โอกาสของคนตัวเล็ก

Responsive image

Supplier คีย์ลับ สร้างธุรกิจรวย

การจ้างคนอื่นมาทำงานแทนในสิ่งที่เราไม่ถนัด หรือ Outsourcing กลายเป็นโมเดลฟ้าประทานที่ช่วยให้ SME ทำธุรกิจได้ง่ายขึ้น มีสินค้าติดแบรนด์ตนเองโดยไม่ต้องสร้างโรงงาน สร้างยอดขายหลักร้อยล้านด้วยต้นทุนที่ต่ำสุดขีด แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าผู้ประกอบการจะมีความสามารถในการ “ตามหา” ซัพพลายเออร์มืออาชีพได้แม่นยำแค่ไหน

 

ประสบการณ์ความเชี่ยวชาญที่เหล่า “อาสาธุรกิจ” เหล่านั้นมี นับว่ามีค่าสำหรับคนตัวเล็กอย่าง SME และคุ้มค่ากับราคาที่จะต้องจ่าย เพื่อแลกกับการช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ดีกว่าเสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย สุดท้ายก็แบกรับความเสี่ยงตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มต้นทำธุรกิจ

 

ที่สำคัญซัพพลายเออร์ทั้งหลายพร้อมจะช่วยนำพาธุรกิจก้าวข้ามขั้นตอนบางอย่างที่เป็นอุปสรรค โดยที่ SME ไม่ต้องเริ่มต้นนับตั้งแต่ 1 2 3 เหมือนกับการทำธุรกิจที่แล้วๆ มา เรียกว่า “เพียงกะพริบตา…ก็รวยได้”

 

เทรนด์จ้าง มาแรงกว่าสร้างเอง

ปัจจุบันการว่าจ้างคนอื่นให้ทำงานแทนในลักษณะ Outsource กำลังได้รับความนิยมในหมู่ผู้ประกอบการ SME แม้กระทั่งบริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติก็ยังยอมจำนนต่อข้อดีของ “การจ้าง” มากกว่า “สร้าง” เองกับมือทั้งหมด

 

ยกตัวอย่างเช่น ไนกี้ (Nike) บริษัทผลิตเครื่องกีฬาอย่างรองเท้า อุปกรณ์ เสื้อผ้า เครื่องแต่งกายแบรนด์ดังของสหรัฐอเมริกาก็ไม่ได้มีโรงงานผลิตสินค้าของตนเองเลยสักแห่งเดียว แต่ใช้วิธีจ้างผลิตทั้งหมดผ่านโรงงานกว่า 700 โรง เกือบ 50 ประเทศทั่วโลก โดยฐานการผลิตเกือบ 100% อยู่ในเอเชีย เช่น จีน เวียดนาม อินโดนีเซีย หรือแม้แต่ประเทศไทย แต่ไม่ว่าจะผลิตที่ประเทศใด สินค้าทุกรายการก็จะต้องมีการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานก่อนตีแบรนด์ไนกี้ออกจำหน่าย

 

ทั้งนี้ สิ่งที่ไนกี้ทุ่มเทให้ความสำคัญคือ การออกแบบสินค้า และการทำการตลาด ไนกี้ทุ่มเงินไปกับการโฆษณาประชาสัมพันธ์แบรนด์ค่อนข้างมาก โดยจ้างนักกีฬาดังระดับโลกมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ เช่น ไทเกอร์ วูดส์, ไมเคิล จอร์แดน, โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ ส่งผลให้แบรนด์ไนกี้ติดตลาดไปทั่วโลก

 

แล้วจะดีเพียงใด หากมีซัพพลายเออร์คอยจัดหาสินค้าจากโรงงานคุณภาพในประเทศจีนมาส่งให้คุณถึงมือตามสเปคที่ระบุไว้ โดยที่คุณไม่ต้องเดินทางไปงมเข็มในมหาสมุทรถึงเมืองจีน หรือไม่ต้องลงทุนตั้งโรงงาน นำเงินไปจมกับค่าเครื่องจักร ตลอดจนจ้างคนผลิตเองให้ยุ่งยาก แต่ก็ยังมีสินค้าติดแบรนด์ของคุณเองผลิตออกมาจากโรงงานตามสั่ง ให้คุณไปลุยทำการตลาดและมุ่งการขายทำกำไรอย่างเดียวพอ

