พระราชกรณียกิจมากมายที่ชาวไทยหลายคนอาจไม่คุ้นเคยหรือไม่เคยรู้ ชี้ช่องรวย ขอถวายความอาลัยและน้อมนำแนวพระราชดำริไปปฏิบัติ
มูลนิธิชัยพัฒนา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้ง “มูลนิธิชัยพัฒนา” โดย ทรงดำรงตำแหน่งเป็นนายกกิตติมศักดิ์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์ประธาน เพื่อสนับสนุนช่วยเหลือประชาชนในลักษณะของการดำเนินงานพัฒนาต่างๆ ในกรณีที่ต้องถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขของกฎเกณฑ์ ระเบียบ หรืองบประมาณที่ระบบราชการไม่สามารถดำเนินการได้ทันที จนเป็นเหตุให้การแก้ไขปัญหาไม่สอดคล้อง หรือทันกับสถานการณ์ที่จำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องกระทำโดยเร็ว การที่มูลนิธิชัยพัฒนาเข้ามาดำเนินการเช่นนี้ ส่งผลให้ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง รวดเร็วฉับพลัน โดยไม่ตกอยู่ภายใต้ข้อจำกัดใดๆ ทั้งสิ้น อาจกล่าวได้ว่าการดำเนินงานของมูลนิธิชัยพัฒนาเป็นการช่วยให้กระบวนการพัฒนา เกิดความสมบูรณ์ขึ้น
มูลนิธิโครงการหลวง ปีพุทธศักราช 2512 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรชีวิตของชาวเขาบ้านดอยปุย ใกล้พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ ทรงทราบว่าชาวเขาปลูกฝิ่นและยากจน ทรงรับสั่งถามชาวเขาว่านอกจากฝิ่นขายแล้ว มีรายได้จากพืชชนิดอื่นอีกหรือเปล่า นอกจากฝิ่นแล้ว ก็มีเก็บท้อพื้นเมืองขาย แม้ว่าลูกจะเล็กก็ตาม แต่ก็ยังได้เงินเท่าๆ กัน ทรงมีพระราชดำริให้สถานีทดลองดอยปุย ซึ่งเป็นสถานีทดลองไม้ผลเขตหนาว ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำกิ่งพันธุ์ท้อลูกใหญ่มาต่อกับต้นตอท้อพื้นเมืองได้ ให้ค้นคว้าหาพันธุ์ท้อที่เหมาะสมสำหรับบ้านเรา เพื่อให้ได้ท้อผลใหญ่ หวานฉ่ำ ที่ทำรายได้สูงไม่แพ้ฝิ่น โดยพระราชทานเงินจำนวน 200,000 บาท ให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำหรับจัดหาที่ดินสำหรับดำเนินงานวิจัยไม้ผลเขตหนาวเพิ่มเติมจากสถานี วิจัยดอยปุยซึ่งมีพื้นที่คับแคบ ซึ่งเรียกพื้นที่นี้ว่า สวนสองแสน ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งโครงการหลวงขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2512 เริ่มต้นโครงการหลวงเป็นโครงการส่วนพระองค์ โดยมีหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการในตำแหน่งผู้อำนวยการ มีชื่อเรียกในระยะแรกว่า “โครงการหลวงพระบรมราชานุเคราะห์ชาวเขา” โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ รวมกับเงินที่มีผู้ทูลเกล้าฯ ถวาย สำหรับเป็นงบประมาณดำเนินงานต่างๆ และพระราชทานเป้าหมายสำหรับการดำเนินงาน คือ 1. ช่วยชาวเขาเพื่อมนุษยธรรม 2. ช่วยชาวไทยโดยลดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ คือ ป่าไม้และต้นน้ำลำธาร 3. กำจัดการปลูกฝิ่น 4. รักษาดิน และใช้พื้นที่ให้ถูกต้อง คือ ให้ป่าอยู่ส่วนที่เป็นป่า และทำไร่ ทำสวน ในส่วนที่ควรเพาะปลูก อย่าสองส่วนนี้รุกล้ำซึ่งกันและกัน
โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ดำเนินงานโดยยึดแนวพระราชดำริเกี่ยวกับ “เศรษฐกิจพอเพียง” ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรอย่างยั่งยืน ให้เกษตรกรสามารถพึ่งตนเองได้ ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรภายในประเทศ เพื่อลดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ และการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยกระบวนการผลิตที่ง่าย แต่มีประสิทธิภาพ ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย โดยดำเนินการภายใต้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่มีการศึกษา ทดลอง เก็บรวบรวมข้อมูลและผลการศึกษา เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ให้แก่เกษตรกร และประชาชน
