หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 4โครงการชลประทานตาก
ด้วยบริบทของชุมชน ทำให้การทำงานของ นายธรณิศมั่นศรี หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 4 โครงการชลประทานตาก มีความพิเศษแตกต่างจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ชลประทานในพื้นที่อื่น นั่นคือการดูแลระบบชลประทานในพื้นที่บนภูเขาเขตชายแดนที่มีทั้งปัญหาความยากลำบากในการเดินทางและปัญหาความมั่นคงในพื้นที่แต่นั่นไม่ได้เป็นอุปสรรคให้บุคคลชลประทานท่านนี้ยอมแพ้แต่กลับแปรเปลี่ยนเป็นพลังให้เขาลงพื้นที่ลุยงานจนสำเร็จลุล่วงมาโดยตลอด
ลงพื้นที่ลุยงาน สไตล์ธรณิศ
ภาพคุ้นตาที่ทุกคนได้พบเห็นธรณิศจะไม่ใช่บุคคลที่มีการแต่งตัวที่ดูเนี้ยบ ใส่เสื้อเชิ้ต กางเกงสแล็ค แต่เป็นเสื้อยืดกางเกงยีนส์ คือเครื่องแต่งกายประจำเพื่อความคล่องตัว ตามการทำงานเฉพาะตัวที่เน้นการลงพื้นที่เข้าถึงชุมชนได้ทุกเวลาพื่อดูแลระบบชลประทานที่อยู่ในเขตความรับผิดชอบใน2 อำเภอ คือ อำเภอพบพระและอำเภออุ้มผาง ให้สามารถใช้การได้ดีอยู่เสมอ
“พื้นที่ผมดูแลค่อนข้างจะอันตราย เป็นพื้นที่ยู่ติดชายแดน การเดินทางค่อนข้างลำบาก มีหลายชนเผ่าอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างที่บอกว่าการทำงานของเราเน้นลงพื้นที่ จะแต่งตัวใส่เสื้อเชิ้ต กางเกงสแล็คทำงานแต่ในออฟฟิศ มันคงไม่ใช่”
หลากชนเผ่าหลายภาษา กับปัญหาความมั่นคงในพื้นที่
ธรณิศ อธิบายว่า อำเภอพบพระนั้นประกอบไปด้วยหลายชนเผ่าทั้งอีก้อหรืออาข่า กะเหรี่ยง เย้า ม้ง มูเซอ และจีนฮ่อ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่อพยพ ทุกชนเผ่าจึงมารวมกันตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณนี้ ส่วนอำเภออุ้มผางนั้นจะมีปัญหาในเรื่องของความมั่นคงเป็นส่วนใหญ่ เพราะเป็นพื้นที่แนวเขตชายแดนระหว่างประเทศไทยและเมียนมา มีชนเผ่าพื้นเมืองอยู่อาศัย ประกอบกับไม่มีเขตแนวรอยต่อระหว่างประเทศที่ชัดเจน ขณะที่การเดินทางก็ค่อนข้างสาหัสสากรรจ์ไม่น้อย ต้องใช้ยานพาหนะสมรรถนะสูงอย่างรถขับเคลื่อน4 ล้อ สำหรับการเดินทางเข้าไปในพื้นที่ และยังมีเรื่องของภาษาที่ใช้สื่อสารอีก แต่เนื่องจากผู้นำชุมชนสามารถพูดภาษากลางได้ เวลาที่ชนเผ่าต่างๆ หรือชาวบ้านต้องการความช่วยเหลือก็จะส่งผ่านมาทางผู้นำชุมชนของเขา
“พื้นที่ของผมเป็นภูเขา เป็นชายแดน มีหลายชนเผ่าแตกต่างในแง่บริบทในพื้นที่ ไม่ได้เป็นการทำงานที่พิเศษกว่าหัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษา คนอื่นๆ ผมว่าถ้าใครมาอยู่เหมือนผมก็ต้องทำงานอย่างที่ผมทำไม่อย่างนั้นคงไม่สามารถบริหารจัดการได้”
