แน่นอนว่าโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไปดังกล่าว ส่งผลให้กลุ่มผู้สูงอายุกลายเป็นผู้บริโภคที่ทรงอิทธิพลและเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่จะมีผลต่อทิศทางและความอยู่รอดของภาคธุรกิจมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวได้กลายเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายสำหรับผู้ประกอบการในภาคธุรกิจต่างๆ รวมถึงผู้ประกอบการในธุรกิจอาหาร ในการปรับตัวและเตรียมความพร้อมเพื่อช่วงชิงพื้นที่และตอบโจทย์ความต้องการที่เฉพาะเจาะจงของผู้บริโภคกลุ่มนี้ “ญี่ปุ่น” ซึ่งมีสัดส่วนจำนวนผู้สูงอายุมากที่สุดในโลก ถือเป็นประเทศต้นแบบของนวัตกรรมและสินค้าเพื่อผู้สูงอายุในหลากหลายด้านซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารด้วย หนึ่งในผู้เล่นซึ่งมองเห็นโอกาสนี้และมีการปรับตัวที่น่าสนใจคือ บริษัทคิวพี ผู้นำด้านการผลิตอาหารเด็กและมายองเนส โดยได้ริเริ่มผลิตผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับผู้สูงอายุมานานกว่า 10 ปีแล้ว โดยอาศัยเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญในเรื่องการผลิตอาหารเด็กที่มีอยู่เดิมมาต่อยอดเพื่อผลิตอาหารให้กับกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งมีทั้งอาหารแบบปรุงสดและผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปที่วางจำหน่ายตามซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านขายยาทั่วไป
รวมถึงบริการจัดส่งอาหารตามบ้าน (home delivery) อีกด้วย จุดเด่นของผลิตภัณฑ์อาหารเหล่านี้คือ มีผิวสัมผัสที่นุ่มนวลสามารถบดเคี้ยวและกลืนได้ง่าย เพื่อตอบโจทย์ผู้สูงอายุที่มักมีปัญหาในเรื่องเหงือกและฟัน อีกทั้งยังใช้วัตถุดิบและส่วนผสมหลักที่ทำจากปลาและผัก ซึ่งนอกจากจะเป็นอาหารที่ย่อยง่ายและดีต่อระบบขับถ่ายแล้ว ยังมีรสชาติที่ถูกปากผู้สูงวัยชาวญี่ปุ่นอีกด้วย
แม้แต่บริษัทผู้ผลิตอาหารพร้อมทาน (ready meals) ในสหรัฐฯ ก็มีการแตกไลน์ธุรกิจใหม่เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคในยุค Baby Boomers เช่นเดียวกัน โดยมีการออกผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมทานสำหรับผู้สูงอายุขึ้นมาโดยเฉพาะ พร้อมมีบริการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์และบริการจัดส่งตามบ้านควบคู่กันไปด้วย
โดยผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะถูกปรุงขึ้นจากวัตถุดิบธรรมชาติที่สดใหม่มีคุณภาพ และมีการออกแบบสูตรอาหารพิเศษที่เหมาะกับผู้สูงวัยโดยเฉพาะ อาทิ มีปริมาณโซเดียม น้ำตาล และไขมันต่ำ รวมทั้งยังมีอาหารพร้อมทานสูตรพิเศษสำหรับผู้สูงอายุซึ่งป่วยเป็นโรคเบาหวานหรือโรคไตอีกด้วย ซึ่งนอกจากผลิตภัณฑ์อาหารเหล่านี้จะช่วยตอบโจทย์ในเรื่องความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้สูงอายุที่ต้องอาศัยอยู่คนเดียวแล้ว ยังช่วยให้ผู้สูงอายุได้รับสารอาหารต่างๆ ที่จำเป็นในแต่ละมื้ออย่างครบถ้วนและสมดุล รวมทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุจากการทำครัวได้อีกด้วย
อย่างไรก็ดี หากเราหันกลับมามองตลาดไทย จะพบว่าในปัจจุบันแทบจะยังไม่มีผู้ประกอบการในธุรกิจอาหารรายใดที่หันมาจับตลาดกลุ่มผู้สูงอายุอย่างชัดเจน ทั้งๆ ที่เป็นตลาดซึ่งมีคนพูดถึงมานานแล้ว อีกทั้งยังเป็นตลาดที่ผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูงและมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะความคิดที่ว่าตลาดนี้ยังถือเป็นตลาดที่เล็กอยู่ค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับตลาดผู้บริโภครุ่นใหม่และกลุ่มทั่วไป ประกอบกับความรู้ความเข้าใจที่ยังน้อยอยู่เกี่ยวกับพฤติกรรมหรือความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มนี้ เนื่องจากผู้สูงอายุมักไม่ค่อยแสดงความคิดเห็นหรือสะท้อนความต้องการของตนเองออกมา จนได้ชื่อว่าเป็น “Silence consumer” บนโลกออนไลน์ อีกทั้งยังมีช่องทางในการแสดงออกหรือสื่อสารที่จำกัดกว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่ ดังนั้น ผู้ประกอบการควรเร่งศึกษาและทำความเข้าใจพฤติกรรมของกลุ่มผู้สูงอายุเพื่อให้สามารถคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารที่ตอบโจทย์ความต้องการและโดนใจผู้บริโภคกลุ่มนี้ เพื่อเข้าไปเติมเต็มช่องว่างทางธุรกิจและคว้าโอกาสก้อนโตที่รออยู่ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องมีการวางตำแหน่งของผลิตภัณฑ์และสร้าง brand image ที่ชัดเจนควบคู่กันไปด้วย เพราะนอกจากจะเป็นการสร้างภาพจำในใจผู้บริโภคแล้ว ยังเป็นกลยุทธ์ที่ช่วยสร้าง brand loyalty ได้อีกด้วย เนื่องจากผู้บริโภคกลุ่มนี้มักไม่ค่อยเปลี่ยน brand หากมีความพึงพอใจในตัวสินค้าเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
ขณะเดียวกัน ต้องไม่ลืมว่า “บรรจุภัณฑ์” คืออีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเลือกซื้อสินค้าและความสำเร็จของธุรกิจอาหารเพื่อผู้สูงอายุ ดังนั้น การออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะสมกับข้อจำกัดทางกายภาพและสอดคล้องกับพฤติกรรมการบริโภคของผู้สูงอายุจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงให้บรรจุภัณฑ์นั้นสามารถเปิด-ปิดได้ง่าย สะดวก ปลอดภัย และน้ำหนักเบา มีปริมาณที่พอเหมาะกับความต้องการบริโภคของผู้สูงอายุในแต่ละมื้อซึ่งมักจะรับประทานอาหารในปริมาณที่น้อยลง รวมไปถึงการปรับให้ตัวอักษรบนฉลากมีขนาดที่ใหญ่ขึ้นและเลือกใช้สีที่เหมาะสมเพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุซึ่งมักมีปัญหาด้านสายตาสามารถอ่านได้ง่ายและชัดเจนมากขึ้น นอกจากนี้ ข้อมูลบนฉลากยังต้องระบุถึงข้อมูลด้านโภชนาการอย่างครบถ้วน ชัดเจนและใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย และที่สำคัญต้องไม่ระบุบนฉลากว่าเป็น “อาหารสำหรับผู้สูงอายุ”
เนื่องจากเป็นประเด็นที่ค่อนข้างอ่อนไหวและอาจจะกระทบกับยอดขายสินค้าได้ ซึ่งเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่ละเอียดอ่อนเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการไม่ควรมองข้าม หากต้องการเอาชนะใจผู้บริโภคกลุ่มนี้อย่างแท้จริง