ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

ผ่าโลกออนไลน์ จุดประกาย เอสเอ็มอี ไทย ขายสินค้าต้องให้โลกจำ


จะดีสักเพียงไหน หากสินค้า เอสเอ็มอี ไทยได้วางขายอยู่บนโลกออนไลน์ ซึ่งสินค้าเอสเอ็มอีแต่ละประเภทก็ล้วนมีคุณภาพบางแบรนด์ถึงขั้นส่งออกไปยังต่างประเทศได้ด้วย ซึ่งโจทย์นี้ถือว่าเป็นโจทย์สำคัญที่ทาง สสว.ตั้งเป้าหมายที่จะนำเอาสินค้าของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเหล่านี้ออกสู่ตลาดโลก

จึงเป็นที่มาของการมอบหมายให้ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ดำเนินงานโครงการส่งเสริมและพัฒนาตลาด SME ในเขตภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวม 28 จังหวัด ช่วง 6–7 เดือนที่ผ่านมา พร้อมทั้งเปิดอบรมให้กับผู้ประกอบการ โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ

1) กลุ่มผู้ประกอบการระดับเริ่มต้น ที่ยังไม่มีร้านค้าออนไลน์ การอบรมจะให้ความรู้เบื้องต้นไปจนถึงวิธีการเปิดร้านค้าออนไลน์ ซึ่งมีผู้เข้าอบรมจำนวน 2,450 ราย

2) กลุ่มผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ มีการขายสินค้าในระบบออนไลน์แล้ว การอบรมเป็นการสอนเทคนิคต่างๆ เช่น การใช้เฟซบุ๊กในการโฆษณาให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย สอนการใช้อี-มาร์เก็ตเพลส การเปิดร้านค้าอีคอมเมิร์ซผ่านทางเทพ shop

3) กลุ่มผู้ประกอบการที่มีศักยภาพสูง จะเน้นสอนเปิดเว็บไซต์ที่เป็นอีคอมเมิร์ซ หรือที่เรียกว่า Sale Trade ผู้เข้าอบรมทั้งสองกลุ่มมีจำนวน 1,050 ราย และอีกกลุ่มพิเศษ ประมาณ 30 ราย ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่ชำนาญการด้านการขายออนไลน์ โครงการจะเน้นให้คำปรึกษาแบบตัวต่อตัวหรือให้คำปรึกษาเชิง Grouping”

อาจารย์ยงยุทธ เจริญรัตน์ ที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารวิชาการ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ในฐานะผู้จัดการโครงการส่งเสริมพัฒนาตลาดอิเล็กทรอนิกส์สำหรับ SME ปี 2562 กล่าวถึงแนวทางการนำผู้ประกอบการ SME ไทยสู่ช่องทางตลาดออนไลน์ในช่วงเฟสแรก ที่ดำเนินมาเป็นปีที่ 3 ส่วนความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมนั้น ผู้จัดการโครงการฯ เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการในกลุ่มระดับเริ่มต้น เริ่มมีออเดอร์แรกเข้ามาแล้ว ส่วนผู้ประกอบการที่มีศักยภาพพบว่ามียอดขายเพิ่มขึ้นประมาณ 30-40% บางรายยอดขายอาจจะไม่ได้เพิ่ม แต่สามารถบริหารจัดการนำสินค้าไปสู่กลุ่มเป้าหมายได้ตรงมากขึ้น ถือเป็นความสำเร็จของโครงการเช่นกัน

การจัดอบรม SME Online มีความหลากหลายทั้งประเภทผู้เข้าอบรมและสินค้าที่ต้องจำหน่าย บางครั้งกลายเป็นคำถามให้วิทยากรที่ต้องค้นหาคำตอบ เช่น ผู้ประกอบการวัยเกษียณกับการเริ่มต้นเรียนรู้ตลาดออนไลน์ ครกหิน ไข่เค็ม มะพร้าวแก้ว ขายออนไลน์ได้จริงหรือ?

