ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

โค้งท้ายปลายปี 62 ยังเปราะบาง จากภาวะเศรษฐกิจ-เลิกจ้างงาน ส่งผลความเชื่อมั่นผู้บริโภค


ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย (KR-ECI) ในเดือนต.ค. 2562 ปรับตัวลดลง จากระดับ 42.3 ในเดือนก.ย. 2562 มาอยู่ที่ระดับ 41.8 จากความกังวลที่เพิ่มขึ้นของครัวเรือนต่อประเด็นเรื่องรายได้และการมีงานทำ ภาระค่าใช้จ่าย เงินออม รวมไปถึงระดับราคาสินค้าและบริการภายในประเทศ

ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทยในช่วงอีก 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) ที่ทำการสำรวจในเดือนต.ค. 2562 ปรับตัวลดลง เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับดัชนีภาวะเศรษฐกิจฯ ในปัจจุบัน จากระดับ 44.4 ในการสำรวจช่วงเดือนก.ย. 2562 มาอยู่ที่ระดับ 43.5 โดยในช่วงระยะ 3 เดือนข้างหน้า (พ.ย. 2562 – ม.ค. 2563) ครัวเรือนไทยมีความกังวลมากขึ้นต่อภาวะการครองชีพของตนเอง ทั้งในมิติของภาระค่าใช้จ่าย (ไม่รวมภาระหนี้สิน) เงินออม รวมถึงระดับราคาสินค้าและบริการภายในประเทศ ส่วนหนึ่งเป็นผลของปัจจัยฤดูกาลอย่างช่วงไฮซีซั่นที่จะมีการใช้จ่ายสูงกว่าปกติ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทยในช่วงที่เหลือของปี 2562 ยังมีความเปราะบางอยู่ แม้ภาครัฐจะพยายามออกมาตรการเศรษฐกิจต่างๆ มาเพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพและกระตุ้นการใช้จ่ายของครัวเรือนไทย แต่ยังไม่สามารถชดเชยผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2562 ซึ่งทยอยส่งผ่านผลกระทบมายังกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการจ้างงานในประเทศ อย่างไรก็ดี การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ตามการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. น่าจะมีส่วนช่วยผ่อนเบาภาระหนี้สินของครัวเรือนและต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจได้ในระดับหนึ่ง

ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย (KR-ECI) อยู่ที่ระดับ 41.9 ในเดือนต.ค. 2562 ปรับตัวแย่ลงจากระดับ 42.3 ในเดือนก.ย. 2562 โดยครัวเรือนไทยที่ทำการสำรวจในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด มีความกังวลมากขึ้นต่อประเด็นเรื่องภาระค่าใช้จ่าย (ไม่รวมหนี้สิน) ระดับราคาสินค้าและบริการในประเทศ เงินออม รวมถึงรายได้และการมีงานทำ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการสำรวจเพิ่มเติมในประเด็นเรื่องสถานการณ์การจ้างงานในองค์กร/บริษัท/หน่วยงานที่ครัวเรือนสังกัดหรือเป็นเจ้าของกิจการ พบว่า ร้อยละ 8.5 ของครัวเรือนที่ทำการสำรวจในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ชี้ว่า สถานการณ์การจ้างงานในองค์กรของตนมีการส่งสัญญาณการเลิกจ้าง โดยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.8 ในการทำสำรวจช่วงเดือนก.ค. 2562 สอดคล้องไปกับข้อมูลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรของสำนักงานสถิติแห่งชาติที่ในเดือนต.ค. 2562 จำนวนผู้ว่างงานจากสาเหตุนายจ้างเลิก/หยุด/ปิดกิจการอยู่ที่ 26,100 คน เพิ่มขึ้น 5,000 คนจากเดือนก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 17,600 คนจากช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ อีกร้อยละ 17.4 ของครัวเรือนที่ทำการสำรวจในเดือนต.ค. 2562 ถูกลดชั่วโมงการทำงานล่วงเวลา (OT) เพื่อประหยัดต้นทุนทางด้านแรงงานและควบคุมค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในสถานประกอบการ/บริษัท

ในขณะที่ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) ปรับตัวลดลง เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับดัชนีภาวะเศรษฐกิจฯ ในปัจจุบัน (KR-ECI) จากระดับ 44.4 ในการสำรวจช่วงเดือนก.ย. 2562 สู่ระดับ 43.5 ในการสำรวจช่วงเดือนต.ค. 2562 โดยครัวเรือนไทยมีความกังวลเพิ่มขึ้นต่อประเด็นเรื่องภาระค่าใช้จ่าย (ไม่รวมหนี้สิน) เงินออม รวมถึงระดับราคาสินค้าและบริการภายในประเทศในช่วงระยะ 3 เดือนข้างหน้า (เดือนพ.ย. 2562 – เดือนม.ค. 2563) ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยฤดูกาลที่เข้าสู่ช่วงเทศกาล ทำให้ครัวเรือนมีการจับจ่ายใช้สอยในรายการพิเศษต่างๆ เช่น ท่องเที่ยว ซื้อหาของขวัญ เป็นต้น นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมา ยังมีประเด็นข่าวความคืบหน้าเรื่องการจัดเก็บภาษีความเค็มในอาหารแช่แข็ง อาหารกระป๋อง และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โดยกังวลว่า สินค้าที่ถูกจัดเก็บภาษีจะมีราคาสูงขึ้น ซึ่งกระทบต่อภาระค่าครองชีพของตนเอง

โดยสรุปแล้ว ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทยในปัจจุบัน (KR-ECI) และในอีก 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) ปรับตัวลดลง แสดงให้เห็นถึงความกังวลของครัวเรือนต่อสภาวะเศรษฐกิจทั้งในปัจจุบันและในอีก 3 เดือนข้างหน้า (เดือนพ.ย. 2562 – เดือนม.ค. 2563) โดยในการสำรวจเดือนต.ค. 2562 พบสัญญาณการเลิกจ้างในองค์กร/บริษัทที่ครัวเรือนสังกัดหรือเป็นเจ้าของปรับตัวเพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับการสำรวจในช่วงเดือนก.ค. 2562 ชี้ให้เห็นว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยเป็นระยะเวลาติดต่อกันเริ่มส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและตลาดแรงงานในประเทศ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทยในช่วงที่เหลือของปี 2562 จะได้รับแรงกดดันมากขึ้นจากสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเด็นเรื่องรายได้และการมีงานทำ ซึ่งจะส่งผลให้กำลังซื้อของครัวเรือนอ่อนแรงลงในระยะข้างหน้า อย่างไรก็ดี การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ตามการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. น่าจะมีส่วนช่วยบรรเทาภาระหนี้สินของครัวเรือนและต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจได้ในระดับหนึ่ง ส่วนในประเด็นเรื่องค่าครองชีพนั้น ภาครัฐมีความพยายามที่จะช่วยประคับประคองภาระค่าครองชีพของครัวเรือนไม่ให้เพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ เช่น ขอความร่วมมือจากผู้ผลิตให้ชะลอการปรับขึ้นราคาสินค้าไปจนถึงสิ้นปี 2562 โดยเฉพาะสินค้าจำเป็นที่ได้รับผลกระทบจากการจัดเก็บภาษีความหวาน และผ่อนผันการขึ้นราคายาสูบออกไปอีก 1 ปี (จาก 1 ต.ค. 2562 เป็น 1 ต.ค. 2563) ทั้งนี้ ยังต้องติดตามผลของมาตรภาครัฐที่ออกมาในช่วงก่อนหน้า โดยเฉพาะมาตรการชิมช้อปใช้เฟส 1 และเฟส 2 รวมถึงมาตรการที่กำลังจะออกมาในระยะข้างหน้า อย่างมาตรการชิมช้อปใช้เฟส 3 ที่คาดว่าจะมีขึ้นในเร็วๆ นี้