 

นี่คือตัวอย่างของการเลือกลงทุนทำในสิ่งที่ถนัด หรือในส่วนของธุรกิจหลัก (Focus on Core Business) ภายใต้ข้อจำกัดของทรัพยากรที่มีอยู่ แล้วยกส่วนที่ไม่เชี่ยวชาญให้เป็นหน้าที่ของซัพพลายเออร์ไป เพราะหากลงทุนสร้างเองทั้งหมด ต้นทุนอาจแพงกว่า “จ้าง” ก็เป็นได้

 

 

ข้อดีของการใช้ Outsource

• ลดต้นทุนค่าใช้จ่าย การว่าจ้างซัพพลายเออร์ที่มีความเชี่ยวชาญมาเป็นผู้ดำเนินงานในเรื่องที่ต้องการ เช่น บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ย่อมช่วยให้ SME มีความคล่องตัว และประหยัดงบประมาณดังกล่าว เมื่อเทียบกับการจัดตั้งแผนกขึ้นมารับผิดชอบอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งจะต้องมีต้นทุนการดำเนินงานเฉพาะตัวที่ค่อนข้างสูง และอาจจะไม่คุ้มสำหรับธุรกิจที่มีขนาดเล็ก

 

• ตัดตอนโครงสร้างการบริหาร การจ้างซัพพลายเออร์เมื่อยามจำเป็นเพียงแค่ครั้งคราว จะช่วยลดภาระการดูแลของเจ้าของกิจการอย่าง SME ลงได้ ถ้า Outsource ที่จ้างมาทำงานไม่เป็นไปตามสัญญา ก็สามารถเลิกจ้างและหาใหม่ได้ตลอดเวลา จึงนับว่ายืดหยุ่นกว่าการว่าจ้างพนักงานมานั่งประจำ ซึ่งคุณจะต้องมาคอยดูแลเอาใจใส่ในทุกขั้นตอนด้วยตนเอง

 

• ไม่ต้องเสียเวลาอบรมพนักงาน เป็นการยากที่จะปั้นคนเก่งขึ้นมาภายในระยะเวลาอันสั้น แต่ปัญหาดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้น หาก Outsource ให้ซัพพลายเออร์หรือโรงงานรับจ้างผลิตมืออาชีพทำแทน จึงช่วยลดระยะเวลาที่ต้องเสียไปกับการฝึกอบรมพนักงานให้ทำงานตามที่ต้องการ

 

• ได้พนักงานมืออาชีพที่พร้อมทำงาน ซัพพลายเออร์และโรงงานรับจ้างผลิตที่มารับงานในลักษณะของ Outsource จะมีความเป็นมืออาชีพสูง และรู้ว่าจะต้องทำอะไรเพื่อตอบสนองความต้องการทางธุรกิจของลูกค้าแต่ละราย โดยเฉพาะการควบคุมคุณภาพของสินค้า และต้นทุนสินค้าต่อหน่วยให้ต่ำ ทำให้เกิดความคุ้มค่า ดีกว่าทุ่มทุนสร้างโรงงาน ลงทุนเครื่องจักรผลิตเอง

 

• สร้างความน่าเชื่อถือให้กับลูกค้า หลายครั้งที่ SME ต้องออกไปเจรจาธุรกิจกับลูกค้า สิ่งหนึ่งที่ลูกค้ามักจะหยิบยกขึ้นมาพิจารณาร่วมด้วยคือ ประสิทธิภาพ และเครดิตความน่าเชื่อถือของบริษัท หากมีการร่วมงานในลักษณะ Outsource กับซัพพลายเออร์และโรงงานรับจ้างผลิตที่มีชื่อเสียง ย่อมช่วยเติมเต็มความน่าเชื่อถือในใจของลูกค้าที่มีต่อธุรกิจของคุณมากยิ่งขึ้น

 

 

 

ตัวเลือกของอาสาธุรกิจ

นี่เป็นโอกาสทองของบรรดามือปืนรับจ้างที่ซ่อนตัวอยู่ในหลากหลายวงการ และเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่ SME ต้องตามหาให้เจอ เพื่อใช้ประสบการณ์ความชำนาญที่ Outsource เหล่านี้มีให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจ ดังนี้

 