แต่เมื่อเข้ามารับฟังการสัมมนาในหัวข้อ SME Online Success Case Sharing & Learning ที่ มรภ.สวนสุนันทา จัดให้กับผู้ประกอบการ SME ในพื้นที่จังหวัด ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันทำให้เราได้เห็นว่าความแตกต่างและหลากหลายเหล่านี้สามารถสำเร็จได้ เพียงแค่กล้าลงมือทำ..และต้องทำให้โลกจำ!!

เคสแรก ป้าตา หรือ นางอมราวดี สงวนศักดิ์ เจ้าของผลิตภัณฑ์แชมพูสมุนไพร แบรนด์สิน “อมรา”ป้าตาเริ่มกิจการวัยหลังเกษียณเพราะกลัวเหงา เริ่มจากซื้อเฟรนไชส์ร้านกาแฟด้วยตัวเลข 6 หลักแต่ไม่ประสบความสำเร็จ และเข็ดขยาดต้องบอกกับตัวเองว่าไม่ทำแล้วเรื่องการขาย

แต่วันหนึ่งเกิดอาการเข่าล็อค ขับรถกลับบ้านไม่ได้ บังเอิญสามีได้เรียนวิชาแพทย์ทางเลือกมาจึงค้นตำราหาสูตรยามาเป็น น้ำมันนวดเข่า รักษาจนป้าตาหายเป็นปกติ ต่อมาก็เกิดผมร่วง อีกคราวนี้ป้าตาคว้าตำรามาศึกษาและลงมือทำแชมพูสระผมเอง ปรับปรุงสูตรจากใช้ไม่ได้จนผมที่ร่วงหยุดร่วง และผมใหม่ขึ้นมาสวยงาม และแบ่งขายให้คนรู้จักประเดิมขวดละ 40 บาท ของดีจึงบอกต่อปากต่อปากทำให้ป้าตาต้องผลิตแชมพูสมุนไพรเพิ่ม ทำใช้ทำขายมาเรื่อยๆพร้อมกับน้ำมันนวดเข้าคุณลุง ต่อมาเพิ่มการน้ำยาล้างจาน ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกายและอื่นๆจากสมุนไพรแปรรูปจากในท้องถิ่น พอสินค้ามากขึ้นก็เริ่มสนใจการขายออนไลน์ เพราะป้าตายังเข็ดกับการขายที่ผ่านมา จึงออกมาเรียนรู้การขายออนไลน์

การเข้าร่วมโครงการ SME Online ในครั้งนี้ ป้าตาบอก มีคนถามว่าทำไมให้ไม่ลูกหลานมาเรียนล่ะ ป้าก็บอกว่า “ก็อยากทำเองก็ต้องมาเรียนเอง” ป้าใช้ความพยามในการเรียนรู้กว่า 6 เดือนกว่าจะมี order แรกใน shopee ได้ จนปัจจุบันสามารถขายได้อย่างต่อเนื่องผ่านช่องทางออนไลน์ และมีความสุขกับการออกมาเรียนรู้สิ่งใหม่อย่างไม่รู้จักเบื่อ

เคสต่อมา “ครกหินอ่างศิลา” ใครจะเชื่อว่า ครกหินก็ขายในออนไลน์ได้ เรื่องนี้ จินดาภา แซ่ลี้ เจ้าของธุรกิจลี้ศิลา ผู้ผลิตและจำหน่ายครกอ่างศิลา ของดีขึ้นชื่อของจังหวัดชลบุรี เธอพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าขายได้จริงๆ

