‘จันทบุรี’ มีลักษณะภูมิประเทศตอนบนเป็นภูเขามีความลาดชันสูงส่วนตอนล่างเป็นที่ราบชายฝั่งทะเลประกอบกับอยู่ในเขตลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ทำให้มีปริมาณฝนมากเฉลี่ยถึง 2,600 มม.เมื่อฝนตกทางพื้นที่ตอนบนน้ำจะไหลลงสู่พื้นที่ตอนล่างผ่านกลางเมืองจันทบุรีรวมทั้งพื้นที่บริเวณข้างเคียงเช่นตำบลจันทนิมิตท่าช้างพลับพลานารายณ์คลองนารายณ์จึงทำให้เกิดน้ำท่วมเป็นประจำในช่วงฤดูฝน นอกจากนี้การพัฒนาเมืองและชุมชนที่ขยายออกไปมีการเพิ่มสิ่งก่อสร้างถมดินสิ่งเหล่านี้เข้าไปขวางทางน้ำไหลแทนที่น้ำจะไหลลงทะเลเร็วกลับกลายไปเป็นการชะลอน้ำให้ขังอยู่ในเมืองยิ่งถ้าเป็นช่วงที่มีน้ำทะเลหนุนยิ่งทำให้การระบายล่าช้าออกไปอีก 3-5 วันอีกทั้งจังหวัดจันทบุรียังไม่มีแหล่งชะลอหรือเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ทำให้ชีวิตคนที่นี่ต้องขึ้นอยู่กับน้ำจากฝนอย่างเดียว
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2542 ชาวจันทบุรีต้องเผชิญอุทกภัยครั้งใหญ่ในรอบ100 ปีอันเป็นผลมาจากปริมาณฝนที่ตกต่อเนื่องเฉลี่ย 3,500 มม. ก่อให้เกิดอุทกภัยในพื้นที่ 3 อำเภอ 1 กิ่งอำเภอสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและทางราชการเป็นจำนวนมากมูลค่าความเสียหายกว่า 2,000 ล้านบาท ท่ามกลางสายน้ำที่เชี่ยวกรากจากเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ครั้งนั้นอยู่ในสายพระเนตรของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมาโดยตลอดทรงห่วงใยและทรงพิจารณาหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเมืองจันทบุรีให้กับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องนำไปพิจารณาดำเนินการดังพระราชดำรัสความตอนหนึ่งว่า
“มีถนน 3 สายขนานกันที่กั้นน้ำวิธีที่จะทำก็คือต้องดูว่าน้ำมันลงมาที่ไหนก็ดูได้ถ้าผู้ว่าราชการจังหวัดไปดูก็จะเห็นได้ไปสำรวจดูว่าน้ำจะลงทางไหนแล้วก็ได้ทำการระบายน้ำคือช่องระบายน้ำที่สอดคล้องกันและถึงเวลาฝนลงมาน้ำลงมาก็สามารถที่จะระบายออกไปได้ไม่มีปัญหาสามารถที่จะระบายน้ำออกไปไม่ให้ประชาชนเดือดร้อนถ้าถึงเวลาที่ต้องการน้ำเก็บเอาไว้ก็มีทำเป็นประตูน้ำกักเอาไว้ไม่ให้น้ำไหลไปโดยไร้ประโยชน์แต่ถึงเวลาก็ปล่อยน้ำออกไปได้” กรมชลประทานได้น้อมนำกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมาเป็นแนวทางในการดำเนินงานโดยรัฐบาลได้มอบหมายให้กรมชลประทานศึกษาออกแบบและดำเนินการก่อสร้างจึงเป็นที่มาของคลองผันน้ำสายใหม่ (คลองภักดีรำไพ) ภายใต้โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองจันทบุรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืนโดยกรมชลประทานได้ทำการขุดคลองผันน้ำสายใหม่เริ่มต้นจากทุ่งลาซาลตำบลจันทนิมิตผ่านทุ่งสระบาปเชื่อมต่อคลองอ่างลงทะเลที่บ้านหนองบัวความยาว 11.6 กิโลเมตรแยกจากแม่น้ำจันทบุรีก่อนเข้าถึงตัวเมืองเหนือฝายยางเพื่อผันน้ำส่วนเกินศักยภาพของแม่น้ำจันทบุรีที่รองรับปริมาณน้ำได้ 500 ลบ.ม./วินาทีไม่ให้ไหลเข้าสู่ตัวเมืองจันทบุรีแล้วระบายออกสู่ทะเลโดยสามารถผันน้ำจากแม่น้ำจันทบุรีได้สูงสุด 300 ลบ.ม./วินาที
นายสัญชัยเกตุวรชัยอธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่าขณะนี้กรมชลประทานได้ดำเนินการก่อสร้างคลองผันน้ำสายใหม่ (คลองภักดีรำไพ) ตั้งแต่ปี 2552 ภายใต้โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองจันทบุรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริเสร็จสมบูรณ์เป็นที่เรียบร้อยแล้วโดยมีอาคารควบคุมบังคับน้ำขนาดใหญ่ 3 แห่งประกอบด้วยประตูระบายน้ำปากคลองผันน้ำทำหน้าที่รับน้ำจากแม่น้ำจันทบุรีเข้าสู่คลองผันน้ำสายใหม่ประตูระบายน้ำคลองอ่างทำหน้าที่ทดน้ำและเก็บกักน้ำไว้ในคลองและสถานีสูบน้ำและประตูระบายน้ำคลองตะเคียนทำหน้าที่ป้องกันการรุกล้ำของน้ำเค็มและระบายน้ำในกรณีน้ำทะเลหนุนสูงจะทำการปิดบานจำนวน 8 บานและใช้เครื่องสูบน้ำจำนวน 10 เครื่องสูบระบายน้ำออกสู่ทะเลและฝั่งตะวันออกของคลองจะมีอาคารสถานีสูบน้ำและประตูระบายน้ำจำนวน 4 แห่งทำหน้าที่รับน้ำจากเทือกเขาสระบาปเข้าสู่คลองผันน้ำสายใหม่ไม่ให้ไหลบ่าเข้าสู่เขตเมืองจันทบุรีและนอกจากเรื่องของการบรรเทาอุทกภัยแล้วคลองผันน้ำสายใหม่(คลองภักดีรำไพ)
ยังเป็นแหล่งกักเก็บน้ำจืดเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคได้อีกประมาณ 2 ล้านลบ.ม. เพิ่มพื้นที่ชลประทานได้อีกจำนวน 5,000 ไร่นอกจากนี้2 ฝั่งคลองยังมีทัศนียภาพที่ดีประชาชนสามารถใช้เป็นสถานที่ออกกำลังกายและพักผ่อนหย่อนใจได้อีกด้วย “ในช่วงระหว่างดำเนินการก่อสร้างกรมชลประทานได้เปิดช่องทางน้ำพร่องน้ำจากแม่น้ำจันทบุรีในช่วงฤดูฝนเพิ่มช่องทางระบายน้ำจากบริเวณเหนือฝายยางตำบลจันทนิมิตลงสู่ทะเลสามารถป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในเขตเมืองจันทบุรีได้เป็นอย่างดีทำให้ตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมาเขตเมืองจันทบุรีไม่เกิดภาวะน้ำท่วมทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ประสบปัญหาน้ำท่วมเกือบทุกปีและจากนั้นเป็นต้นมาหากครั้งใดที่เกิดฝนตกหนักคลองภักดีรำไพได้ช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมเมืองจันทบุรีไม่ให้ต้องจมอยู่ใต้สายน้ำเหมือนเมื่อเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อครั้งปี 2542” อธิบดีกรมชลประทานกล่าว คลองผันน้ำสายใหม่ (คลองภักดีรำไพ) ภายใต้โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองจันทบุรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริไม่เพียงแต่ช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมเมืองจันทบุรียังเป็นแหล่งน้ำจืดแห่งใหม่เป็นแหล่งน้ำเพื่อใช้ในการเกษตรสามารถที่จะปลูกพืชผักผลไม้ได้หลายชนิดสร้างอาชีพและรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่อย่างอเนกอนันต์
นายสาครทองนพคุณผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ตำบลเกาะขวางบอกถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นว่าก่อนมีคลองน้ำท่วมเป็นประจำที่นาเสียหายทุกปีเพราะเป็นสภาพธรรมชาติหน้าฝนก็ท่วมพอข้าวออกรวงน้ำท่วมก็เสียหายปีไหนดวงดีหน่อยน้ำท่วมก่อนจะออกรวงก็ไม่เสียหาย “ก่อนมีคลองคนเกาะขวางทำอาชีพรับจ้างเยอะพวกก่อสร้างทาสีพอมีคลองก็มีน้ำทำเกษตรเพิ่มก่อนนี้ทำนาอย่างเดียวก็มีทำสวนพืชผักปลูกมังคุดเมื่อก่อนน้ำไม่พอใช้เดี๋ยวนี้มีการบริหารจัดการมีน้ำเต็มคลองน้ำในบ่อของชาวบ้านก็พลอยเต็มไปด้วยตอนนี้ก็ปลูกมังคุดกันมากขึ้นเรื่อยๆและทำนาน้อยลงพื้นที่ทำนาลดลงเพราะช่วงที่ทำนาไม่ได้ผลเจอน้ำท่วมน้ำแล้งน้ำทะเลหนุนเข้ามาเป็นแบบนี้ซ้ำซาก”นายสาครกล่าว
นายกุญชรโพธิมนกรรมการหมู่บ้านและเกษตรกรชาวสาวนผลไม้หมู่๑ตำบลเกาะขวางบอกถึงการมีแหล่งน้ำจืดแห่งใหม่ในพื้นที่ทำให้เกษตรกรเริ่มมีการวางแผนเพาะปลูกพืชผักสวนครัวและผลไม้หลากหลายชนิด “ตอนนี้ก็ดูเชิงกันอยู่ว่าน้ำจะพอใช้ตลอดปีไหมแล้วจึงจะวางแผนเพาะปลูกถ้าเป็นทุเรียนจะขาดน้ำไม่ได้เลยน้ำเยอะก็ไม่ได้น้ำท่วมก็ไม่ได้ของเราอยู่ปลายน้ำคลองเพิ่งเริ่มเก็บกักน้ำเป็นปีแรก (2560) ต้องรอดูผลเป็นฤดูแล้งปีแรกหลังจากมีคลองตอนนี้ปลูกกล้วยไว้หน่อยเพราะปลูกง่ายกว่าอย่างอื่นทนน้ำกร่อยได้ราคาดีด้วยแล้วก็มีปลูกหม่อนอีกนิดหน่อย”
นายกุญชรกล่าว นอกเหนือจากการเกษตรแล้วด้วยทัศนียภาพอันงดงามของ 2 ฝั่งคลองคลองภักดีรำไพจึงเป็นสถานที่ผักผ่อนหย่อนใจและออกกำลังกายของชาวเมืองจันทบุรีอีกทั้งยังเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนในพื้นที่เนื่องจากเป็นคลองที่เกิดจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจึงเกิดความรักหวงแหนและช่วยกันดูแลรักษา นับเป็นอีกหนึ่งโครงการในพระราชดำริที่แสดงให้เห็นถึงน้ำพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตรที่ทรงมุ่งมั่นแก้ไขให้ราษฎรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นไม่ต้องประสบกับปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่อีกต่อไปและยังได้พระราชทานนามคลองผันน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริว่า ‘คลองภักดีรำไพ’เพื่อเป็นการระลึกถึงสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมราชินีในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ และถึงแม้ว่าโครงการจะสิ้นสุดลงกรมชลประทานยังคงแสวงหาแนวทางที่จะต่อยอดโครงการพระราชดำริให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนด้วยตระหนักถึงความสำคัญของการช่วยเพิ่มแหล่งน้ำต้นทุนเพราะถึงแม้ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วแต่การผลิตอาหารส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรมเป็นหลักด้วยเหตุนี้การชลประทานที่มีประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำที่เป็นระบบสร้างความมั่นคงเรื่องน้ำให้กับภาคตะวันออกจะช่วยให้การผลิตอาหารเพื่อสนองตอบความต้องการที่เพิ่มขึ้นมีความเพียงพอและยั่งยืน…