1. ซัพพลายเออร์ หมายถึง คนหรือองค์กรบริษัทที่ทำหน้าที่จัดหาสินค้าและบริการตามตกลง อาทิ บริการจัดหาวัตถุดิบและสินค้าจากประเทศจีน บริการขนส่งสินค้าตามที่ลูกค้าต้องการ บริการดูแลระบบสารสนเทศภายในองค์กรภายใต้ต้นทุนที่สามารถควบคุมได้ ทั้งนี้ การได้ทำงานกับซัพพลายเออร์คุณภาพที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของธุรกิจในส่วนที่ไม่ถนัดได้ และมอบราคาที่ “ดี” หรือถูกกว่ารายอื่น ย่อมช่วยลดต้นทุน และสร้างโอกาสในการแข่งขันทางธุรกิจเพิ่มขึ้น

 

2. โรงงานรับผลิต หรือจะเรียกว่า “โรงงานผลิตฝัน” ของผู้ประกอบการให้เป็นจริงก็ได้ โรงงานที่มีความเชี่ยวชาญเหล่านี้พร้อมจะรับฟังความต้องการ และเดินเครื่องจักรผลิตสินค้าตามออเดอร์ที่สั่ง เพื่อให้ SME เป็นเจ้าของสินค้าภายใต้แบรนด์ของตนเอง ภายใต้งบประมาณที่มี ยิ่งปัจจุบันโรงงานเริ่มปรับตัวยืดหยุ่นมากขึ้น โดยยอมที่จะผลิตสินค้าในปริมาณน้อย หรือผลิตจำนวนเท่าไรก็ได้โดยไม่มีการกำหนดขั้นต่ำ เท่ากับช่วยลดความเสี่ยงในการทำธุรกิจสำหรับมือใหม่ลงได้มากทีเดียว

 

OEM, ODM และ OBM คืออะไร

เมื่อเอ่ยถึงโรงงานรับผลิต เรามักจะได้ยินคำว่า OEM, ODM และ OBM อธิบายง่ายๆ ว่าคำพวกนี้หมายถึงศักยภาพของโรงงานรับผลิตที่ในปัจจุบันมีอยู่ 3 รูปแบบ คือ

 

• การรับจ้างผลิต (OEM: Original Equipment Manufacturer) หมายถึง การรับจ้างผลิตสินค้าตามรูปแบบและแบรนด์สินค้าที่ลูกค้ากำหนด ผู้ว่าจ้างนอกจากจะเป็นผู้ประกอบการในประเทศ ยังอาจเป็นเจ้าของแบรนด์ดังซึ่งเป็นที่ยอมรับกันในต่างประเทศ โรงงานลักษณะนี้มักลงทุนเครื่องจักรเพื่อรับจ้างผลิตตามคำสั่งซื้ออย่างเดียว

 

• การผลิตตามรูปแบบของตนเอง (ODM: Original Design Manufacturer) หมายถึง การผลิตที่มีการพัฒนาดีไซน์หรือรูปแบบสินค้าของตนเอง โดยโรงงานมีการลงทุนเพิ่มด้านการวิจัย การออกแบบสินค้า ทำให้สินค้าที่ผลิตมีความโดดเด่น แตกต่างจากคู่แข่ง ก่อนนำสินค้าไปเสนอขายและผลิตภายใต้แบรนด์สินค้าของลูกค้าอีกทีหนึ่ง

 

• การผลิตภายใต้รูปแบบและตราสินค้าของตนเอง (OBM: Original Brand Manufacturer) หมายถึง การผลิตที่มีการสร้างรูปแบบและแบรนด์สินค้าของตนเอง เมื่อถึงจุดหนึ่งโรงงานที่มีความพร้อมทั้งทางด้านเงินทุน เครื่องมือ และเทคโนโลยี มีหน่วยงาน R&D ที่แข็งแกร่ง มักจะลงทุนสร้างสินค้าภายใต้แบรนด์ของตนเอง พร้อมทำการตลาดเพื่อจูงใจให้ลูกค้านิยมชมชอบรูปแบบและคุณภาพสินค้า รวมทั้งพึงพอใจในแบรนด์และชื่อเสียงของโรงงาน

 