“ครอบครัวทำครกหินมาตั้งแต่รุ่นก๋ง รุ่นแม่ เราเป็นรุ่นที่ 3 การขายครกหินปกติก็มีหน้าร้าน ซึ่งจะมีคู่แข่งหลายเจ้า ยอดขายลดลงบางวันก็ขายไม่ได้เลย การชอบเล่นเฟสบุ๊คทำให้เธอผันตัวมาขายครกหินออนไลน์เป็นเจ้าแรกๆ โดยมองข้ามปัญหาเรื่องน้ำหนัก และพยายามหาจุดเด่น จนครกหินอ่างศิลาของเธอกลายเป็นสินค้าหายาก บางใบราคาตกหลักหมื่น เธอขายความเป็นหินอ่างศิลาที่หายากและมีจุดเด่น พร้อมทำใบการันตีคุณสมบัติให้กับลูกค้าที่ชื่นชอบ ขณะเดียวกันก็ให้ความรู้เกี่ยวกับหินอ่างศิลากับลูกค้าเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ทำให้ครกหินอ่างศิลาเธอไม่ธรรมดา จากจุดเริ่มต้นจนถึง
ปัจจุบันที่ได้รับคำแนะนำจากโครงการ SME Online ทั้งวิธีการขายการทำโปรโมชั่น วันนี้ครกอ่างศิลา นามลี้ศิลา ก้าวข้ามมาไกลเป็นได้ทั้งของใช้ ของฝาก และของที่ระลึก ประการสำคัญยอดขายพุ่งนำโด่งหน้าร้านไปไกล พร้อมกับบริการจัดส่งดูแลลูกค้าเป็นอย่างดี และเร็วๆนี้กำลังจะมีสติกเกอร์ไลน์ มาสคอต “ลี้ศิลา”มาตอกย้ำชื่อแบรนด์ รวมทั้งจดทรัพย์สินทางปัญญาในชื่อ ครกหินอ่างศิลาดอทคอม เอาไว้แล้วด้วย

สุดท้าย เอ้กเครป หรือ ไข่กรอบ เจ้าแรกในเมืองไทยของ วรัญญา ธนวรางกูร ภายใต้แบรนด์ My Mellow จากฉะเชิงเทรา ความคิดรุ่นใหม่ทันสมัยตั้งแต่พัฒนาขนมไข่มาเป็นเครป แต่ก็คงประสบปัญหาการขายหน้าร้านเช่นกันจึงหันมาใช้เครื่องมือออนไลน์เพื่อขยายลูกค้าและเพิ่มยอดขาย การขายออนไลน์ช่วงแรกลองผิดลองถูก ยิงโฆษณาไปได้มาแต่ยอดไลค์ ยอดขายไม่เกิด จนมาเจอกับโครงการทำให้เธอได้เรียนรู้กับวิธีการทำโฆษณาที่แตกต่างและตรงกลุ่มเป้าหมายจริงๆ รวมถึงเทคนิคการเขียนโฆษณา การถ่ายภาพจูงใจเพราะบางครั้งสินค้าหลายชนิด ผู้ซื้อกับผู้บริโภคก็ไม่ใช่คนเดียวกัน

“ประเภทสินค้าที่เข้ามาอบรมมีความหลากหลาย บางสินค้าเป็นโอทอป เช่น ครกอ่างศิลา ไข่เค็ม สินค้าทุกประเภทขายผ่านทางออนไลน์ได้ เพียงใช้วิธีการโพสต์ การเขียนเรื่องราว บางประเภทเป็นสินค้าเฉพาะทาง เช่น ชุดเทควันโดมือสอง โครงการจะสอนดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งที่เฉพาะเหมาะกับผู้ประกอบการนำไปประยุกต์ใช้ หรือสินค้านวัตกรรมใหม่ เช่น เครื่องดักยุง ทั้งนี้สินค้าทุกประเภทขายได้ยอดขายดีบนออนไลน์ หากเราต้องใช้วิธีการจัดการที่ถูกต้องและเหมาะสม จะช่วยส่งเสริมผู้ประกอบการ SME ให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ” ผู้จัดการโครงการฯกล่าวทิ้งท้าย

พร้อมกันขอฝากถึงผู้ที่สนใจเปิดตลาดในโลกออนไลน์ ปีหน้าโครงการจะก้าวสู่เฟส 2 หลักสูตรจะมีการปรับเปลี่ยนให้ลงลึกและเข้มข้นมากขึ้น สำหรับผู้ประกอบการ SME ที่สนใจใช้ช่องทางสื่อออนไลน์ในการขยายกิจการ สามารถติดต่อมาได้ที่ สสว.เพื่อขอสมัครเข้าร่วมโครงการในปีหน้าและปีต่อๆ ไป คลิกไปที่ www.sme.go.th ไปที่โครงการ SME Online