สายงานอาชีพอิสระควรรู้! ฟรีแลนซ์ต้องจัดการภาษีอย่างไรให้ถูกต้อง
อาชีพอิสระ หรือ ฟรีแลนซ์ เป็นสายงานที่ทั้งเวลานี้และคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะสามารถบริหารงานและเวลาได้เอง เลือกรับงานเองได้ ไม่ต้องฟังคำสั่งเจ้านาย ฟังแค่ลูกค้าก็พอ เรียกว่ามี “ความอิสะ” เป็นเต็มที่ แต่หลายคนอาจลืมไปว่าเปลี่ยนมาทำอาชีพอิสระแล้ว ยังต้องมีการเสียภาษีด้วยนะ วันนี้ชี้ช่องรวยก็จะมาบอกวิธีการสำหรับอาชีพอิสระหรือฟรีแลนซ์ว่าจัดภาษีอย่างไรให้ถูกต้อง
1. คำนวณเงินได้สุทธิ
สำหรับสายอาชีพอิสระทั้งหลาย สิ่งที่เอามาคำนวณภาษี คือ จำนวนเงินได้สุทธิ ที่คิดจาก ‘เงินได้พึงประเมิน’
หากเป็นมนุษย์เงินเดือนทั่วไปในบริษัทปกติจะมีใบที่คุ้นเคยกันคือ ‘ทวิ 50’ เป็นข้อมูลเงินเดือน โบนัส ประกันสังคม ฯลฯ ซึ่งสามารถนำไปเป็นหลักฐานประกอบการยื่นภาษีได้เลย แต่สายฟรีแลนซ์ที่ไม่มี ทวิ 50 จะต้องเตรียมเอกสาร และคำนวณเงินได้พึงประเมินด้วยตัวเอง
หลักฐานที่จำเป็นต้องใช้ ก็คือ ‘ใบหักภาษี ณ ที่จ่าย’ ที่จะได้รับจากผู้ว่าจ้างหรือลูกค้า สำหรับเงินค่าจ้างเกิน 1,000 บาท ขึ้นไป แต่สำหรับกรณีเงินค่าจ้างไม่เกิน 1,000 บาท อาจจะเก็บเป็นหลักฐานการโอนเงิน รวบรวมเอาไว้ทุกครั้ง เพราะต้องนำมาคิดรวมเป็นเงินได้พึงประเมินด้วยเช่นกัน
เมื่อรวบรวมเงินได้พึงประเมินของทั้งปีเอาไว้แล้ว ก็เอามาคำนวณเงินได้สุทธิ เพื่อนำไปเทียบอัตราภาษีที่ต้องเสีย ตามสูตร : เงินได้สุทธิ = เงินได้พึงประเมิน – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน
2.การลดหย่อนภาษีของอาชีพอิสระ
ทุกการยื่นภาษี จะมีข้อยกเว้นหรือการลดหย่อนภาษีมาด้วยเสมอ อาชีพอิสะก็จำเป็นต้องร้ว่าตัวเองตรงกับเงื่อนไขการลดหย่อนภาษีใดบ้าง
- ลดหย่อนภาษีจากการซื้อสินค้าและบริการ หลักฐานที่ต้องใช้ คือ ใบกำกับภาษีที่ได้จากร้านค้าเมื่อเข้าไปใช้บริการหรือซื้อสินค้านั้นๆ เก็บรวบรวมเอาไว้ สามารถนำมาใช้ลดหย่อนภาษีได้ แต่ต้องดูตามโครงการ หรือมาตรการจากภาครัฐเท่านั้นนะ
- ลดหย่อนส่วนตัว ไม่เกิน 60,000 บาท
- ลดหย่อนภาษีจากการทำประกัน ทั้งประกันชีวิต ประกันสุขภาพ และประกันสังคม
- ลดหย่อนภาษีด้วยการลงทุน เช่น หุ้น กองทุน LTF หรือ RMF
- ลดหย่อนภาษีด้วยเงินบริจาค เช่น บริจาคสนับสนุนพรรคการเมือง บริจาคเพื่อการศึกษา บริจาคให้โรงพยาบาลรัฐ ฯลฯ (อย่าลืมขอหลักฐานการบริจาคเอาไว้ด้วย)
3.ยื่นภาษี
เมื่อทำทุกขั้นตอนต่าง ๆ ครบแล้ว ก็เข้าสู่กระบวนการสำคัญอย่างการยื่นภาษี โดยวิธีหลัก ๆ ที่ทำ คือ
- ยื่นแบบฟอร์ม ภ.ง.ด. 90 ด้วยตัวเอง ที่สำนักงานกรมสรรพากรในจังหวัดนั้นๆ
- สำหรับฟรีแลนซ์ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพมหานคร สามารถส่งแบบฟอร์มผ่านไปรษณีย์ได้
- ยื่นออนไลน์ ในเว็บไซต์กรมสรรพากร แล้วชำระภาษีผ่านบัตรเครดิต
เมื่อยื่นภาษีแล้วก็ถือว่าครบขั้นตอน ถูกต้องตามกฎหมายไร้ความกังวล ใครที่เปลี่ยนจากมนุษย์เงินเดือนมาเป็นอาชีพอิสระต้องอย่าลืมศึกษาตรงนี้ให้ดี
ติดตามบทความอื่น ๆ ได้ที่ : คลิก