คงไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไปกับการทำธุรกรรมธนาคารในยุคดิจิทัล ซึ่งทุกคนสามารถทำรายการ และตรวจสอบธุรกรรมต่างๆ ได้ด้วยตนเอง สะดวกรวดเร็วผ่านโมบายล์ แบงก์กิ้งของผู้ให้บริการ หมดปัญหาตามหาสาขาธนาคาร และช่วยลดเวลาที่ต้องสูญเสียไปเพื่อเดินทางไปทำธุรกรรม การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคสู่สังคมไร้เงินสดดังกล่าว เป็นแนวโน้มที่น่าจับตามอง เนื่องจากจะทำให้การใช้ชีวิตประจำวันของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป
ข้อมูลจาก Hootsuite ผู้ให้บริการระบบจัดการ Social Media และ Marketing Solutions ได้รวบรวมสถิติผู้ใช้งานโมบายล์ แบงก์กิ้งในประเทศ พบว่ามีจำนวนผู้ใช้งานสูงถึง 74% หรือราว 51 ล้านคน และยังคงมีอัตราเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในทางกลับกัน มันก็อาจเป็นช่องทางให้เกิดการโจรกรรมผ่านไซเบอร์ หรือ Cyber Crime เพิ่มขึ้นได้เช่นเดียวกัน โดยกว่า 91% ของการหลอกลวงหรือการโจรกรรมข้อมูลมาจากอีเมล (Email) และ 35% ของผู้ใช้งานโมบายล์ แบงก์กิ้ง ได้รับข้อความ (SMS) จากผู้ไม่ประสงค์ดีที่ต้องการนำข้อมูลไปใช้ในการทุจริต และทำให้เกิดความเสียหายตามมากับทั้งผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการ
ด้านธนาคารผู้ให้บริการ นอกจากจะต้องออกแบบโมบายล์แอปพลิเคชันเพื่อให้ลูกค้าใช้งานได้ง่าย สะดวก และรวดเร็วแล้ว ยังจำเป็นต้องพัฒนาระบบความปลอดภัยเพื่อป้องกันการถูกโจรกรรมข้อมูล รวมถึงมีบริการต่างๆ ที่ช่วยแจ้งเตือนลูกค้าอย่างทันท่วงที ซึ่งปัจจุบันนี้มีฟีเจอร์ต่างๆ ที่ช่วยให้ลูกค้าลดความกังวลในการทำธุรกรรมผ่านโมบายล์ แบงก์กิ้งได้ ไม่ว่าจะเป็น
1.แสดงรายการเรียลไทม์ บนโมบายล์แอปฯ
ฟีเจอร์ที่ช่วยให้ผู้ใช้ สามารถตรวจสอบการทำธุรกรรมต่างๆ บนแอปฯ ของธนาคารได้ทันที รวมถึงมีระบบแจ้งเตือน เมื่อเกิดการทำ โอน – รับ – ใช้จ่าย ผ่านโมบายล์แอปฯ ทำให้ลูกค้าสามารถตรวจสอบรายการที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
2.โอทีพี (One-Time Pin) และโมบายล์ โทเค็น (Mobile Token)
หนึ่งในสเต็ปหลักประกันก่อนทำธุรกรรมทุกครั้ง ที่ผู้ใช้งานจำเป็นต้องใส่รหัสการใช้งานครั้งเดียว หรือ โอทีพี (One-Time Pin) ที่ส่งตรงจากธนาคารเข้าสู่โทรศัพท์ส่วนตัวของผู้ใช้ เพื่อใช้ยืนยันการทำในแต่ละธุรกรรม นอกจากนี้ ในบางธนาคารผู้ใช้งานยังให้บริการยืนยันการทำธุรกรรมด้วย “โมบายล์ โทเค็น” หรือรหัสส่วนตัวที่กำหนดโดยตัวผู้ใช้งานเอง ช่วยเพิ่มขีดความปลอดภัย กรณีการถูกดักโจรกรรมข้อมูลผ่านทาง SMS และสามารถทำรายการต่อได้แม้ว่าจะเดินทางอยู่ในต่างประเทศและไม่ได้เปิดบริการโรมมิ่ง
3.เชื่อมทัชพ้อยน์ รับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภค
แม้จะมีระบบการแจ้งเตือนผ่านแอปฯ ธนาคาร แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ ยังไม่ได้ติดตามข้อมูลดังกล่าวอย่างใกล้ชิด ธนาคารจึงจำเป็นต้องพัฒนา และเชื่อมต่อการแจ้งเตือนธุรกรรม เพื่อให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคได้ในทุกกลุ่ม ตั้งแต่ทางอีเมล สำหรับกลุ่มคนทำงาน ข้อความ SMS ที่เหมาะกับกลุ่มที่ไม่เชี่ยวชาญการใช้เทคโนโลยีมากนัก หรือแม้กระทั่งไลน์ (LINE) แอปพลิเคชัน ที่มีผู้ใช้งานเป็นจำนวนมาก
4.ป้องกันรายการที่น่าสงสัยผ่าน 2-way SMS
2-way SMS เป็นอีกหนึ่งฟีเจอร์เสริมความปลอดภัย ที่นำมาใช้เพื่อความปลอดภัยของการใช้บัตร เมื่อธนาคารพบว่ามีรายการที่น่าสงสัยผ่านบัตรเครดิต หรือบัตรเดบิต ธนาคารจะส่งข้อความไปยังลูกค้าเพื่อตรวจสอบว่าลูกค้าได้ทำรายการดังกล่าวจริงหรือไม่ ในกรณีที่ลูกค้าตอบกลับว่าลูกค้าไม่ได้ทำรายการนั้นๆ ด้วยตนเอง ธนาคารฯ จะทำการอายัติบัตรและติดต่อลูกค้าเพื่อให้คำแนะนำในลำดับต่อไป ซึ่งเป็นการป้องกันรายการทุจริตอื่นๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นอีกหลังจากนั้น
5.ไบโอเมตริกซ์อัจฉริยะ
เทคโนโลยีล่าสุดที่พัฒนาขึ้นสอดรับกับความสามารถของสมาร์ทโฟน ซึ่งบางธนาคารได้นำเอาการพิสูจน์ตัวตนทางชีวภาพ หรือ ไบโอเมตริกซ์ (Biometric Authentication) เช่น การตรวจสอบลายนิ้วมือ และการจดจำใบหน้า เพื่อใช้ในการเข้าล็อกอินสู่แอปฯ และใช้ยืนยันตัวตนก่อนทำธุรกรรม ซึ่งให้ความปลอดภัยที่สูง ยากที่จะถูกลอกเลียน เมื่อเปรียบเทียบกับการใส่รหัสผ่านหรือโอทีพี และยังอำนวยความสะดวกและรวดเร็วกับลูกค้ามากขึ้นด้วย
นายประทีป คามัคค ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายดิจิทัลแบงก์กิ้ง ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย กล่าวว่า ธนาคารได้พัฒนา “ซิตี้ โมบายล์ แอปพลิเคชัน” เพื่อตอบสนองพฤติกรรมการใช้งานลูกค้าธนาคาร และได้นำเอาฟังก์ชันความปลอดภัยทั้งหมดข้างต้น มาเสริมศักยภาพการให้บริการที่สะดวกรวดเร็ว และมีความปลอดภัยสูง โดยจากข้อมูลการใช้ พบว่ามีผู้ใช้งานโมบายล์ แบงก์กิ้ง ของธนาคารซิตี้แบงก์เพิ่มขึ้นกว่า 80% เมื่อเทียบกับปี 2561 อย่างไรก็ดี ทางธนาคารเองมีข้อแนะนำ 5 ขั้น ในกรณีผู้ใช้งานคาดว่ามีแนวโน้มถูกโจรกรรมข้อมูล ได้แก่
1. ปิดการเชื่อมต่อไวไฟ (Wi-Fi) แล้วใช้สัญญาณเครือข่ายโทรศัพท์แทน ในการเข้าสู่โมบายล์ แอปฯ
2. ตรวจสอบรายการใช้จ่ายหรือการทำธุรกรรมล่าสุดทันทีผ่านแอปฯ
3. ระงับการใช้งานบัตรชั่วคราวผ่านแอปฯ ทันทีที่พบรายการที่น่าสงสัย
4. เปลี่ยนรหัสผ่าน และรหัสแอปฯ ใหม่
5. ติดต่อเจ้าหน้าที่ธนาคาร เพื่อแจ้งรายการที่น่าสงสัยทันที
นับว่าเป็น เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาเสริมศักยภาพให้กับการใช้งานโมบายล์ แบงก์กิ้งในยุคสังคมไร้เงินสด และช่วยให้ผู้บริโภคได้รับบริการที่รวดเร็ว ทุกที่ทุกเวลา พร้อมอุ่นใจ ปลอดภัยทุกการใช้งาน สำหรับใครที่ยังไม่เคยได้ลองใช้ สามารถดาวน์โหลดใช้งานได้แล้วกับ “ซิตี้ โมบายล์ แอปพลิเคชัน (Citibank TH)” ทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และ ANDROID