การะเกด สิงห์ทอง เล่าว่า ตั้งแต่ช่วงที่เธอกำลังศึกษาอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งถือได้ว่าเป็นหนึ่งในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต ที่จะเลือกคณะ และมหาวิทยาลัยที่จะศึกษาต่อนั้น มีความคิดอย่างมุ่งมั่นว่า หลังจากเรียนจบแล้วต้องการจะประกอบธุรกิจของตนเอง ดังนั้น จึงเริ่มคิดทบทวนจากสิ่งที่ตัวเธอสนใจ และทำให้สรุปออกมาเป็น 3 สิ่งที่วัยรุ่นเจนซี (Gen Z) ต้องรู้หากต้องการเริ่มต้นธุรกิจ ดังนี้
รู้สิ่งที่ตนเองสนใจ และสิ่งที่ตนเองถนัด “การเริ่มต้นที่ดีที่สุดสำหรับการหาไอเดียธุรกิจ คือ การเริ่มพิจารณาถึงสิ่งที่สนใจและจุดแข็งที่เป็นสิ่งถนัดของตนเอง เนื่องจากจะเป็นสิ่งกระตุ้นที่ทำให้มีแรงผลักดันในการทำธุรกิจอย่างเต็มที่โดยไม่ย่อท้อ สำหรับเกดแล้ว สิ่งที่ตัวเองถนัดคือ ความรู้วิทยาศาสตร์ด้านเคมี เนื่องจากประทับใจในความพิเศษของศาสตร์นี้ ที่สามารถนำไปใช้ในการพัฒนานวัตกรรม และต่อยอดทางด้านธุรกิจมากมาย เช่น ได้ศึกษาถึงเมนูอาหารที่รับประทานแล้วไม่อ้วน และสามารถเก็บได้นานโดยไม่ต้องแช่เย็นด้วยการเติมสารไคโตซาน ซึ่งไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยจุดนี้นี่เองที่เป็นการจุดประกายถึงช่องทางในการพัฒนาธุรกิจของตนเอง”
รู้เทรนด์ และกระแสธุรกิจ “เพราะเทรนด์และกระแสต่างๆ เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องใส่ใจเพื่อให้ธุรกิจที่จะสร้างนั้นตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างตรงความต้องการ ซึ่งเกดได้ทำการศึกษาข้อมูลเรื่องเทรนด์ และเทคนิคการทำธุรกิจจนได้ข้อสังเกตว่า ขณะนี้กระแสรักสุขภาพกำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในประเทศไทย อันเห็นได้จากหลากหลายธุรกิจที่เกี่ยวข้องมีความเติบโตขึ้นเป็นอย่างมาก ทั้งธุรกิจฟิตเนส ธุรกิจเสื้อผ้ากีฬา/อุปกรณ์กีฬา ธุรกิจฟาร์มผักไฮโดรโปนิกส์ และล่าสุดกับธุรกิจร้านอาหารเพื่อสุขภาพอย่าง เอ็มเค ไลฟ์ (MK Live) ฯลฯ จึงเป็นผลให้เกิดแรงผลักดันและมีความสนใจที่จะทำธุรกิจเกี่ยวกับด้านสุขภาพอย่างจริงจัง”
รู้นวัตกรรม และเทคโนโลยี “ในยุคปัจจุบัน นวัตกรรมและเทคโนโลยีถือเป็นตัวแปรสำคัญสำหรับธุรกิจ ซึ่งถือว่าเป็นข้อได้เปรียบของวัยรุ่นเจนซี ที่ถือได้ว่ามีความคุ้นเคยกับนวัตกรรมมาตั้งแต่เด็ก โดยหัวใจสำคัญของการรู้นวัตกรรรมดังกล่าว คือการเลือกประยุกต์ใช้นวัตกรรมที่ถูกต้องเหมาะสม และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจได้อย่างมีศักยภาพ อาทิเช่น การเลือกใช้เทคโนโลยี Active Packaging สำหรับยืดอายุผักหรือผลไม้สด ให้สามารถวางขาย/ส่งออกต่างประเทศได้ “ อย่างไรก็ตาม 3 ข้อสำคัญข้างต้น เป็นทั้งสิ่งที่สามารถหาได้ภายในห้องเรียน คือ การเลือกเรียนต่อยอดสิ่งที่ตนเองสนใจ คือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการเลือกเรียนพื้นฐานความรู้ทางธุรกิจ รวมไปถึงการ “หาประสบการณ์นอกห้องเรียน”
ซึ่งการะเกดได้หาประสบการณ์นอกห้องเรียนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเติมเต็มความรู้ในการพัฒนาธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเข้าร่วมแข่งขันประกวดแผนธุรกิจ เมื่อปี 2559 ที่ผ่านมา เพื่อทดสอบความรู้ความสามารถในการวางแผนธุรกิจ และพัฒนาตัวเองไปในตัวแล้ว โดยล่าสุด เมื่อต้นปี 2560 ที่ผ่านมา ยังได้เข้าร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมที่ประเทศเวียดนาม โดยมีโอกาสไปสัมผัสย่านธุรกิจสตาร์ทอัพ ดื่มด่ำรสชาติกาแฟออแกนิคที่มีกลิ่นหอมกรุ่น และอาหารพื้นเมืองของเวียดนาม ที่ส่วนใหญ่เป็นเมนูอาหารเพื่อสุขภาพทั้งสิ้น จึงทำให้ได้ไอเดียมาต่อยอดธุรกิจกาแฟออแกนิค (Organic Cafe) เป็นอย่างมาก ซึ่งเธอตั้งใจให้เป็นพื้นที่ของการพบปะสังสรรค์ของคนเมือง ในบรรยากาศที่อบอวลไปด้วยกลิ่นกาแฟที่ช่วยผ่อนคลาย และเมนูอาหาร เครื่องดื่มที่ได้จากธรรมชาติ 100% รวมถึงเป็นพื้นที่ที่เปิดให้เลือกซื้อผักไฮโดรโปนิกส์กันแบบสดๆ จากพื้นที่ของเกษตรกร
หลังจากเรียนจบ การะเกด ตั้งใจไว้ว่า จะรวบรวมทุกความรู้ที่ได้ทั้งในด้านวิทยาศาสตร์-บริหาร (SCI+BUSINESS) วางแผนธุรกิจร้านกาแฟออแกนิคที่ตนวาดฝันไว้ให้สำเร็จ ควบคู่ไปกับออกเดินทางไปแรงบันดาลใจ และประสบการณ์ใหม่ๆ เพิ่มเติม เพื่อให้สามารถพัฒนาธุรกิจให้มีความโดดเด่น แปลกใหม่ และแตกต่างจากที่อื่น