มงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ SME Development Bank กล่าวว่า รัฐบาลต้องการให้ผู้ประกอบการได้รับการช่วยเหลือผ่านนโยบายภาครัฐ จึงได้มีการส่งเสริมผู้ประกอบการที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างสะดวก เพื่อส่งเสริมธุรกิจให้พัฒนา ยกระดับก้าวสู่อุตสาหกรรม ไทยแลนด์ 4.0 และคาดว่าสินเชื่อและกองทุนตามนโยบายภาครัฐดังกล่าว จะได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการ SME เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ การจัดกิจกรรมจะเวียนให้ครบทุกภาค รวม 14 จังหวัดภายใน เดือน พ.ค.นี้ แบ่งเป็นเดือนเมษายน 9 จังหวัด คือ พระนครศรีอยุธยา ลำปาง นครศรีธรรมราช สงขลา อ.หาดใหญ่ ตรัง เพชรบุรี มุกดาหาร ร้อยเอ็ด อุดรธานี เดือนพฤษภาคม 5 จังหวัด คือ สกลนคร ลพบุรี นครปฐม พิษณุโลก ฉะเชิงเทรา ” สำหรับสินเชื่อ SMEs Transformation Loan วงเงิน 15,000 ล้านบาท เป็นการให้ความช่วยเหลือ 1.ผู้ประกอบการ SME ที่ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจที่ทำให้กิจการมีความต้องการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อความเข้มแข็ง 2.ผู้ประกอบการ SME ที่เป็นผู้ประกอบการใหม่ (NEW/START UP) หรือที่มีนวัตกรรม 3.ผู้ประกอบการ SME ที่มีศักยภาพ หรือมีแนวโน้มเติบโตเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 และ SMEs 4.0 เช่น SME กลุ่มธุรกิจ S-Curve หรือ SME ที่ส่งออกหรือขยายธุรกิจในต่างประเทศ เป็นต้น โดยคิดดอกเบี้ย ปีที่ 1-3 เพียงร้อยละ 3 ต่อปี จะช่วยผลักดันเศรษฐกิจก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบช่วยให้ SME เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้กว่า 3,000 ราย (วงเงินค้ำประกันเฉลี่ยต่อราย 5 ล้านบาท) รักษาการจ้างงานได้ไม่น้อยกว่า 24,000 คน และสร้างเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้ประมาณ 68,700 ล้านบาท เป็นฟันเฟืองช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้กลับมาฟื้นตัว ทั้งนี้ รัฐบาลยังได้มอบหมายให้ ธนาคารดำเนินการจัดอบรมผู้ประกอบการที่เข้าโครงการเพื่อเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจ และการวางแผนธุรกิจ ทั้งด้านการบริหารจัดการ กลยุทธ์การเพิ่มยอดขายผ่านสื่อออนไลน์ การเงิน บัญชีและภาษี การเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ กลุ่มตลาด CLMV กลุ่มตลาด AEC ซึ่งรวมถึงการจับคู่ธุรกิจกิจกรรมออกบูธจำหน่ายสินค้าในท่าอากาศยานสนามบิน และบนสายการบิน ส่งเสริมธุรกิจ E-Commerce เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ วงเงินกองทุน 20,000 ล้านบาท เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME ที่จดทะเบียนในรูปแบบของนิติบุคคล อัตราดอกเบี้ยคิดเพียงร้อยละ 1 ต่อปี ตลอดอายุสัญญา ระยะเวลาชำระคืน 7 ปี ไม่ต้องจ่ายคืน 3 ปีแรก ไม่ต้องมีหลักประกันให้กู้สูงสุด 10 ล้านบาทต่อราย และ 75% ขึ้นไปจะเป็นวงเงินกู้ไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อราย (วงเงินเฉลี่ยจังหวัดละ 200-300 ล้านบาท) โดยธุรกิจต้องอยู่ในกลุ่มยุทธศาสตร์ของแต่ละจังหวัด เช่น ภาคการเกษตร แปรรูปอาหาร แหล่งท่องเที่ยว
กลุ่ม START UP และกลุ่มเทคโนโลยี นวัตกรรม เป็นต้น แต่ละจังหวัดจะกำหนดธุรกิจกลุ่มยุทธศาสตร์อย่างชัดเจน ซึ่งจะก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบช่วยให้ SME เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้กว่า 6,000 ราย รักษาการจ้างงานได้ไม่น้อยกว่า 48,000 คน และสร้างเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้ประมาณ 82,440 ล้านบาท โดยมีคณะทำงานของแต่ละจังหวัดเป็นผู้พิจารณาคัดเลือกผู้ประกอบการ นำโดยผู้ว่าราชการจังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด พาณิชย์จังหวัด สภาอุตสาหกรรมจังหวัด และหอการค้าจังหวัด เป็นต้น โดยมอบหมายให้ ธพว.ร่วมเป็นคณะทำงานในแต่ละจังหวัดด้วย คาดว่าช่วงหลังสงกรานต์นี้จะแล้วเสร็จ พร้อมดำเนินการอนุมัติเบิกจ่ายได้ในเดือนพฤษภาคม 2560 สำหรับผู้ประกอบการ SME ที่สนใจใช้บริการเงินกู้สินเชื่อ SMEs Transformation Loan และ กองทุนพัฒนา SME ตามแนวประชารัฐ สามารถติดต่อยื่นคำขอกู้ได้ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือสอบถาม Call Center 1357 หรือสามารถติดตามข่าวสารกิจกรรมของธนาคารผ่านช่องทาง facebook.com/SMEDevelopmentBank