โครงการหลวงอ่างขาง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรที่หมู่บ้านผักไผ่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ เสด็จผ่านบริเวณดอยอ่างขาง ทรงทอดพระเนตรเห็นว่าชาวเขาส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่บริเวณนี้ทำการปลูกฝิ่นแต่ยังยากจน ทั้งยังทำลายทรัพยากรป่าไม้ต้นน้ำลำธารที่เป็นแหล่งสำคัญต่อระบบนิเวศน์ ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อส่วนอื่นของประเทศได้ ทรงมีพระราชดำริว่าพื้นที่นี้มีภูมิอากาศหนาวเย็น มีการปลูกฝิ่นมาก ไม่มีป่าไม้อยู่เลยและสภาพพื้นที่ไม่ลาดชันนัก ประกอบกับพระองค์ทรงทราบว่าชาวเขาได้เงินจากฝิ่นเท่ากับที่ได้จากการปลูกท้อพื้นเมือง และทรงทราบว่าที่สถานีทดลองไม้ผลเมืองหนาวของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ทดลองวิธีติดตา ต่อกิ่งกับท้อฝรั่ง จึงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 1,500 บาท เพื่อซื้อที่ดินและไร่จากชาวเขาในบริเวณดอยอ่างขางส่วนหนึ่ง จากนั้นทรงโปรดเกล้าฯ ตั้งโครงการหลวงขึ้นเป็นโครงการส่วนพระองค์ เมื่อ พ.ศ. 2512 โดยทรงแต่งตั้งให้ หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการในตำแหน่งประธานมูลนิธิโครงการหลวง ใช้เป็นสถานีวิจัยและทดลองปลูกพืชเมืองหนาวชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นไม้ผล ผัก ไม้ดอก เมืองหนาว เพื่อเป็นตัวอย่างแก่เกษตรกรชาวเขาในการนำพืชเหล่านี้มาเพาะปลูกเป็นอาชีพ ซึ่งต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้พระราชทานนามว่า “สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง”
โครงการปลูกป่าถาวร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระราชทานพระราชดำริเป็นอเนกประการ ในการทำนุบำรุงสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรป่าไม้ของประเทศ ทรงพระราชทานพระราชดำริการพัฒนาด้านต่างๆ ควบคู่กับการอนุรักษ์เสมอ ด้วยการทรงจัดการใช้ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมให้เกิดประโยชน์แก่พสกนิกรมากที่สุด ประกอบกับสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงห่วงใยปัญหาป่าไม้ที่ถูกบุกรุกทำลาย และให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หามาตรการยับยั้งการทำลายป่า และเร่งฟื้นฟูสภาพต้นน้ำ ลำธาร โดยให้พิจารณาปัญหาการขาดแคลนน้ำ เป็นปัญหาใหญ่ของชาติที่จะต้องเร่งแก้ไขโดยเร่งด่วนที่สุด กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้น้อมอัญเชิญพระราชกระแสของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถมาเป็นแนวทางในการดำเนินการฟื้นฟูสภาพป่าไม้ เพื่อให้สภาพป่าที่เสื่อมโทรมได้กลับคืนสภาพโดยรวดเร็ว โดยได้หารือทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่จะให้คนในชาติทุกหมู่เหล่า ทุกสาขาอาชีพ ได้ร่วมกันปลูกป่าสนองพระราชกระแสของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นราชสักการะเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์ปีที่ 50 ในปี พ.ศ. 2539 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้จัดทำโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงครองราชย์ปีที่ 50
กังหันชัยพัฒนา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรสภาพน้ำเสียในพื้นที่หลายแห่งหลายครั้ง ทรงตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหาที่เกิดขึ้น และทรงห่วงใยต่อพสกนิกรที่ต้องเผชิญในเรื่องดังกล่าว ได้พระราชทานพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาน้ำเสีย ด้วยการใช้เครื่องกลเติมอากาศ โดยพระราชทานรูปแบบสิ่งประดิษฐ์ที่เรียบง่าย แต่มีประสิทธิภาพสูงในการบำบัดน้ำเสีย ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในชื่อ กังหันน้ำชัยพัฒนา และนำมาใช้ในการปรับปรุงคุณภาพน้ำตามสถานที่ต่างๆ ทั่วทุกภูมิภาค โครงการแก้มลิง พระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๓๘ เพื่อแก้ปัญหาอุทกภัยในกรุงเทพมหานคร ในปี พ.ศ.