ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

ออนไลน์ 100 ล้าน! “มั่นคงแก๊ดเจ็ท” ขายหูฟังขั้นเทพ


           

กมล พูนทรัพย์ ผู้ปุกปั้น “มั่นคงแก๊ดเจ็ท” จากร้านเล็กๆ จนกลายเป็นร้านค้าออนไลน์ ยอดขายระดับแนวหน้าของไทย เริ่มต้นธุรกิจตนเองจากอาชีพรับพิมพ์ซิลด์สกรีน แต่เมื่อเทคโนโลยีเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทำให้เทคโนโลยีที่ทำอยู่เริ่มล้าหลัง และรู้สึกว่าไปต่อไม่ได้ จึงเริ่มมองหาอาชีพเสริม และแนวทางที่ง่ายที่สุดก็คือ การหาสินค้ามาจำหน่ายบนโลกออนไลน์ โดยที่เป็นหูฟังก็เพราะได้ซื้อไอพอดมาใช้งาน และหูฟังที่แถมมาพร้อมกับตัวเครื่องมีประสิทธิภาพที่ไม่ค่อยดีนัก จึงทดลองค้นหาหูฟังที่จะนำมาใช้เล่นกับไอพอดจนได้พบกับหูฟังยี่ห้อหนึ่งซึ่งเสียงดีมาก หลังจากนั้น เขานำประสบการณ์ดังกล่าวมาแชร์ในฟอรั่มบนเว็บไซต์พันทิบ (www.pantip.com)

         

เมื่อมีผู้เข้ามาอ่าน และรู้สึกต้องการมีไว้ใช้งานบ้างก็เริ่มสอบถามเพื่อที่จะไปซื้อมาใช้งานบ้าง จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการหูฟังตั้งแต่บัดนั้นจนถึงปัจจุบัน โดยเริ่มขายแบบง่ายบนเว็บไซต์ตลาดดอทคอม (www.tarad.com) ซึ่งไม่ได้มีลูกเล่นอะไรมาก แต่ได้คิดคำ หรือ สโลแกนที่จะทำให้โดนใจผู้บริโภค โดยคำแรกที่โพสต์ขายก็คือ “ขายหูฟังระดับพระกาฬ และแก็ดเจ็ทระดับพญายม” ซึ่งเป็นคำที่สะดุดความรู้สึกอยากลองให้กับผู้บริโภค ดังนั้นคำที่ใช้ในการโพสต์ขายสินค้าจึงมีความสำคัญเป็นอันดับแรก ในการเรียกความสนใจจากลูกค้าอย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ในยุคก่อนการเปิดร้านค้าออนไลน์จะต้องมีสถานที่รับสินค้า จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดร้านจำหน่ายหูฟังตามมา และทำการตลาดควบคู่กันไปทั้ง 2 ทาง กมล เล่าว่า สินค้าที่จำหน่ายอยู่ค่อนข้างเป็นนามธรรม และต้องใช้อารมณ์ในการตัดสินใจซื้อ

            โดยมีสินค้าที่จำหน่ายอยู่ในราคา 200-100,000 บาท การที่จะอธิบายให้ลูกค้าได้เข้าใจว่าหูฟังตัวนี้เสียงดีจึงค่อนข้างยาก แต่การที่เราเป็นผู้ที่ศึกษาจนรู้จริง และสามารถตอบคำถามโดยให้คำแนะนำที่ถูกต้องที่สุดต่อผู้ซื้อได้ทำให้เป็นเอกลักษณ์ในการขายที่ผู้บริโภคให้การยอมรับ

