ปัญหาความขัดแย้ง แย่งชิงน้ำกัน ยังคงมีให้เห็นอยู่ในหลายพื้นที่ ซึ่งในบางพื้นที่ปัญหาเกิดจากการขาดแคลนน้ำ ในบางพื้นที่แม้จะมีน้ำใช้เพียงพอ แต่หากขาดระบบการบริหารจัดการน้ำที่ดี ย่อมเกิดปัญหาในอนาคต ซึ่งด้วยบริบทที่แตกต่างกันของแต่ละพื้นที่ การบริหารจัดการน้ำจึงมีรูปแบบที่แตกต่างกัน คอลัมน์เรื่องเล่าคนใช้น้ำฉบับนี้จึงขอหยิบยก กลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานอ่างเก็บน้ำดอยงู อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย อีกหนึ่งกลุ่มผู้ใช้น้ำที่เป็นต้นแบบการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนในปัจจุบัน จากปัญหาแย่งชิงน้ำ สู่การบริหารจัดการตามกฎ กติกา นายศรีนวล สายใจ ประธานกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานอ่างเก็บน้ำดอยงู เล่าว่า อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย เป็นพื้นที่เพาะปลูกซึ่งอยู่บนที่ราบและมีความสูงที่เหมาะสมในการเพาะปลูกพืชหลายชนิด เกษตรกรจึงมีความต้องการน้ำมากโดยเฉพาะในฤดูแล้งในอดีตนั้นได้เคยเกิดเหตุความขัดแย้งเกษตรกรมีพื้นที่เพาะปลูกรวมกันถึง 11,000 ไร่ แต่กลับมีพื้นที่ใช้น้ำได้เพียง 6,000-7,000 ไร่เท่านั้น ทำให้เกิดการเปรียบเทียบถึงสิทธิในการใช้น้ำที่ไม่เท่าเทียมกัน ส่งผลให้เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างผู้ใช้น้ำ ตำบลเวียงกาหลง ตำบลแม่เจดีย์ ตำบลป่างิ้ว และตำบลเวียงป่าเป้า อำเภอเวียงป่าเป้า เพราะต่างคนต่างมุ่งเอาน้ำ ซึ่งหากปล่อยให้เกิดปัญหาเช่นนี้ต่อไป ในอนาคตอาจเกิดการแย่งชิงน้ำที่ทวีความรุนแรงขึ้นในพื้นที่ “จากปัญหาทะเลาะเบาะแว้ง แย่งชิงน้ำที่ดูจะหนักข้อขึ้น จึงได้มีการจัดตั้งกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานขึ้นในปี 2557 โดยจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อร่วมกันหาวิธีบริหารจัดการน้ำที่ยั่งยืนในบริบทพื้นที่ของตนเอง” แก้ปัญหาไปทีละข้อ เปลี่ยนความขัดแย้งให้เป็นความร่วมมือ แม้ได้ทำการจัดตั้งเป็นกลุ่มบริหารการใช้น้ำแล้ว แต่สมาชิกทุกคนก็ยังต้องใช้เวลากว่า 3 ปี ในการสืบค้นข้อมูลปัญหาที่แท้จริงในพื้นที่โดยเน้นที่การให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชน มีการจัดเวทีการมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน แก้ปัญหาไปทีละข้อๆ ตั้งแต่การสร้างความรู้ความเข้าใจในหลักการบริหารจัดการน้ำที่ถูกวิธี […]