ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

จูนเครื่องก่อนสตาร์ท บริการ “car sharing”


              

ธุรกิจ car sharing เป็นธุรกิจให้บริการรถเช่าระยะสั้นที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องทั่วโลกกว่า 39% ต่อปี จากการที่ธุรกิจมีการเชื่อมโยงกับระบบขนส่งสาธารณะในเมืองใหญ่ที่มีประชากรหนาแน่น และบริการที่จอดรถสาธารณะครอบคลุม รวมถึงมีความสอดคล้องกับแนวคิดของกลุ่ม gen Y ที่จะกลายเป็นกำลังซื้อหลักในอนาคต มีการปรับตัวไปสู่การใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น อย่างไรก็ดี ธุรกิจนี้ในไทยยังมีข้อจำกัดในการแข่งขันด้านราคากับรูปแบบการเดินทางประเภทอื่น ซึ่งต่างจากประเทศในยุโรปและสหรัฐฯ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์ว่าธุรกิจ car sharing สามารถปรับไปสู่การให้บริการเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบการเดินทางด้วยตัวเอง และต้องการความยืดหยุ่นในการเดินทางมากกว่ารถเช่ารายวัน และมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่าในกรณีที่ใช้บริการไม่เกินครึ่งวัน นอกจากนี้ การเข้ามาของธุรกิจนี้ยังเป็นโอกาสที่ดีต่อธุรกิจบริการที่จอดรถ และธุรกิจประกันภัยในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ

           อีไอซี มองว่าในระยะเริ่มต้นธุรกิจ car sharing ที่มุ่งเน้นตลาดนักท่องเที่ยวในเมืองท่องเที่ยว มีโอกาสทางตลาดสูงกว่า โดยการจัดเตรียมสถานที่รับและส่งรถตามสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญต่างๆ หรือให้บริการสำหรับการเดินทางที่ยาวนานกว่า 1 ชั่วโมง แต่ไม่เกินครึ่งวัน พบว่าจะมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่าการเช่ารถยนต์รายวัน และเหมาะกับนักท่องเที่ยวกลุ่มเล็กที่ไม่เกิน 5 คน ที่ชื่นชอบการเดินทางด้วยตนเอง พร้อมทั้งลดข้อจำกัดของการเช่ารถรายวันที่มักต้องส่งคืนที่สนามบินหรือจุดรับรถของตัวแทนเมื่อครบกำหนดเวลาด้วยค่าบริการแบบเหมาจ่าย ทำให้มีความยืดหยุ่นในการเลือกประเภทการเดินทางได้มากขึ้น ถ้าธุรกิจ car sharing ขยายตัวได้มากขึ้นจะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับธุรกิจให้บริการที่จอดรถ และธุรกิจประกันภัย เพื่อทดแทนการแข่งขันด้านราคา ผู้ให้บริการจำเป็นต้องเสริมจุดเด่น

             ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความสะดวกสบายในการใช้บริการ เช่น ร่วมมือกับที่พักอาศัย อย่างคอนโด หมู่บ้าน หรือ ร่วมมือกับอาคารสำนักงานในบริการแบบ business to business รวมไปถึงความร่วมมือกับผู้ให้บริการสถานที่จอดรถเพื่อให้เกิดความสะดวกสบายในการรับและคืนรถในรูปแบบ network parking นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสที่ดีสำหรับธุรกิจประกันภัยในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่เหมาะสมต่อการให้บริการ car sharing สำหรับผู้ให้บริการ (B2C) และสำหรับเจ้าของรถให้เช่า (P2P) เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีแก่ผู้ให้บริการและความมั่นใจของผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม การดำเนินธุรกิจ car sharing ในไทยยังพบว่ามีข้อจำกัดทั้งการครอบคลุมของระบบขนส่งสาธารณะและปริมาณจุดจอดรถไม่เพียงพอ อีกทั้งไม่สามารถตอบโจทย์การใช้งานของผู้บริโภคในไทยได้มากนัก แม้กรุงเทพฯ และปริมณฑล จะเป็นเมืองที่มีประชากรจำนวนมากและมีระบบขนส่งสาธารณะในหลากหลายรูปแบบ ทั้งขนส่งระบบรางอย่าง BTS, MRT, เรือด่วนคลองแสนแสบและแม่น้ำเจ้าพระยา รวมไปถึงรถประจำทาง แต่ระบบขนส่งสาธารณะเหล่านี้ยังไม่ครอบคลุมในทุกพื้นที่ และไม่มีการเชื่อมโยงกันมากพอที่จะทำให้ผู้บริโภคพิจารณาลดการเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว รวมถึงจุดจอดรถ เช่น อาคารจอดแล้วจร ยังมีปริมาณน้อยและไม่กระจายตัวไปยังบริเวณชานเมือง อีกทั้งยังไม่มีการกำหนดพื้นที่จอดรถสาธารณะในเขตชุมชนหรือย่านการค้า

         ส่งผลกระทบให้การบริการ car sharing ในรูปแบบ B2C ไม่สามารถให้บริการในลักษณะ one way trip ได้และหากพิจารณาในแง่ของการเดินทางหลายๆ ต่อ รูปแบบการเดินทางขั้นสุดท้ายก่อนถึงจุดหมายปลายทาง ยังคงมีตัวเลือกอื่นที่เหมาะสมกว่า เช่น แท็กซี่ หรือรถจักรยานยนต์รับจ้าง รวมถึงยังมีบริการ ride sharing ประเภทอื่น เป็นต้น ซึ่งมีความคล่องตัวและมีค่าใช้จ่ายในการใช้บริการที่ต่ำกว่า ทั้งนี้ การให้บริการ car sharing มีการจัดเก็บค่าบริการเป็น 2 ส่วน คือ ค่าสมาชิกรายเดือน (member subscription fee) และค่าใช้บริการต่อครั้งตามระยะเวลา (pay per usage) ซึ่งขัดต่อลักษณะการบริโภคของคนไทยที่มักใช้จ่ายกับค่าบริการที่คิดเป็นรายครั้ง มากกว่าการที่มีค่าสมาชิกรายเดือนร่วมด้วย เช่น ในธุรกิจเพลงดิจิทัลซึ่งมีการให้บริการในรูปแบบการจำหน่ายเพลงสำหรับดาวน์โหลด และบริการฟังเพลงออนไลน์ (music streaming) ที่คิดค่าบริการเป็นรายเดือน ซึ่งพบว่าสัดส่วนมูลค่าตลาดเพลงในปี 2015 เป็นของ music streaming เพียง 2% เท่านั้น