ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

ผลสำรวจชี้ เปิดเทอมใหญ่ ผู้ปกครองรัดกุมเรื่องค่าใช้จ่าย ส่งผลยอดขายธุรกิจที่เกี่ยวข้องลดลง


บรรยากาศการใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมใหญ่ปี 2563 แตกต่างไปจากปีที่ผ่านๆ มา เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการมีงานทำและรายได้ของผู้ปกครองบางกลุ่มจากการที่ภาคธุรกิจต้องปิดตัว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ทำการสำรวจความสามารถในการใช้จ่ายเพื่อการศึกษาและผลกระทบจากโควิด-19 ที่มีต่อผู้ปกครองในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ระหว่างวันที่ 1 เม.ย. – 10 พ.ค. 2563 พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม 100% มองว่าตนเองได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่มีมิติที่ต่างกัน ซึ่งส่วนใหญ่รายได้ลดลงเนื่องจากถูกลดเวลาการทำงานหรือถูกปรับลดเงินค่าจ้าง ขณะที่ผู้ตอบที่เป็นเจ้าของธุรกิจ บอกว่ามียอดขายลดลง นอกจากนี้มีบางกลุ่มไม่มีงานทำเนื่องจากกิจการปิดตัวลงชั่วคราว รวมถึงมีค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพและป้องกันโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้น

ผู้ปกครองกว่า 88.9% มีความกังวลต่อสภาพคล่องทางการเงินที่จะนำมาใช้จ่ายเพื่อการศึกษาในช่วงเปิดเทอมใหญ่ปี 2563 นี้ และต้องปรับตัวด้วยการใช้แหล่งเงินจากหลายๆ ที่ นอกจากการใช้เงินออม อาทิ สินเชื่อจากสถาบันการเงินอย่างบัตรเครดิตหรือสินเชื่อเงินสด โรงรับจำนำ ยืมญาติพี่น้องหรือเพื่อน นอกจากนี้ บางคนได้ขอผ่อนผันการชำระค่าเรียนหรือผ่อนชำระค่าเทอมกับทางโรงเรียน ซึ่งมีสถานศึกษาบางแห่งอนุญาตให้ทำได้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า มูลค่าการใช้จ่ายในด้านการศึกษาในช่วงเปิดเทอมใหญ่ปี 2563 จะอยู่ที่ประมาณ 28,260 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเพียง 0.1% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายมาจากค่าธรรมเนียมการศึกษา ซึ่งเป็นผลจากจำนวนนักเรียนใหม่ที่เข้าสู่ระบบการศึกษาเพิ่มขึ้น แต่เป็นอัตราการเพิ่มที่ชะลอตัวจากปีก่อน เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจครัวเรือน ทำให้โรงเรียนเอกชนหลายแห่งไม่ได้ปรับขึ้นค่าเรียน และบางแห่งได้ปรับลดค่าธรรมเนียมการศึกษา เพื่อแบ่งเบาภาระของผู้ปกครอง

อย่างไรก็ดี ผู้ปกครองส่วนใหญ่ปรับลดค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษาในบางกลุ่ม ซึ่งจะมีผลต่อผู้ประกอบการธุรกิจที่คงจะต้องเตรียมแผนการตลาดรองรับกับรายได้ที่จะลดลง โดยกลุ่มที่ปรับลดค่าใช้จ่าย ได้แก่

1.กลุ่มสินค้าเพื่อการศึกษา เช่น ชุดนักเรียน รองเท้า อุปกรณ์การเรียน ซึ่งผู้ปกครองจะลดจำนวนที่จะซื้อหรือซื้อเท่าที่จำเป็น

2.กลุ่มค่าใช้จ่ายการเรียนกวดวิชา/เสริมทักษะ เนื่องจากหลายสาเหตุ อาทิ ผู้ปกครองที่ไม่มีปัญหาเรื่องรายได้แต่ชะลอการส่งบุตรหลานไปเรียนกวดวิชาหรือเสริมทักษะ เพราะยังกังวลต่อสถานการณ์โควิด-19 ส่วนผู้ปกครองที่มีปัญหาเรื่องรายได้จะปรับลดค่าใช้จ่ายใสส่วนการเรียนเสริมทักษะ ขณะที่ในส่วนของกวดวิชาจะเลือกเรียนเฉพาะวิชาที่สำคัญ เป็นต้น