ทั้งนี้ โรงงานเปิดใหม่ส่วนใหญ่มักเริ่มต้นจากการรับจ้างผลิตแบบ OEM แต่ในระยะยาวย่อมเสี่ยงต่อการที่ลูกค้าผู้ว่าจ้างจะย้ายคำสั่งซื้อไปยังแหล่งผลิตที่มีต้นทุนต่ำกว่าเพื่อลดต้นทุนธุรกิจ หนทางที่จะอยู่รอดของโรงงานเหล่านี้คือ ต้องยกระดับตนเองไปสู่การผลิตแบบ ODM ซึ่งถือเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าที่ผลิตไปในตัว

 

และจะยิ่งเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันยิ่งขึ้นไปอีก หากพัฒนาต่อเนื่องเป็นการผลิตแบบ OBM เพราะผู้ว่าจ้างที่มีกำลังซื้อจะตัดสินใจซื้อโดยพิจารณาจากคุณภาพ และชื่อเสียงของแบรนด์สินค้า รวมทั้งชื่อเสียงของบริษัทที่สั่งสมมานาน มากกว่าที่จะพิจารณาเรื่องราคาเป็นหลัก

 

และนี่คือรูปแบบของโรงงานรับจ้างผลิต ซึ่ง SME จำเป็นต้องรู้ในเบื้องต้นเพื่อที่จะเลือกใช้ความชำนาญของโรงงานผลิตให้เป็นประโยชน์ และวางใจให้ดูแลกระบวนการผลิตสินค้าตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ และส่งมอบสินค้าถึงมือภายในระยะเวลาที่กำหนด

 

 

ธุรกิจไหนนิยมใช้มือปืนรับจ้าง

ปัจจุบันโรงงานรับจ้างผลิตที่มีอยู่ในประเทศไทยสามารถผลิตสินค้าได้อย่างหลากหลาย ตั้งแต่ “ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ” และให้บริการด้านการผลิตสินค้าแบบครบวงจร โดยหมวดหมู่สินค้าที่ได้รับความนิยมจ้างผลิตมีดังนี้

 

• เสื้อผ้าสำเร็จรูป สำหรับผู้ที่สนใจจะเริ่มต้นธุรกิจเสื้อผ้า นอกจากจะซื้อหาเสื้อผ้าสำเร็จรูปมาจำหน่าย ยังสามารถควบคุมต้นทุนให้ต่ำด้วยการจ้างโรงงานผลิตเสื้อผ้าตามเนื้อผ้าและรูปแบบที่คุณต้องการ หรือเลือกผลิตจากแคตตาล็อก พร้อมบริการปักหรือสกรีนโลโก้ในอดีตลูกค้ามักจะต้องสั่งผลิตเป็นจำนวนมากถึงจะได้ราคาถูก แต่ปัจจุบันก็มีโรงงานรายย่อยจำนวนมากที่รับผลิตเสื้อผ้าโดยไม่จำเป็นต้องสั่งเป็นจำนวนมาก

 

• เครื่องหนังและรองเท้า โรงงานผลิตของไทยมีความเชี่ยวชาญทางด้านนี้พอสมควร โดยเฉพาะในเรื่องของฝีมือการออกแบบและตัดเย็บเครื่องหนัง ส่งผลให้มีคุณภาพที่ดี สามารถเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของประเทศ ปัจจุบันมีโรงงานรับผลิตและออกแบบรองเท้า กระเป๋า ทั้งหนังแท้ หนังเทียม หรือหนังสังเคราะห์ ตามแบบพิเศษของลูกค้า หรือตามแบบมาตรฐานโรงงานโดยไม่มีกำหนดขั้นต่ำเช่นกัน

 

• อัญมณีและเครื่องประดับ โรงงานอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับในไทย ส่วนใหญ่เน้นผลิตเพื่อการส่งออก เพชร พลอย ไข่มุก ตลอดจนเครื่องประดับต่างๆ ลักษณะสินค้ามีความละเอียด อ่อนช้อย เหมาะกับนิสัยคนไทย ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ได้มีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ ที่สำคัญคือแรงงานกลุ่มนี้เป็นแรงงานมีฝีมือเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

 

• ชิ้นส่วนยานยนต์ โรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ First-Tier เป็นกลุ่ม Direct OEM Supplier ผลิตชิ้นส่วนป้อนให้โรงงานรถยนต์โดยตรง ชิ้นส่วนที่ผลิตมีคุณภาพสูง เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดโดยผู้ผลิตรถยนต์ อีกกลุ่มคือ Second-Tier และ Third-Tier จัดหาวัตถุดิบให้กับผู้ผลิต First-Tier หรือผลิตชิ้นส่วนที่จำหน่ายในตลาดอะไหล่ทดแทนหรือสนับสนุนด้านการผลิต

