อย่างไรก็ตาม แม้จุดเริ่มต้นประเพณีสงกรานต์มาจากรากฐานวัฒนธรรมเดียวกัน แต่ปัจจุบันประเพณีและการจัดงานเทศกาลสงกรานต์ในแต่ละประเทศมีทั้งความเหมือนและความต่างที่น่าสนใจจะนำมาเล่าสู่กันฟัง รวมถึงหากวิเคราะห์เจาะลึกกันให้ดี เทศกาลนี้จะสร้างโอกาสทางธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการไทยได้อีกมาก ขอเริ่มต้นที่เทศกาลสงกรานต์ใน กัมพูชาเป็นที่แรก เทศกาลสงกรานต์ในกัมพูชามีวันสำคัญรวม 3 วัน ยกเว้นในบางปีอาจมี 4 วัน ขึ้นอยู่กับจันทรคติ โดยวันแรกเรียกว่า “Moha Songkran” ในวันนี้ชาวกัมพูชาจะจัดพิธีสังเวยเทวดาใหม่ หลังจากนั้นจะไปทำบุญและฟังธรรมเทศนาต่อที่วัด วันที่สองเรียกว่า “Wanabat” (บางปีวันนี้อาจมีสองวัน) ชาวกัมพูชาจะจัดสำรับอาหารให้แก่บิดามารดาปู่ย่าตายายพร้อมขอพรจากท่าน ก่อนจะไปทำบุญพร้อมถวายภัตตาหารแก่พระสงฆ์ที่วัด และวันที่สามเรียกว่า “Tanai Lieang Saka” ช่วงเช้ายังคงทำบุญถวายอาหารพระสงฆ์ หลังจากนั้นช่วงบ่ายจะสรงน้ำพระพุทธรูปและพระสงฆ์ รวมถึงผู้สูงอายุและผู้มีพระคุณ ก่อนที่จะเล่นสาดน้ำกัน ทั้งนี้ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ชาวกัมพูชามีความเชื่อว่าห้ามทำงาน ทำให้ในเมืองหลวงอย่างกรุงพนมเปญแทบจะเป็นเมืองร้าง ร้านค้าและสถานที่ทำงานต่างๆ ล้วนปิดทำการ ชาวกัมพูชาส่วนใหญ่จะเดินทางกลับบ้านในต่างจังหวัด ทำให้ความคึกคักของเทศกาลสงกรานต์มักอยู่ตามต่างจังหวัดและเมืองใหญ่ในภาคต่างๆ ของกัมพูชา อาทิ พระตะบอง บันเตียเมียนเจย รวมถึงเสียมราฐ
ที่จัดงานเทศกาลสงกรานต์ใหญ่ที่สุดในประเทศ เนื่องจากเป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญ โดยพื้นที่จัดงานจะอยู่บริเวณนครวัด ซึ่งจากข้อมูลของทางการจังหวัดเสียมราฐระบุว่า มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวกัมพูชาและชาวต่างชาติเดินทางมาเที่ยวเทศกาลสงกรานต์ในเสียมราฐมากกว่า 5 แสนคนต่อปี มีเม็ดเงินสะพัดปีละไม่น้อยกว่า 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับเทศกาลสงกรานต์ใน สปป.ลาว มีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ โดยบริเวณนครหลวงเวียงจันทน์ มักนิยมจัดงานประเพณีสงกรานต์แบบดั้งเดิมควบคู่ไปกับกิจกรรมบันเทิงสมัยใหม่ โดยบริเวณจัดงานหลักจะอยู่ริมถนน Setthathilath และบริเวณใกล้เคียง นอกจากนี้ ชาว สปป.ลาว ยังนิยมเดินทางข้ามโขงมาเล่นน้ำสงกรานต์ในจังหวัดหนองคายและอุดรธานีของไทยด้วย
ขณะที่เมืองหลวง พระบางจะเน้นจัดงานพิธีทางศาสนาและงานรื่นเริงตามขนบธรรมเนียมประเพณีแบบดั้งเดิม ในวันแรกเรียกว่า “วันสังขารล่อง” ชาวหลวงพระบางนิยมซื้อธงที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนา อาทิ ธงรูปพระพุทธเจ้า ธงตัวเพิ่ง (สัตว์ประจำปีนักษัตร) เพื่อนำไปปักไว้บนพระธาตุทราย วันที่สองเรียกว่า “วันเนา” จะมีขบวนแห่เกี้ยวของพระสงฆ์ นางสงกรานต์ รวมถึงมีการแห่สิงห์แก้ว สิงห์คำ และปู่เยอ ย่าเยอ (เทวดาผู้ปกปักษ์รักษาเมือง) และวันที่สามเรียกว่า “วันสังขารขึ้น” ในตอนเช้าจะวางดอกไม้ธูปเทียนไว้หน้าบ้านเพื่อทำความเคารพเจ้าที่เจ้าทาง หลังจากนั้นจะร่วมกันทำบุญตักบาตรข้าวเหนียว เทศกาลสงกรานต์ในเมียนมา เรียกว่า “Thingyan” ซึ่งถือเป็นช่วงวันหยุดยาวช่วงหนึ่งของเมียนมา มีทั้งการจัดกิจกรรมตามขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิม
