ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

ชี้ช่องรวย แจกสูตร “คำนวณต้นทุน” ก่อนตั้งราคาขาย ตั้งอย่างไรให้ไม่ขายทุน มีกำไร


รู้หรือไม่ว่าปัญหาส่วนใหญ่ของผู้ประกอบการ SME หรือผู้ประกอบการรายเล็กนั้นมักจะขายดีมากแต่ไม่ไม่กำไร ขายกันจนเพลินแต่รู้ตัวอีกทีขาดทุนไปเสียแล้ว นั่นมาจากการตั้งราคาขายแบบตามอำเภอใจ ไม่ผ่านการคำนวณให้ดีว่าต้นทุนมีอะไรบ้าง วันนี้ ชี้ช่องรวย จึงอยากจะมาแนะนำสูตรคำนวณต้นทุนให้ไปใช้ เพื่อให้เราไม่ขาดทุน และมีกำไร มาดูกันเลยว่าต้องทำอย่างไรบ้าง

ต้นทุนขาย คือจำนวนเงินที่จ่ายไปในการซื้อสินค้า วัตถุดิบ เป็นต้นทุนที่เกิดขึ้นในการผลิตสินค้าและบริการที่ขายพร้อมกับกิจกรรมกระบวนการที่ทำให้สินค้าและบริการพร้อมขายหรือใช้ในภายหลัง เริ่มตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ การผลิต การทดสอบ การจัดเก็บ การขนส่ง เป็นต้น

วิธีคำนวณต้นทุนขาย

เพื่อให้เข้าใจการคำนวณต้นทุนขายของธุรกิจSMEs จึงขอแยกอธิบายในแต่ละประเภทของธุรกิจ ดังนี้

1.ธุรกิจซื้อมาขายไป ธุรกิจขายของทางออนไลน์ ต้นทุนขายคำนวณไม่ยากคือคิดจากราคาสินค้าที่ซื้อมาโดยตรง รวมทั้งค่าขนส่งสินค้าเข้าร้าน

2.ธุรกิจผลิตสินค้า เช่น ธุรกิจโรงงาน หรือผู้ประกอบการที่ทำขนมขาย ซึ่งใช้วัตถุดิบหลายอย่างในการผลิต โดยทั่วไปต้นทุนการผลิตเป็นต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตสินค้า ได้แก่ ต้นทุนวัตถุดิบ ค่าแรง ค่าใช้จ่ายในการผลิตเช่น ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมันรถ รวมทั้งของเสียที่อาจจะเกิดขึ้นจากกระบวนการผลิต ในทางบัญชีถ้าจัดจำแนกตามลักษณะพฤติกรรมของต้นทุนจะแยกได้เป็น 2 ประเภท คือ

ก.ต้นทุนคงที่ เป็นต้นทุนที่มีมูลค่าเท่าเดิมไม่ว่าจะมีการผลิตสินค้าในปริมาณมากหรือน้อย ได้แก่ เงินเดือน ค่าเช่า ค่าเบี้ยประกันภัย เป็นต้น

ข.ต้นทุนผันแปร เป็นต้นทุนที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามปริมาณการผลิตสินค้า ได้แก่ ค่าวัตถุดิบ ค่าแรงงาน ค่าบรรจุภัณฑ์ ค่าน้ำค่าไฟ เป็นต้น

สำหรับธุรกิจ SMEs ที่เป็นธุรกิจผลิตที่ไม่ซับซ้อนมาก ผู้ประกอบการสามารถคำนวณต้นทุนได้ดังนี้

1.ต้นทุนวัตถุดิบ เป็นต้นทุนหลักในการผลิตสินค้า

ยกตัวอย่างการคำนวณง่ายๆ เช่น ผู้ประกอบการที่ทำขนมขาย วัตถุดิบได้แก่ แป้ง น้ำตาล ไข่ เป็นต้น รวมราคาวัตถุดิบที่ซื้อมาเท่ากับ 500 บาทและผลิตขนมออกมาได้ 1,000 ชิ้น ดังนั้นต้นทุนวัตถุดิบต่อขนม 1 ชิ้น เท่ากับ 2 บาท

หรืออีกวิธีหนึ่งคือคำนวณต้นทุนวัตถุดิบจากปริมาณที่ใช้จริง จากสมการนี้

ต้นทุนวัตถุดิบ = ปริมาณวัตถุดิบที่ใช้จริง x (ราคาที่ซื้อหารด้วยปริมาณที่ซื้อ)

เช่น ธุรกิจที่ทำขนมขายซื้อแป้งสาลีมาในราคา 50 บาทต่อ 1,000 กรัม (1ถุง) ใช้แป้งทำขนมไปแค่ 80 กรัม ดังนั้นต้นทุนวัตถุดิบคือ 80x(50/1,000) เท่ากับ 4 บาท

2.ค่าแรงการผลิต

กรณีที่มีการจ้างพนักงานที่รับผิดชอบดูแลกระบวนการผลิต ค่าใช้จ่ายประเภทเงินเดือน ถือเป็นต้นทุนการผลิตโดยตรง การคำนวณค่าแรงมีดังนี้

เช่น โรงงานผลิตสินค้าได้ 50,000 ชิ้นต่อวัน เงินเดือนของพนักงานที่ดูแลกระบวนการผลิตมี 2 คนเงินเดือนรวมกัน เดือนละ 40,000 บาท ดังนั้น ต้นทุนค่าแรงต่อสินค้า 1 ชิ้นเท่ากับ 40,000/50,000 เท่ากับ 0.8 บาทต่อ สินค้า 1 ชิ้น เป็นต้น

หรืออย่างกรณีของโรงงานทำขนมที่จ้างลูกจ้างรายวัน เช่นค่าแรงวันละ400 บาท โดยเฉลี่ยผลิตขนมได้วันละ 1,000 ชิ้น ค่าแรงต่อขนม 1 ชิ้น เท่ากับ 0.4 บาท

3.ค่าใช้จ่ายในการผลิต ได้แก่ ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมันรถ ของเสียที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิต

3.1 ค่าไฟฟ้า โดยค่าไฟต่อสินค้า 1 ชิ้น คำนวณจากค่าไฟที่จ่ายจริงแต่ละเดือนหารด้วยปริมาณการผลิต

เช่น โรงงานผลิตสินค้า จ่ายค่าไฟในเดือนตุลาคม 100,000 บาท ผลิตสินค้าได้ 20,000 ชิ้น ดังนั้น ค่าไฟต่อ สินค้า 1 ชิ้น เท่ากับ 5 บาท

3.2 ค่าน้ำมันรถ โดยคิดจากค่าน้ำมันที่ใช้จริงสำหรับรถแต่ละคัน หรือเทียบจากการใช้รถแท็กชี่โดยเข้าไปดูราคาใน Application Grab

3.3 ของเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิต ในช่วงแรกๆอาจใช้วิธีการประเมิน เช่น ผลิตขนม 10 ชิ้น เสีย 1 ชิ้น เท่ากับของเสียคิดเป็น 10% ของสินค้าที่ผลิตได้ ต่อไปอาจจะใช้วิธีเก็บข้อมูลและประเมินจากของเสียที่เกิดขึ้นจริงได้

เพียงใช้สูตรนี้เราจะรู้ต้นทุนทั้งหมด และสามารถตั้งราคาขายได้อย่างถูกต้อง แบบไม่ต้องมานั่งมโนเองว่าจะขายเท่าไหร่ ดีไม่ดีการคิดขึ้นเองอาจจะส่งผลให้เราขาดทุนแบบไม่รู้ตัว

ขอขอบคุณ ข้อมูลดีๆ : peakaccount