 

• เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ความงาม มีการประเมินว่าตลาดผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางหรือเวชสำอางของไทยนั้นมีมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท หากสนใจอยากทำแบรนด์เครื่องสำอางของตนเอง ตอนนี้มีโรงงานผลิตเครื่องสำอางจำนวนมากพร้อมให้บริการรับจ้างผลิต โดยมีสูตรมาตรฐานเป็นตัวตั้งต้น แต่หากต้องการให้ช่วยวิจัยและพัฒนาสูตรใหม่ ก็สามารถทำได้ ทั้งยังช่วยแนะวิธีการทำตลาดให้ครบ 360 องศา

 

• อาหารและเครื่องปรุง โรงงานกลุ่มนี้ใช้ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์อาหารมาช่วยวิจัยและพัฒนา ตลอดจนผลิตอาหารสารพัดรูปแบบ โดยใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีสูตรอาหารมาร่วมปรับปรุงพัฒนาสูตรเพื่อให้สามารถเก็บรักษาไว้ได้นาน ทั้งยังลดขั้นตอนการปรุงด้วยนวัตกรรมการผลิตอาหารที่สะดวก สะอาด ปลอดภัย สำหรับลูกค้าทั่วทุกมุมโลก

 

 

เลือกถูก ความสำเร็จมาเยือน

 

การเลือกใช้บริการจากซัพพลายเออร์ที่มีความชำนาญ ตลอดจนโรงงานผลิตที่ดี มีมาตรฐาน ย่อมการันตีความไว้วางใจได้ในระดับหนึ่งว่าสินค้าที่ว่าจ้างให้จัดหาหรือผลิต จะมีคุณภาพสมดั่งที่หวัง และคุ้มค่ากับราคาที่ยอมจ่าย เพราะสามารถวางรากฐานให้ธุรกิจดำเนินอย่างต่อเนื่อง และทำกำไรได้ในระยะยาว

 

ในทางตรงกันข้าม หากเจอกับ Outsource ที่ไม่เชี่ยวชาญจริง ขาดความพร้อม และปราศจากความรับผิดชอบ ผลลัพธ์ที่ได้อาจร้ายแรงถึงขั้นเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจของคุณเกิดสะดุดและล้มเหลวตั้งแต่ยังไม่ทันได้เริ่มต้น ดังนั้น การเลือกลงทุนกับซัพพลายเออร์และโรงงานรับผลิตมืออาชีพจึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยสามารถพิจารณาเลือกจาก 4 ปัจจัยหลัก ดังนี้

 

• มีความรู้ ประสบการณ์ ความชำนาญในการผลิตหรือจัดหาที่ตรงกับความต้องการหรือไม่ มีทีมงานที่ให้บริการครบวงจร หรือมีคู่ค้าซัพพลายเออร์ที่เชื่อถือได้หรือไม่

 

• มีการวิจัยและพัฒนาที่ดี อันเป็นจุดเริ่มต้นของการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพหรือไม่ โรงงานรับผลิตมืออาชีพควรมีแผนกวิจัยและพัฒนาคุณภาพเป็นของตนเอง เพื่อพัฒนาสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ทั้งนี้ สินค้าที่ดีต้องได้มาจากมุมมอง และการพูดจาภาษาเดียวกันระหว่างโรงงานกับลูกค้าผู้ประกอบการด้วย

 

• มีความพิถีพิถันในการผลิตทุกขั้นตอน ตั้งแต่การคัดสรรวัตถุดิบที่ได้มาตรฐานจากผู้ผลิตทั่วทุกมุมโลก ตลอดจนกระบวนการผลิตด้วยเทคโนโลยีอันทันสมัย การันตีด้วยมาตรฐานสากลที่ทั่วโลกยอมรับ เช่น GMP, ISO, HACCP, HALAL เป็นต้น

 