รวมถึงการทำบุญตามวัดวาอารามต่างๆ ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก และกิจกรรมบันเทิงสมัยใหม่ซึ่งสถานที่จัดงานรื่นเริงส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณถนน Kaba Aye Pagoda และ Kandawgyi รวมถึงบริเวณรอบเจดีย์ชเวดากองที่มักมีหนุ่มสาวรวมตัวกันเล่นน้ำบริเวณนี้เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ บริเวณเมืองชายแดน อาทิ เมืองเมียวดีที่อยู่ติดกับอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่จัดกิจกรรมสงกรานต์อย่างใหญ่โต เนื่องจากอยู่ติดกับประเทศไทย ทำให้รูปแบบการเล่นน้ำและกิจกรรมบันเทิงต่างๆ ใกล้เคียงกับไทยมาก จะเห็นได้ว่า กิจกรรมในเทศกาลสงกรานต์ของประเทศเพื่อนบ้านแม้มีบางอย่างที่แตกต่างจากไทย แต่ก็มีหลายส่วนที่คล้ายคลึงกัน โดยกิจกรรมหลักๆ ยังคงเป็นพิธีกรรมทางศาสนาและการทำบุญ รวมถึงการจัดงานรื่นเริงเล่นสาดน้ำของหนุ่มสาว ตลอดจนการจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ระหว่างญาติพี่น้องและเพื่อนฝูง
ทั้งนี้ ดังที่ทราบกันดีว่าสินค้าและบริการของไทยได้รับความนิยมและเป็นที่ยอมรับเป็นอย่างดีในตลาดประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ อาหารและเครื่องดื่ม โดยเฉพาะน้ำอัดลมและเครื่องดื่มชูกำลัง (ชาวเมียนมานิยมดื่มเครื่องดื่มชูกำลังเพื่อดับกระหาย) อุปกรณ์ที่ใช้เล่นน้ำสงกรานต์ ไม่ว่าจะเป็นซอง/กระเป๋าพลาสติก ปืนฉีดน้ำ แว่นตากันน้ำ ซึ่งสินค้าหลายอย่างนำเข้าจากไทย ตลอดจนเสื้อผ้า/เครื่องประดับที่นิยมซื้อให้กันเป็นของขวัญในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งสินค้าแบรนด์ไทยยังคงเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ รวมถึง หลอดไฟ ที่นิยมซื้อไปประดับประดาตกแต่งบ้านในช่วงเทศกาลนี้ด้วย และที่ลืมไม่ได้คือ สินค้าที่เป็นปัจจัยและเครื่องใช้สำหรับพระภิกษุสงฆ์ (มีดโกน ช้อนส้อม แปรง/ยาสีฟัน ขันน้ำ) เนื่องจากในช่วงเทศกาลนี้มักมีการทำบุญกันอย่างต่อเนื่อง สำหรับธุรกิจบริการของไทยที่มีโอกาสทำตลาดสูง ได้แก่ ร้านอาหารและร้านกาแฟไทย ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างดีและอยู่ในตลาดกลางค่อนบนของผู้บริโภคในประเทศเพื่อนบ้าน ช่วงเทศกาลนี้ย่อมเป็นจังหวะที่ดีในการจัดโปรโมชันเพื่อโปรโมทอาหารและเครื่องดื่มสไตล์ไทย ท้ายที่สุดขอฝากคำแนะนำว่า แม้สินค้าและบริการของไทยจะได้รับการตอบรับที่ดีจากประเทศเพื่อนบ้าน แต่หากผู้ประกอบการไทยหมั่นศึกษาถึงพฤติกรรมและความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภคในประเทศเหล่านี้ ก็จะทำให้สามารถทำตลาดและเพิ่มยอดขายได้อย่างต่อเนื่อง ข้อมูลจากวิจัยธุรกิจ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK)