ในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว และส่งผลกระทบเป็นวงกว้างไปทั่วโลกทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงในหลายภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม สิ่งนี้เป็นได้ทั้งโอกาสและความท้าท้าย ขึ้นกับว่าผู้ประกอบการเลือกที่จะรู้เรียนและก้าวให้ทันเกม หรือเลือกที่จะนิ่งเฉยไม่ยอมปรับตัวจนต้องออกไปจากเกมธุรกิจ
สิ่งนี้เป็นภารกิจสำคัญที่ “วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์” อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์ซึ่งเพิ่งมารับตำแหน่ง ประธานกรรมการคนใหม่ของสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) หรือ International Institute for Trade and Development (Public Organization) หรือที่รู้จักในนาม “ITD” มองว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนสำหรับไอทีดีที่จะต้องปรับบทบาทการทำงานใหม่ไปสู่ “เชิงรุก” ให้มากขึ้น เพื่อเป็นกำลังเสริมให้ผู้ประกอบการและประชาชนไทยรับมือได้กับการเปลี่ยนแปลงยุคใหม่
แต่เดิมไอทีดีอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ โดยถูกวางบทบาทหลักเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการค้าและการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาสู่ประเทศกำลังพัฒนา แต่เมื่อบริบททางการค้าทั้งในเวทีโลกและระดับภูมิภาคเริ่มเปลี่ยนแปลงไปอย่างเข้มข้นและเกิดการแข่งขันสูง รัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ และโอนหน่วยงานมาอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงพาณิชย์แทน ด้วยเป้าหมายต้องการให้ผู้ประกอบการไทย สามารถนำองค์ความรู้มาต่อยอดประยุกต์ใช้ประโยชน์ได้จริงกับธุรกิจ และผลักดันองค์ความรู้ที่มีไปสู่ผู้กำหนดนโยบาย
วิบูลย์ลักษณ์ กล่าวว่า “ที่ประชุมคณะกรรมการเห็นพ้องกำหนดยุทธศาสตร์และบทบาทใหม่ให้กับไอทีดี เน้นการทำงานเชิงรุกที่รวดเร็วฉับไวมากขึ้น และตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย โดยนำเสนอข้อเสนอแนะเกี่ยวกับทิศทาง แนวโน้มและนโยบายการค้าในยุคเศรษฐกิจใหม่ (New Economy) ที่นวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ซึ่งจะมีปัจจัยใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมายที่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องมีความเข้าใจและตระหนักรู้ อาทิ เทคโนโลยีดิจิทัล ข้อมูล Big Data ต่างๆ”
“ไอทีดีต้องสามารถให้ภาพรวมของทิศทางการค้าและการพัฒนา และตอบข้อข้องใจของผู้ประกอบการเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของโลกได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเทคโนโลยีดิจิทัล โครงสร้างประชากรไทยที่ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้น ปัญหาด้านสภาพแวดล้อม เช่น ฝุ่น PM2.5 หรือความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งล้วนมีผลทำให้บทบาทการค้าปัจจุบันเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง”
“ยุทธศาสตร์ใหม่นี้ถือเป็นความท้าทายของไอทีดีนับจากนี้ เพราะต้องบูรณาการองค์ความรู้ที่มี เพื่อผลักดันให้ไปถึงผู้กำหนดนโยบาย และผู้ประกอบการที่เป็นผู้ปฏิบัติให้สามารถจับต้องได้เป็นรูปธรรม แต่เมื่อพิจารณาถึงจุดแข็งของไอทีดี ซึ่งเป็นสถาบันที่จัดตั้งขึ้นมาจากความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังค์ถัด) ที่มีเครือข่ายสถาบันที่เป็นพันธมิตรมากมาย ตรงนี้สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ ทั้งในเรื่องการลดความซ้ำซ้อนในการทำงาน การลดต้นทุนรวมถึงแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างกัน ประโยชน์ที่จะเกิดกับเศรษฐกิจการค้าและการพัฒนาจะไม่จำกัดวงแค่ประชาชนไทยเท่านั้น แต่ยังขยายวงกว้างไปถึงประเทศต่างๆ ในภูมิภาคด้วยในที่สุด” ประธานกรรมการคนใหม่ของไอทีดี กล่าวทิ้งท้าย