื่อลบข้อสงสัยด้านราคาการก่อสร้างที่สูงกว่าผู้รับเหมาก่อสร้างบ้านทั่วไปอยู่ราว 10-20%นอกจากนี้ ควรพิจารณาถึงการใช้เทคโนโลยีในการก่อสร้างเพื่อลดค่าใช้จ่าย แม้การปรับลดราคาในการสร้างบ้านจะเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้ธุรกิจสามารถแข่งขันในตลาดได้ แต่ในระยะยาวอาจทำให้ธุรกิจมีกำไรน้อยลงและสูญเสียภาพลักษณ์รวมถึงความเชื่อใจจากผู้บริโภค ผู้ประกอบการธุรกิจรับสร้างบ้านจึงควรเลือกแนวทางที่สามารถเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว