ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

เจาะประเด็น “ค่าแรงขั้นต่ำ” ปี 63 กระทบต่อ SMEs ไทยอย่างไร ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว


กับกระแสข่าวของที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ชุดที่ 20 ที่มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2562 ให้ปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศในปี 2563 อีก 5-6 บาท มาอยู่ในช่วง 313-336 บาทต่อวัน (เฉลี่ย 321.09 บาทต่อวัน) จากอัตรา 308-330 บาทต่อวัน (เฉลี่ย 315.97 บาทต่อวัน) ในช่วงปี 2561-2562 หรือเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 จากปี 2562 โดยคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563 เป็นต้นไป

การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้ค่อนข้างแตกต่างจากครั้งก่อนหน้า เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนสูตรวิธีการคิดคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในรูปแบบใหม่ ทำให้มีการปรับขึ้นทุกจังหวัดในอัตราที่ใกล้เคียงกัน โดยมี 9 จังหวัดที่ได้ปรับขึ้น 6 บาทต่อวัน ซึ่งได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ สมุทรสาคร นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี ภูเก็ต ชลบุรี ปราจีนบุรี และอีก 68 จังหวัดที่เหลือปรับขึ้น 5 บาทต่อวัน อย่างไรก็ดี การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำแบบไม่เท่ากันตามแต่ละพื้นที่จังหวัดในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ประเทศไทยมีค่าจ้างขั้นต่ำทั้งหมด 10 อัตราตามแต่ละพื้นที่จังหวัด โดยจังหวัดที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำสูงสุด คือ ชลบุรีและภูเก็ต ขณะที่จังหวัดที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำต่ำสุด คือ 3 จังหวัดชายแดนภายใต้ โดยค่าจ้างขั้นต่ำของแรงงาน 2 กลุ่มจังหวัดนี้แตกต่างกัน 23 บาทต่อวัน หรือคิดเป็นร้อยละ 7.3

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประเมินผลกระทบของการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2563 ต่อต้นทุนของผู้ประกอบการ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป และ GDP ว่า โดยทั่วไปแล้ว การปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำจะทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่างๆ สูงขึ้นในอัตราที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสัดส่วนการใช้แรงงานในอุตสาหกรรมนั้นๆ โดยอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น (Labor-intensive) และพึ่งพิงแรงงานไร้ฝีมือ หรือลูกจ้างชั่วคราว/ลูกจ้างรายวันที่อ้างอิงตามการจ่ายค่าแรงตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เช่น ลูกจ้างในภาคเกษตรกรรม ร้านอาหาร ร้านค้าปลีก/ร้านสะดวกซื้อ รวมไปถึงอุตสาหกรรมการผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น จะได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมากกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีเป็นหลักในการผลิตสินค้าและบริการ

และจากข้อมูลของ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ในปี 2560 พบว่า สถานประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง (SMEs) มีการจ้างแรงงานในระบบ (รวมแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าว) คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 82 ของจำนวนลูกจ้างเอกชนทั้งหมด อีกทั้งมีอัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ทั้งหมดอยู่ในระดับสูงกว่าร้อยละ 80 จึงทำให้ SMEs ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมากกว่าสถานประกอบการขนาดใหญ่

ดังนั้น เมื่อประเมินผลกระทบการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2563 ต่อต้นทุนรวมของสถานประกอบการขนาดต่างๆ พบว่า หากค่าจ้างขั้นต่ำปรับขึ้นร้อยละ 1.6 จะทำให้ต้นทุนรวมของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 ในปี 2563

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังประเมินผลกระทบของการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2563 ยังอยู่ในกรอบที่จำกัด โดยผลักดันอัตราเงินเฟ้อให้สูงขึ้นอีกราวร้อยละ 0.05 จากประมาณการพื้นฐาน โดยผลที่จำกัดต่ออัตราเงินเฟ้อมาจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันทางด้านราคาที่สูงขึ้นกับร้านค้าอีคอมเมิร์ส (E-Commerce) การชะลอตัวของเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ทำให้การส่งผ่านต้นทุนของผู้ผลิตไปสู่ผู้บริโภคเป็นเรื่องที่ยากขึ้น ความอ่อนไหวต่อราคาสินค้าในแต่ละประเภทของผู้บริโภค รวมไปถึงการดูแลราคาสินค้าของกระทรวงพาณิชย์ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2563 ที่ร้อยละ 0.7 โดยรวมผลของการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2563 ไว้ด้วยแล้ว

การปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำย่อมส่งผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบต่อเศรษฐกิจ กล่าวคือ การเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำจะทำให้แรงงานมีรายได้เพิ่มขึ้น และนำไปสู่การใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเม็ดเงินดังกล่าวจะไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ (ผลทางบวกต่อ GDP) ในขณะเดียวกัน การปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำก็เป็นต้นทุนทางด้านแรงงานของผู้ประกอบการที่เพิ่มขึ้น ซึ่งบางส่วนก็สามารถผลักภาระไปให้ผู้บริโภคผ่านระดับราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นบางส่วนผู้ประกอบการต้องรับภาระไว้เอง ซึ่งในบางรายจะเผชิญปัญหาด้านความสามารถในการดำเนินธุรกิจ (ผลทางลบต่อ GDP) ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า หากปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำร้อยละ 1.6 จะส่งผลสุทธิทางลบประมาณร้อยละ 0.01 ต่อจีดีพีไทยในปี 2563 เนื่องจากเศรษฐกิจยังอยู่ในภาวะชะลอตัว การปรับขึ้นราคาสินค้าในปัจจุบันเป็นเรื่องที่ยาก ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการจำต้องรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นทั้งหมดไว้เอง ซึ่งอาจจะกระทบขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ โดยเฉพาผู้ประกอบการ SMEs

อย่างไรก็ดี แม้การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2563 อีก 5-6 บาทต่อวัน จะส่งผลกระทบในระดับมหภาคอย่างไม่มีนัยสำคัญ แต่หากพิจารณาในระดับจุลภาคแล้ว การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจต่างๆ ในระดับที่แตกต่างกัน โดยธุรกิจที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ ได้แก่ ธุรกิจร้านอาหาร ค้าปลีกค้าส่ง ก่อสร้าง และภาคเกษตรกรรม