คุณมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ( ธพว. หรือSME Development Bank) เผยว่าภาพรวมสินเชื่อของธนาคาร ในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ นับถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมา พบว่า มีมูลค่ากว่า15,000 ล้านบาท จำนวนประมาณ12,000 ราย โดย จ.สงขลา มียอดสินเชื่อสูงสุดกว่า 2,800 ล้านบาท
ทั้งนี้ ยอดอนุมัติส่วนใหญ่อยู่ในระดับ 1 – 5 ล้านบาทต่อราย จำนวนประมาณ 4,900 รายบัญชี สะท้อนให้เห็นว่า ส่วนมากการอนุมัติสินเชื่อของธนาคาร สนับสนุนไปยังกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย ตรงตามพันธกิจของธนาคาร ที่มุ่งสร้างโอกาสผู้ประกอบการขนาดเล็กที่ยากจะเข้าถึงบริการของธนาคารพาณิชย์ให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนในระบบได้ ในส่วนพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ประกอบด้วยปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ยอดอนุมัติสินเชื่ออยู่ที่ประมาณ 2,100 ล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 15% จากยอดอนุมัติรวมของ 14 จังหวัดภาคใต้
ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น่าพอใจ เนื่องจากธพว.มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่สอดคล้องกับผู้ประกอบการในพื้นที่และล้วนคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำพิเศษ เช่น โครงการสินเชื่อ SMEs Transformation Loan วงเงิน 15,000 ล้านบาท กู้ได้รายละไม่เกิน 15 ล้านบาทระยะเวลากู้ยืมไม่เกิน 7 ปี ปลอดชำระคืนเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 12 เดือนอัตราดอกเบี้ยต่ำ 3% คงที่ 3 ปีแรกปีที่ 4-7 อัตราดอกเบี้ย MLR ต่อปีนอกจากนี้กรณีกู้ไม่เกิน 5 ล้านบาท สามารถใช้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ช่วยค้ำประกันได้โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์
โครงการสินเชื่อฟื้นฟู SMEs จากอุทกภัยภาคใต้ปี 2560 วงเงิน 5,000 ล้านบาทอัตราดอกเบี้ยเพียง 3% ในเขตพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบและความเสียหายจากภัยธรรมชาติสามารถใช้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันได้เช่นกันโครงการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบกิจการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ยะลาปัตตานีนราธิวาส) จำนวน 1,000 ล้านบาทช่วยผู้ประกอบกิจการ SMEs
เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนใต้ให้มีเงินทุนหมุนเวียนให้กิจการสามารถดำเนินการต่อไปได้อัตราดอกเบี้ยเพียง 1.5% และกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐวงเงินกองทุน 20,000 ล้านบาทอัตราดอกเบี้ยเพียง 1% ตลอดอายุสัญญาระยะเวลาชำระคืน 7 ปีไม่ต้องผ่อนชำระหนี้ใน 3 ปีแรกไม่ต้องมีหลักประกันให้กู้สูงสุด 10 ล้านบาทต่อรายและ 75% ขึ้นไปจะเป็นวงเงินกู้ไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อราย
อีกทั้ง ธนาคารมุ่งพัฒนาศักยภาพให้แก่ผู้ประกอบการภาคใต้ ให้มีขีดความสามารถทางธุรกิจสูงขึ้น และสอดคล้องกับความชำนาญดั้งเดิม รวมถึง ทรัพยากรธรรมชาติในแต่ละพื้นที่ ผ่านการสนับสนุนเรื่องความรู้ด้านต่างๆ เช่น ด้านยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ หรือเพิ่มมูลค่าของการท่องเที่ยวชุมชน เป็นต้น ส่วนแนวทางการสนับสนุนเอสเอ็มอีในพื้นที่ภาคใต้ รวมถึงพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ ธพว.เดินตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจทั้งหมด
เพิ่มบทบาทเป็นกลไกพัฒนาท้องถิ่นเพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานรากเข้มแข็ง โดย ธพว. จากเดิมที่มีการส่งทีมงานลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการถึงพื้นที่ชุมชนอยู่แล้ว จะขยายภารกิจนี้ให้ครอบคลุมและทั่วถึงมากยิ่งขึ้น รวมถึง นำเทคโนโลยีมาช่วยให้บริการแก่เอสเอ็มอีในท้องถิ่นได้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น ตลอดจนประสานงานกับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจต่างๆ โดยเฉพาะสถาบันการเงินของรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เป็นต้น
เชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกันเป็น “บิ๊กดาต้า” สนับสนุนเอสเอ็มอีในท้องถิ่นเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ขณะเดียวกัน ธพว.จะออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหมาะสมในการสร้างโอกาสและช่วยให้เอสเอ็มอีทั้งกลุ่มสตาร์ทอัพ รายย่อย และชุมชน เข้าถึงแหล่งทุนได้สะดวกอย่างต่อเนื่อง
ผู้ประกอบการที่สนใจ สามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ ธพว.ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือติดต่อ Call Center โทร. 1357 และติดตามข่าวสารของ ธพว. ผ่านช่องทาง facebook.com/SMEDevelopmentBank