• มีการให้คำแนะนำปรึกษาในทุกเรื่อง เช่น บรรจุภัณฑ์ควรเป็นอย่างไร การออกแบบให้สวยงาม ปริมาณการผลิตที่เหมาะสม โดยเฉพาะด้านการทำตลาด การวิเคราะห์ตลาด ซึ่งปัจจุบันโรงงานรับผลิตหลายแห่งให้ความสำคัญกับส่วนงานด้านนี้อย่างมาก และถือเป็นส่วนชี้ขาดถึงการตัดสินใจในการใช้บริการจ้างผลิตของลูกค้าด้วย เพราะเป็นบริการที่ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าอีกชั้นหนึ่งว่า สินค้าที่ผลิตออกมาแล้วจะสามารถขายทำเงินได้อย่างแน่นอน

 

และเพื่อสร้างความมั่นใจก่อนลงทุนผู้ประกอบการ SME อาจพิจารณาง่ายๆ จากตัวอย่างสินค้าที่โรงงานเหล่านั้นเคยรับจ้างผลิตมาก่อน ซึ่งเปรียบเสมือนกระจกสะท้อนความสามารถในการผลิตของโรงงานแห่งนั้นว่ามีคุณภาพ ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคมากน้อยเพียงใด เพราะหากเลือก Outsource ถูกตั้งแต่ต้น ความสำเร็จย่อมมาเยือนธุรกิจเล็กๆ ของ SME อย่างแน่นอน

 

 

 

เจ้าสัว ดอท คอม ซัพพลาย “นายหน้า” หาสินค้าจีน

หากต้องการสินค้าดี ต้นทุนต่ำ คนทำธุรกิจมักจะพุ่งเรดาร์ไปหาที่ประเทศจีน ซึ่งเป็นแหล่งผลิตสำคัญของโลก แต่เมืองจีนนั้นก็แสนกว้างใหญ่ การจะติดต่อโรงงานรับผลิตสินค้าเองคงไม่ใช่เรื่องง่าย โมเดลธุรกิจของ เจ้าสัว ดอท คอม (www.jowsua.com) จึงเข้ามาตอบโจทย์ดังกล่าว

 

 

ทิพย์วลี จารุหิรัญสกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด เจ้าสัว ดอท คอม เล่าว่า กว่า 2 ปีที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการติดต่อมาที่บริษัทเพื่อให้ช่วยจัดหาสินค้าจากจีนตามสเปคที่ต้องการ การสั่งสินค้าขึ้นอยู่กับว่าแต่ละโรงงานจะกำหนดจำนวนผลิตขั้นต่ำไว้อย่างไร เช่น 100 ชิ้นก็ทำ แต่ราคาจะสูง ยิ่งผลิตจำนวนมาก ต้นทุนก็ยิ่งถูกลง รูปแบบนี้เหมาะสำหรับผู้ประกอบการที่จะสั่งผลิตสินค้าเพื่อนำไปขายทำกำไรต่อ นอกจากนี้สินค้าที่เป็นชิ้นใหญ่ เช่น รถไถนาเพื่อการเกษตร แม้นำเข้าชิ้นเดียว ทิพย์วลีก็จัดให้ได้

 

 

จุดแข็งของเจ้าสัว ดอท คอม คือ การเป็นบริษัทพาร์ทเนอร์ไทย-จีน อย่าง เธียร เย่ นักธุรกิจชาวจีนเป็น Key Person ซัพพลายสินค้าตามที่ลูกค้าต้องการจากมณฑลกวางตุ้งกับมณฑลเจ้อเจียง บวกกับประสบการณ์การทำธุรกิจขนส่งสินค้าจากต่างประเทศของทิพย์วลี กลายเป็นความเชี่ยวชาญที่ลูกค้าถามหา เพราะถ้าหากคุมต้นทุนสินค้าอย่างเดียว แต่ไม่ใส่ใจภาษีนำเข้า ก็อาจโดนภาษีเล่นงานจนต้นทุนอาจสูงกว่าผลิตในประเทศก็ได้ เช่น เซ็ตตู้ล้างหน้าปกติไม่ต้องเสียภาษี แต่หากในเซ็ตมีกระจกต้องเสียภาษี 30% เป็นต้น

 

ทั้งนี้ รายได้ของเจ้าสัว ดอท คอม จะมาจากการเซอร์วิส โดยคิดค่าบริการอยู่ที่ 10-30% ขึ้นอยู่กับความยากง่ายในกระบวนการทำงาน เช่น การส่งทีมงานไปตรวจคุณภาพสินค้าถึงโรงงาน การจัดทำคู่มือสินค้าเป็นภาษาไทย อย่างไรก็ดี ทิพย์วลียอมรับว่าโมเดลธุรกิจนี้นับว่ายังใหม่สำหรับผู้ประกอบการไทย