              การขายของที่ร้าน “มั่นคงแก๊ดเจ็ท” จะไม่เลือกเฉพาะกลุ่มของผู้มีเงิน แต่เราจะให้ความสำคัญกับลูกค้าทุกกลุ่ม และพยายามตอบคำถามที่ลูกค้าถามมาโดยเท่าเทียมกันหมด ซึ่งจะทำให้ลูกค้ารู้สึกพิเศษ “หากใครที่มีเว็บเพจเป็นของตัวเอง แนะนำเลยว่าอย่าละเลยการตอบคำถามต่อลูกค้าด้วยตนเอง หรือพยายามปั้นให้คนอื่นมาเป็นผู้ตอบเอง ซึ่งจะไม่ได้ความรู้สึกของการปฎิสัมพันธ์กับลูกค้าเท่าตัวเราเอง ไม่ว่าธุรกิจจะมีขนาดเล็กหรือขนาดที่ใหญ่แล้วก็ตาม โดยการถูกตำหนิถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งเราต้องไม่พยายามหลบหนีปัญหา แต่จะต้องแก้ไขให้ดีขึ้น และต้องตอบให้ครบทุกความเห็นที่ตำหนิเข้ามา  นอกจากนี้การพยายามใส่เนื้อหาวิธีการใช้งานให้กับลูกค้าแบบละเอียดก็เป็นเรื่องที่สำคัญ โดยจะเห็นได้จากการที่ผู้ใช้งานต้องการหาความรู้เรื่องหูฟังบนอินเตอร์เน็ต เมื่อเสิร์ซในกูเกิล (Google) จะต้องพบกับเราและผู้ช่วยอยู่เต็มไปหมด หากยิ่งทำเนื้อหาได้ดี ยูทูป (Youtube) ดันมาเสนอบ่อยก็ยิ่งทำให้เกิดความจดจำได้ง่าย” กมลเล่าถึงกลยุทธ์ ส่วนการจะครองใจลูกค้าได้อย่างไรนั้น กมล บอกว่าผู้ประกอบการต้องเข้าใจก่อนว่ายุคนี้เรื่องความจงรักภักดีต่อแบรนด์ไม่ได้มาเป็นลำดับแรกอีกต่อไป เพราะฉะนั้นวิธีการที่จะครองใจผู้บริโภคได้ก็คือ การขายความจริง หากมีการปกปิดข้อมูลบางส่วนที่ไม่ดีเอาไว้ ไม่นานก็ถูกจับได้ และจะทำให้ไม่สามารถขายสินค้าได้ในที่สุด เพราะบริโภคยุคนี้มีวิธีการหาข้อมูลอยู่เป็นจำนวนมาก โดยหากลูกค้าเกิดความประทับใจ สิ่งที่จะตามมาก็คือ การเป็นกระบอกเสียงในการสิกนค้าให้อีกทอดหนึ่ง กมล บอกอีกว่า การที่ลูกค้าจะซื้อสินค้าหรือไม่ สิ่งที่สำคัญอยู่ที่การตลาด การทำตลาดแล้วไม่ได้รับการตอบรับไม่ใช่เรื่องแปลก แต่จะต้องพยายามคิดหารูปแบบใหม่ให้โดนใจผู้บริโภค สร้างสรรค์ใหม่ หรือลอง โพสต์รูปใหม่ เพราะยังมีอีกหลายมุมที่สามารถนำเสนอได้ พึงระลึกไว้เสมอไว้ว่าคู่แข่งที่ขายสินค้าเหมือนกันมีอีกมาก โดยหากเห็นว่าคู่แข่งทำการตลาดออกมา 2 ชิ้น เราจะต้องพยายามทำให้ได้มากกว่าประมาณ 3 เท่า รับประกันได้เลยว่าไม่ล้มเหลว “แนวความคิดที่ว่าจะต้องมีร้านอยู่บน Facebook หรือบน Instagram ให้ได้ อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องนัก เพราะลำดับแรกที่จะต้องมีคือ บ้านของตัวเองที่เรียกว่า เว็บไซต์ โดยเป็นพื้นที่ที่เก็บรวบรวมเนื้อหาทั้งหมดของเราให้เป็นหมวดหมู่ก่อนที่จะนำออกไปแชร์บน Facebook โดยให้มองว่า Facebook เป็นเหมือนแผง หรือร้านขายสินค้า เพราะอาจเกิดปัญหาเวลาที่ต้องการเนื้อหาการนำเสนอที่ดีๆ ที่เคยนำไปแชร์ลงแล้ว แต่กลับหาไม่เจอ หรือวันหนึ่ง Facebook หายไปเราก็ทำอะไรไม่ได้ และระบบการกดไลค์ก็เป็นแค่อากาศที่เราไม่ได้อะไรจากตรงนั้น แต่หากเรามีเว็บไซต์ของเราก็จะเป็นฐานที่มั่นคงได้”