เน้นทำ ไม่เน้นพูด พิสูจน์ด้วยผลงาน
ธรณิศ บอกว่าเขาไม่มีเทคนิคอะไรพิเศษในการทำงาน นอกจากการลงพื้นที่เพื่อไปแก้ปัญหาให้กับประชาชนแม้จะเป็นปัญหาเล็กน้อย แค่ท่อรั่ว ท่อแตก ต้องแบกท่อขึ้นไปบนเขา เดินต่ออีก 2 – 3 กิโลเมตร ใช้เวลาทั้งวัน ก็ต้องไปให้เขาเห็น ให้เขารู้ว่าเรามีหน้าที่มาดูแลรักษาระบบน้ำชลประทานทั้งหมด เราต้องทำให้ได้แล้วมันจะค่อยๆ ได้ใจเขาสิ่งที่หล่อหลอมให้ธรณิศ เป็นคนทำงานเช่นนี้มาจากหลายๆ ส่วนประกอบกัน ทั้งการเข้าร่วมการอบรมในหลักสูตรต่างๆ มากมายที่กรมชลประทานจัดขึ้น อย่างล่าสุดกับการอบรมหลักสูตร Smart Officer ก็ทำให้ได้เข้าใจภาวะผู้นำยุคใหม่ที่ต้องมีหลักการบริหารที่ทันสมัยและได้ประสิทธิภาพ บวกกับการที่ได้ศึกษาเรียนรู้ด้วยตัวเองตลอดเส้นทางการทำงาน เมื่อวิชาการผสมผสานกับประสบการณ์การทำงาน ทำให้ได้เห็นมุมมองการทำงานที่ควรจะเป็นในปัจจุบัน
นอกจากนี้แล้ว ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ธรณิศยังเป็นผู้นำในการสร้างฝายชะลอน้ำตามแนวพระราชดำริตามลำห้วยน้ำแม่กลอง ลำห้วยใหญ่ๆ โดยอาศัยความร่วมมือร่วมใจกับชุมชน ทำให้สามารถสร้างฝายชะลอน้ำโดยไม่ต้องใช้งบประมาณจากหน่วยงานราชการได้ถึง 60 แห่ง
ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ขอแค่ทำงานในหน้าที่ให้ดีที่สุด
ทุกวันนี้ธรณิศ ยังคงเดินหน้าทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด นับจากปี 2557 ที่มารับตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรงุรักษา จนถึงปัจจุบัน4 ปีแล้ว งานทุกอย่างในหน้าที่บรรลุตามเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นโครงการตามแนวพระราชดำริที่ทรุดโทรม มีการร้องเรียนเข้ามา ก็ได้เข้าไปฟื้นฟูดูแลกว่า 90%แล้ว คาดว่าภายใน 4 – 5 เดือนข้างหน้าจะสำเร็จได้ 100%
“ผมอยากทำงานชลประทานอย่างดีที่สุด ไม่เคยคิดว่าจะต้องเป็นใหญ่เป็นโต คาดหวังอะไร ผมชอบธรรมชาติ ชอบป่าไม้ ชอบอยู่กับชุมชน ชอบเล่นดนตรีชอบอยู่กับเด็ก ว่างๆ พวกเราก็จะไปสอนหนังสือเด็กไปสอนวาดรูป เพราะเราต้องอาศัยชุมชนเป็นศูนย์กลาง เพราะการทำงานของผมมันเป็นสไตล์นี้”
ทั้งหมดนี้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า แม้บริบทของพื้นที่จะเป็นอุปสรรค แต่ก็ไม่ทำให้ ธรณิศ มั่นศรี ย่อท้อและละทิ้งเป้าหมาย เดินหน้าทำงานในสไตล์ที่ตัวเองถนัดถือเป็นหนึ่งในบุคคลชลประทานที่ควรค่าในการเป็นต้นแบบด้านการทำงานอย่างแท้จริง