 

“คนไทยยังรู้สึกก้ำกึ่งว่าจะใช้บริการจัดหาสินค้าดีไหม โดยมองว่าเป็นธุรกิจนายหน้า แต่หากเป็นนักธุรกิจชาวต่างชาติเขายอมที่จะจ่ายค่าคอมมิชชั่นเพื่อแลกกับความเชี่ยวชาญของเราในการลดความเสี่ยงต่างๆ ซึ่งถือว่าคุ้ม

 

หลายคนที่ไปเมืองจีนจะรู้ว่าโรงงานที่นั่นเยอะมากจนเลือกไม่ถูก ต่อให้พูดภาษาจีนได้ ก็ไม่ใช่คนจีน ไม่รู้วัฒนธรรมในการทำธุรกิจ คนจีนที่ทำธุรกิจด้วยกันใช้ความเชื่อใจกันเยอะ ต้องนัดกินข้าว สร้างความสัมพันธ์ ต้องเป็นเพื่อนสนิทกัน ถึงจะคุยกันง่าย เราจึงช่วยลูกค้าได้เยอะมาก”

 

ล่าสุด ทั้งคู่ยังเห็นโอกาสนำเข้าสินค้าจำพวกเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องครัว อุปกรณ์เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ มาสต๊อกและจำหน่ายปลีกเองผ่านช่องทางออนไลน์ อาทิ Lazada และเร็วๆ นี้กับ Tarad.com 2-3 เดือนที่เปิดตลาดนี้ พบว่ามี SME รายย่อยติดต่อซื้อสินค้าเพื่อนำไปขายกระจายต่อตามต่างจังหวัดเป็นจำนวนมาก

 

 

 

บารามี แลบฯ มือขวา “นวัตกรรมความงาม”

 

ธุรกิจความงามเติบโตต่อเนื่องและมีผู้สนใจเดินเข้าสู่ตลาดนี้อย่างคึกคัก มีโรงงานรับจ้างผลิตเครื่องสำอางจำนวนมากคอยซัพพอร์ตสินค้าติดแบรนด์พร้อมขาย และหนึ่งในนั้นคือ บริษัท บารามี แลบบอราทอรีส์ จำกัด ที่ชูเรื่องการวิจัยนวัตกรรมความงามเป็นจุดเด่นขององค์กร

 

เดิมที บารามี แลบฯ รับผลิตสินค้าตามสูตรที่ลูกค้ามีมาให้ แต่ท้ายที่สุดก็ต้องปรับตัวเป็น ODM ไปโดยปริยาย ด้วยอิทธิพลของโลกอินเทอร์เน็ต ทุกวันนี้ลูกค้าที่สนใจทำธุรกิจความงามมีความรู้มากขึ้น บารามี แลบฯ จึงใช้วิจัยและพัฒนา (R&D) เป็นคีย์ของธุรกิจรับจ้างผลิต

 

 

ศันสนีย์ กองไชย ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด กล่าวว่า นอกจากแล็บวิจัยและพัฒนาเครื่องสำอางและเวชสำอางในส่วนของสารสังเคราะห์ที่ตั้งอยู่ภายในโรงงานแล้ว บารามี แลบฯ ยังก่อตั้งศูนย์วิจัย BIRC ซึ่งวิจัยด้านพืชสมุนไพร และกองยาแผนไทยกับสมุนไพรไทยโดยเฉพาะ ตั้งอยู่ภายในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย สวทช. อีกด้วย

 

 

ความงามแนวธรรมชาติกำลังเป็นที่สนใจในตลาดโลก ผลงานชิ้นแรกของ BIRC ที่ร่วมวิจัยกับผู้ชำนาญการจากกองยาแผนไทยและสมุนไพร กระทรวงสาธารณสุข และผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพรไทยจากวิทยาลัยการแพทย์แผนไทยราชมงคลธัญบุรี คือ แผ่นเจลมาส์กหน้าธรรมชาติ “Phyto Gel” จำนวน 7 สูตร ได้แก่ ใบเตย ขมิ้นชัน มะขาม มะเฟือง ถ่านไผ่ อัญชัน และทานาคา โดยจดสิทธิบัตรเป็นรายแรกของโลก

