ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

“หนีห่าว มาร์เก็ตติ้ง” 3 ธุรกิจมงลง!! รับทรัพย์นักเที่ยวจีนสไตล์ FIT


              

    ฉัฐอำไพ ธงชัย นักศึกษาปริญญาโท สาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการมหิดล ตัวแทนทีมวิจัย “หนีห่าว มาร์เก็ตติ้ง” เคล็ดลับมัดใจนักท่องเที่ยวจีนสไตล์ FIT กล่าวว่า จากการค้นคว้าข้อมูลพฤติกรรมการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวชาวจีน พบว่าปัจจุบันเทรนด์นักท่องเที่ยวจากจีนที่หลั่งไหลเข้ามายังประเทศไทย โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนรุ่นใหม่ นิยมเดินทางเป็นกลุ่มด้วยตัวเอง หรือเรียกสั้นๆ ว่า FIT (Free and Independent Traveler) ที่น่าสนใจคือนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีกำลังซื้อสูง และในปี 2560 มีแนวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ธุรกิจของไทยที่มีฐานลูกค้าเป็นนักท่องเที่ยวชาวจีนมีโอกาสเติบโตอีกมาก ทีมวิจัยจึงทำการศึกษาวิจัยทั้งเชิงปริมาณโดยการสอบถาม นักท่องเที่ยวชาวจีนกลุ่ม FIT จำนวน 403 คน และเชิงคุณภาพโดยการสัมภาษณ์เชิงลึกอีก 30 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงอยู่ในช่วงอายุ 18-35 ปี การศึกษาระดับปริญญาตรีขึนไป ในหลากหลายอาชีพและรายได้เฉลี่ยต่อเดือนส่วนใหญ่อยู่ในช่วง 3,000 – 12,000 หยวน หรือ 15,000 – 60,000 บาท พบว่า เหตุผลที่นักท่องเที่ยวจีนรุ่นใหม่นิยมเดินทางมาท่องแบบอิสระ เพราะประเทศไทยมีความหลากหลายและบรรยากาศดึงดูดให้มาท่องเที่ยว ที่สำคัญการเดินทางมาเที่ยวเมืองไทยคุ้มค่ากับเงินที่จ่าย อาหารไทยอร่อย ถูก และดี และคนไทยอัธยาศัยดี มีวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงาม ทั้งนี้ ระยะเวลาในการมาท่องเที่ยวเมืองไทยต่อทริป เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 5-7 วัน มีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 25,000 – 50,000 บาทต่อทริป โดยรูปแบบการจ่ายเงินชาวจีนชอบจ่ายค่าสินค้าและบริการ ผ่านธนาคารอินเตอร์เน็ตที่คนจีนนิยม คือ Alipay รองลงมาคือ WeChat pay และใช้เงินสด ตามลำดับ ซึ่งจากการวิเคราะห์รายละเอียดเชิงลึกสามารถแบ่งสัดส่วนการใช้จ่าย ของนักท่องเที่ยวชาวจีนแบบอิสระออกเป็น 3 หมวดใหญ่ ได้แก่

หมวดที่ 1: ชิล คือ การใช้จ่ายในหมวดที่พักและกิจกรรมผ่อนคลาย ในหมวดนี้ถือเป็นค่าใช้จ่ายที่มากที่สุดของการท่องเที่ยว โดยในปัจจุบันที่พักที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวชาวจีนแบบอิสระ ไม่ได้จำกัดแค่การพักในโรงแรมเท่านั้นเพราะยังมีช่องทางในการจองที่พักมากมาย ไม่ว่าจะจากเว็ป Travel agency ต่างๆ สำหรับปัจจัยสำคัญที่ช่วยในตัดสินใจเลือกที่พักนั้น ส่วนใหญ่ดูจากการรีวิวและคอมเมนต์ของลูกค้าก่อนหน้าที่เคยใช้บริการ ซึ่งนอกจากราคาไม่แพงมาก ทำเลที่ตั้งต้องเดินทางสะดวก และการบริการของพนักงานแล้ว ยังดูถึงรสชาติของอาหารด้วย และที่ถือเป็นตัวช่วยที่หลายคนคาดไม่ถึงก็คือ การมีสัตว์เลี้ยงน่ารักๆ ประจำที่พัก ซึ่งทำให้เกิดการบอกต่อและอยากมาถ่ายรูปเพื่ออัพลงโซเชียลมีเดีย ส่วนกิจกรรมผ่อนคลายที่นักท่องเที่ยวจีนชื่นชอบมากที่สุด คือการนวดผ่อนคลายความเมื่อยล้าจากการท่องเที่ยว โดยนอกจากในกรุงเทพฯ แล้ว ตามหัวเมืองท่องเที่ยวเช่น เชียงใหม่ และภูเก็ต ก็ได้รับความนิยมเช่นกัน

หมวดที่ 2: ช็อป คือ การใช้จ่ายในการซื้อสินค้าไทย นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มักซื้อไปใช้เอง โดยกลุ่มสินค้าที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ 1.อาหารไทย 2.ขนมกินเล่น และ 3.เครื่องสำอาง รองลงมาเป็นของฝากและซื้อไปขายต่อตามลำดับ สำหรับปัจจัยที่นักท่องเที่ยวจีนพิจารณาก่อนควักเงินซื้อ คือคุณภาพของสินค้าและบรรจุภัณฑ์ที่มีความเป็นเอกลักษณ์ เช่น ลวดลายที่บ่งบอกถึงความเป็นไทย รวมไปถึงการมีคำอธิบายคุณสมบัติและแหล่งที่มาเป็นภาษาจีนและภาษาอังกฤษ ที่สำคัญบรรจุภัณฑ์ต้องสามารถมองเห็นสินค้าภายในได้อย่างชัดเจน ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการตลาด โดยนอกจากมีตัวอย่างให้ทดลอง การสื่อสารด้วยข้อความลดราคาแบบ 50% จะสามารถจูงใจให้เกิดการตัดสินใจซื้อได้มากกว่าการสื่อสารแบบซื้อ 1 แถม 1 การจัดโปรโมชั่นแบบซื้อครบยอดที่กำหนดแล้วได้ส่วนลดหรือได้ของแถมเพิ่ม และอีกเทคนิคมัดใจที่ช่วยเพิ่มโอกาสการในการขายได้มากขึ้น คือการที่พนักงานขายสามารถสื่อสารให้ข้อมูลเป็นภาษาจีน และเลือกพรีเซนเตอร์ดาราไทยที่คนจีนชื่นชอบ

หมวดที่ 3: ชิม คือ การใช้จ่ายในการรับประทานอาหาร ปัจจัยที่นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เลือกร้านอาหาร คือ 1. ใกล้ที่พัก 2.ใช้เวลาเดินทางไม่นาน 3.คำแนะนำจากเพื่อนและอ่านจากเว็บไซต์ต่างๆ ฉัฐอำไพ กล่าวว่า จากการศึกษาวิจัยภายใต้หัวข้อ “หนีห่าว มาร์เก็ตติ้ง” เคล็ดลับมัดใจนักท่องเที่ยวจีนสไตล์ FIT โดยการวิเคราะห์พฤติกรรมนักท่องเที่ยวและปัจจัยในการใช้จ่ายเงิน สามารถสรุปเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จเพื่อเป็นแนวทางให้ผู้ประกอบการได้นำไปใช้เพื่อพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์มัดใจนักท่องเที่ยวจีน ภายใต้คอนเซ็ปต์ “T-H-A-I” ได้แก่ T : Trust รักษามาตรฐานสินค้าและบริการของไทยให้มีคุณภาพ เพื่อสร้างความมั่นใจ ส่งผลให้เกิดการซื้อซ้ำและบอกต่อ  H: Hospitality ดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานของความจริงใจ ให้บริการด้วยอัธยาศัยแบบไทย สร้างความไว้วางใจและรักษาความสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง A: Awareness สร้างการรับรู้ กระตุ้นจุดสนใจ ดึงดูดด้วยภาษาจีน สื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ I: Identity สร้างอัตลักษณ์ของแบรนด์ให้ชัดเจนมีความโดดเด่นและแตกต่าง สร้างแบรนด์ให้มีคุณค่าเพื่อให้นักท่องเที่ยวจีนระลึกถึง

  ผู้ประกอบการธุรกิจ นักการตลาด และบุคคลทั่วไปที่สนใจในการทำธุรกิจที่ต้องการเจาะตลาดกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางท่องเที่ยวด้วยตัวเอง สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ วิทยาลัยการจัดการมหิดล หมายเลขโทรศัพท์ 02-206-2000 หรือเข้าไปที่ www.facebookcom/cmmu.nihaomarketing