ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

จานด่วนแบบไม่ Junk! เทรนด์ขายอาหาร เอาใจคนเมือง


          

เนื่องจากรายได้ของบริษัทลดลงในช่วงปี 2014-2016 ในขณะที่ร้าน fast casual อย่าง Shake Shack กลับมีรายได้ที่เติบโตโดยเฉลี่ยปีละ 48% ในช่วงเวลาเดียวกันทั้งนี้ Shake Shack เติบโตขึ้นจากร้านรถเข็นเล็กๆ ใน Madison Square Park สู่ร้านเบอร์เกอร์ชื่อดังที่มีสาขากว่า 129 แห่ง จุดเด่นของร้านอยู่ที่วัตถุดิบที่ไม่ได้ใช้เนื้อเบอร์เกอร์แช่แข็งเหมือนกับร้านอาหารอื่นทั่วไป แต่ใช้เนื้อแองกัสที่เลี้ยงด้วยธรรมชาติ 100% และไม่มีการใช้สารเร่งฮอร์โมนหรือยาปฏิชีวนะใดๆ

       

นอกจากนี้ ยังมีร้านพรีเมียมเบเกอรี่ชื่อดังอย่าง Panera bread อีกหนึ่งแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในธุรกิจนี้ โดยปัจจุบันมีจำนวนสาขารวมทั่วประเทศมากกว่า 2,000 สาขา ซึ่งมีอัตราการเติบโตของยอดขายโดยเฉลี่ยราว 13% ต่อปีตั้งแต่ปี 2006-2016 ส่งผลให้ยอดขายรวมในปี 2016 มีมูลค่าสูงถึงราว 2,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปัจจัยที่ผลักดันให้ Panera bread ประสบความสำเร็จมาจากความหลากหลายของเมนูอาหารและสามารถตอบโจทย์กระแสรักสุขภาพได้ด้วยเมนูอาหารที่ไม่มีส่วนประกอบของกลูเตนและมีไขมันต่ำ นอกจากนี้ลูกค้าที่กำลังควบคุมน้ำหนักยังสามารถเลือกลดขนาดของอาหารเหลือเพียงครึ่งเดียวหรือเปลี่ยนขนมปังให้บางลงได้ด้วย

           

แม้ว่าธุรกิจนี้ในไทยจะยังไม่แพร่หลายนัก แต่สามารถตอบสนองต่อพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีแนวโน้มทานอาหารนอกบ้านบ่อยขึ้น ต้องการความสะดวกรวดเร็ว และห่วงใยสุขภาพมากขึ้น ในปัจจุบันมีกลุ่มร้านอาหารเพียงไม่กี่รายที่ชูจุดเด่นความเป็น fast casual ในการให้บริการลูกค้า เช่น Pepper lunch, Au Bon Pain และ MOS burger เป็นต้น

               

ทั้งนี้ จากผลสำรวจของอีไอซีพบว่าผู้บริโภคไทยราว 30% ยอมจ่ายเงินเพิ่มขึ้นสำหรับการทานอาหารนอกบ้าน สะท้อนถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ต้องการความสะดวกรวดเร็วและยังคงให้ความสำคัญกับมื้ออาหาร ในขณะที่ผู้บริโภคราว 40% มีความกังวลด้านสุขภาพเหนือเรื่องอื่นๆ อย่างรายได้และหน้าที่การงานเมื่อเริ่มมีอายุสูงขึ้น นอกจากนี้ กว่า 90% มีแนวโน้มที่จะยอมจ่ายเงินเพิ่มหากได้รับสินค้าที่มีคุณภาพมากขึ้น จึงเป็นโอกาสของธุรกิจร้าน fast casual ที่สามารถตอบโจทย์ทั้งเรื่องความสะดวกและคุณภาพของอาหาร

       

การสร้างความแตกต่างเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ธุรกิจนี้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน เนื่องจากธุรกิจร้านอาหารนั้นมีคู่แข่งจำนวนมากและผู้เล่นรายใหม่สามารถเข้ามาทำตลาดได้ง่าย ดังนั้น กลยุทธ์สำคัญคือการสร้างความแตกต่างซึ่งรวมทั้งความมีเอกลักษณ์ของเมนูอาหารและบรรยากาศของร้าน ทั้งนี้ ธุรกิจ fast casual ส่วนใหญ่จะเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้าสามารถปรับเปลี่ยนส่วนผสม หรือขนาดของอาหารได้ตามที่ต้องการ ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจของอีไอซีที่พบว่าราว 79% ของผู้ตอบแบบสำรวจจะยอมจ่ายเงินเพิ่มมากขึ้นหากสินค้านั้นสามารถปรับเปลี่ยนได้ รวมถึงการสร้างบรรยากาศภายในร้านให้ลูกค้าที่มาใช้บริการรู้สึกสบายใจและสะดวกสบาย  ความสามารถในการบริหารจัดการวัตถุดิบอย่างมีประสิทธิภาพและการรักษามาตรฐานด้านความปลอดภัยของอาหารเป็นอีกประเด็นที่มีความสำคัญ โดยร้านอาหาร fast casual หลายร้านใช้วิธีการจัดหาวัตถุดิบจากแหล่งท้องถิ่นซึ่งมีความสดใหม่ และยังถูกปากคนในพื้นที่อีกด้วย นอกจากนี้ การรักษามาตรฐานความปลอดภัยของอาหารก็เป็นสิ่งที่มีความสำคัญเพราะปัญหาดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของธุรกิจได้อย่างรุนแรง

             

อีไอซี มองว่าธุรกิจร้านอาหาร fast casual เป็นโอกาสในการสร้างความแตกต่างของผู้ประกอบการร้านอาหารไทย จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ผู้บริโภคไทยใช้จ่ายสำหรับทานอาหารมื้อกลางวันราว 52% ของค่าใช้จ่ายเพื่อทานอาหารนอกบ้านทั้งหมด ดังนั้นธุรกิจนี้จึงเป็นโมเดลที่จะตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคที่ต้องการความสะดวกรวดเร็วในช่วงเวลาที่เร่งรีบโดยเฉพาะช่วงตอนพักกลางวัน แต่ยังต้องการอาหารที่มีคุณภาพ ดังนั้น บริเวณย่านธุรกิจจึงเป็นทำเลที่มีโอกาสเติบโตสูงที่สุด เมนูอาหารที่สามารถปรับแต่งได้ตามความต้องการของลูกค้าและการใช้เทคโนโลยีในระบบการบริหารจัดการร้านจะช่วยเพิ่มจุดแข็งให้ธุรกิจ ทางเลือกในการปรับเปลี่ยนส่วนผสมและขนาดของอาหารเดิมจะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการจัดการวัตถุดิบเหมือนการเพิ่มเมนูอาหารชนิดใหม่ นอกจากนี้ การนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในระบบการบริหารจัดการร้าน ตัวอย่างเช่น Panera bread ที่พัฒนาระบบสั่งอาหารล่วงหน้าผ่านเว็บไซต์ แอปพลิเคชัน หรือจุดสั่งอาหารแบบดิจิทัล ช่วยให้การให้บริการมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยลูกค้าเริ่มหันมาใช้ช่องทางดังกล่าวราว 25-35% เนื่องจากบริการมีความสะดวกรวดเร็วและสร้างประสบการณ์ที่แตกต่างให้กับผู้บริโภค