๒๕๓๘ โดยโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดหาสถานที่เก็บกักน้ำตามจุดต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร เพื่อรองรับน้ำฝนไว้ชั่วคราว เมื่อถึงเวลาที่คลองพอจะระบายน้ำได้แล้ว จึงค่อยระบายน้ำจากส่วนที่กักเก็บไว้ออกไป ระดับน้ำท่วมก็จะลดลงตามลำดับ นอกจากโครงการแก้มลิงจะมีขึ้นเพื่อช่วยระบายน้ำ ลดระดับน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานครและบริเวณใกล้เคียงแล้ว ยังเป็นการช่วยอนุรักษ์น้ำและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย โดยน้ำที่ถูกกักเก็บไว้ เมื่อได้รับการระบายสู่คูคลอง ก็จะช่วยบำบัดน้ำเน่าเสียให้เจือจางลง และช่วยผลักดันน้ำเสียให้ระบายออกไป แนวคิดของโครงการแก้มลิง เกิดจากพระราชดำริถึงลิงที่อมกล้วยไว้ในกระพุ้งแก้มได้คราวละมากๆ พระองค์ท่านมีพระราชกระแสอธิบายไว้ว่า “…ลิงโดยทั่วไปถ้าเราส่งกล้วยให้ ลิงจะรีบปอกเปลือก เอาเข้าปากเคี้ยว แล้วนำไปเก็บไว้ที่แก้มก่อน ลิงจะทำอย่างนี้จนกล้วยหมดหวีหรือเต็มกระพุ้งแก้ม จากนั้นจะค่อยๆ นำออกมาเคี้ยวและกลืนกินภายหลัง…” ด้วยแนวพระราชดำรินี้ จึงเกิดเป็น “โครงการแก้มลิง” ขึ้น เพื่อสร้างพื้นที่กักเก็บน้ำไว้รอการระบาย และเพื่อใช้ประโยชน์จากน้ำในภายหลังนั่นเอง
โครงการฝนหลวง ปี พ.ศ ๒๔๙๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ทรงรับทราบถึงความเดือดร้อน ทุกข์ยากของราษฎร และเกษตรกรที่ขาด แคลนน้ำ อุปโภค บริโภค และการเกษตร จึงได้มีพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทาน โครงการพระราชดำริ “ฝนหลวง” ให้กับ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล ไปดำเนินการ ต่อมา ได้เกิดเป็นโครงการค้นคว้าทดลอง ปฏิบัติการฝนเทียมหรือฝนหลวงขึ้น ในสังกัด สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อปี ๒๕๑๒ ด้วยความสำเร็จของ โครงการ จึงได้ตราพระราชกฤษฎีกา ก่อตั้งสำนักงานปฏิบัติการฝนหลวง ขึ้นในปี พ.ศ.๒๕๑๘ ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเป็นหน่วยงานรองรับโครงการ พระราชดำริ “ฝนหลวง” ต่อไป
โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชดำริว่า หนังสือประเภทสารานุกรมนั้น บรรจุสรรพวิชาการอันเป็นสาระไว้ครบทุกแขนง เมื่อมีความต้องการ หรือพอใจจะเรียนรู้เรื่องใด ก็สามารถค้นหา อ่านทราบโดยสะดวก นับว่า เป็นหนังสือที่มีประโยชน์ เกื้อกูลการศึกษา เพิ่มพูนปัญญาด้วยตนเองของประชาชนอย่างสำคัญ โดยเฉพาะในยามที่มีปัญหาการขาดแคลนครู และที่เล่าเรียนเช่นขณะนี้ หนังสือสารานุกรมจะช่วย คลี่คลายให้บรรเทาเบาบางลงได้เป็นอย่างดี จึงมีพระราชดำรัสให้ตั้ง โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เพื่อดำเนินการสร้างหนังสือสารานุกรมฉบับใหม่อีกชุดหนึ่ง มีความมุ่งหมายที่จะนำวิชาการแขนงต่างๆ ที่ควรศึกษา ออกเผยแพร่แก่เยาวชน ให้แพร่หลายทั่วถึง เพื่อเยาวชนจักได้หาความรู้ ช่วยตัวเองได้ จากการอ่านหนังสือ และเพื่อให้ได้ประโยชน์อันกว้างขวางยิ่งขึ้น
โครงการแกล้งดิน พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เกี่ยวกับการแก้ปัญหาดินเปรี้ยว หรือดินเป็นกรด โดยมีการขังน้ำไว้ในพื้นที่ จนกระทั่งเกิดปฏิกิริยาเคมีทำให้ดินเปรี้ยวจัด จนถึงที่สุด แล้วจึงระบายน้ำออกและปรับสภาพฟื้นฟูดินด้วยปูนขาว จนกระทั่งดินมีสภาพดีพอที่จะใช้ในการเพาะปลูกได้
แนวพระราชดำริ เศรษฐกิจพอเพียง “เศรษฐกิจพอเพียง” แนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานมานานกว่า 30 ปี ซึ่งเป็นแนวคิดที่ตั้งอยู่บนรากฐานของวัฒนธรรมไทย เป็นแนวทางการพัฒนาขั้นพื้นฐานที่ตั้งอยู่บนทางสายกลาง และความไม่ประมาทซึ่งคำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล การสร้างภูมิคุ้มกันในตัวเอง ตลอดจนการใช้ความรู้และคุณธรรม เพื่อเป็นพื้นฐานในการดำเนินชีวิต ซึ่งต้องมี “สติ ปัญญา และความเพียร” เป็นที่ตั้ง ซึ่งจะนำไปสู่ความสุขในชีวิติที่แท้จริง