 

 

ศันสนีย์นำนวัตกรรมความงามไปออกงาน Asean Beauty ที่ไบเทคบางนา ปรากฏว่าได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ประกอบการทั้งในประเทศและต่างประเทศที่มองเห็นโอกาสและต้องการให้ บารามี แลบฯ ผลิตแผ่นเจลมาส์กหน้าจากพืชนี้ให้ โดยเบื้องต้นเธอกำหนดขั้นต่ำในการผลิตไว้ที่ 5,000 ชิ้น

 

“สินค้าของเราไม่ว่าจะเป็นความงามด้วยสารสกัดจากธรรมชาติ หรือสารสังเคราะห์ ราคามิได้เป็นปัจจัยสำคัญมากนักสำหรับลูกค้า เพราะลูกค้าจะมอง 3 ส่วนประกอบกัน คือ หนึ่ง คุณภาพสินค้ามีความเสถียร สอง ความปลอดภัยของผู้บริโภค สาม ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 3 สิ่งนี้ทำให้ลูกค้าพิจารณาตัดสินใจเลือกทำธุรกิจกับเรา”

 

ล่าสุด บารามี แลบฯ ยังได้ผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพรและเวชสำอางมาเสริมทัพ ยิ่งทำให้ทีมวิจัยแข็งแกร่งยิ่งขึ้น ศันสนีย์เผยว่า จากนี้ไปจะทยอยคลอดงานนวัตกรรมออกมาเรื่อยๆ เพื่อสร้างความแตกต่างในตลาด รวมทั้งใช้องค์ความรู้ด้าน “นาโนเทคโนโลยี” มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ทำให้เครื่องสำอางซึมซาบสู่ผิวได้ดียิ่งขึ้นและเห็นผลชัดเจน ถือเป็นการเพิ่มมูลค่าสมุนไพรไทยที่น่าจับตายิ่งนัก

 

“ที่สำคัญสำหรับลูกค้าที่สนใจทำงานวิจัยและพัฒนาสินค้าความงามร่วมกับ บารามี แลบฯ หาก สวทช. พิจารณาเห็นว่าเป็นงานนวัตกรรมที่มีความโดดเด่น คุณยังจะได้สิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้ 300% ถือเป็นสิทธิพิเศษที่รัฐบาลพยายามจูงใจให้คนกล้าที่จะคิดอะไรใหม่ๆ ด้วย” ศันสนีย์ กล่าว

 

 

 

คัฟเวอร์แนนท์ ยกระดับการ์เม้นท์สู่ OBM

 

 

โรงงานการ์เม้นท์ทั่วไปอาจรับจ้างแบรนด์ดังผลิตสินค้าคราวละหมื่นหรือแสนตัว และปฏิเสธที่จะรับงานจำนวนน้อยๆ เพราะไม่คุ้มต้นทุน แต่ วิศัลย์ วนะศักดิ์ศรีสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท คัฟเวอร์แนนท์ จำกัด นั้นคิดต่าง ด้วยการตอบสนองตลาดออเดอร์น้อยๆ ที่ไม่มีใครรับทำ แต่ยังสามารถบริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

 

“เราเห็นโอกาสทางการตลาดว่ามีคนอยากได้เสื้อคุณภาพ แต่ต้องการจำนวนน้อยและเร็ว เช่น บริษัทรถยนต์หรูต้องการเสื้อคุณภาพดี ติดโลโก้ 300 ตัว ไปแจกลูกค้าตอนเปิดตัวรถรุ่นใหม่ หรือแม้แต่เสื้อยูนิฟอร์มที่โรงเรียนนานาชาติและองค์กรบริษัทสั่งผลิตตามจำนวนคน ใครไม่ทำ แต่คัฟเวอร์แนนท์ทำ ด้วยจุดขาย Speed, Quality และ Low Minimum”

 

คัฟเวอร์แนนท์เป็นผู้ผลิตสิ่งทอครบวงจร ตั้งแต่นำเข้าเส้นด้ายมาทอผ้า ทอปก พิมพ์ ปัก ตัดเย็บ จะขาดก็แต่การย้อมผ้าหรือการพิมพ์ที่มีหมึก อย่างไรก็ดี วิศัลย์ได้ยกระดับการรับจ้างผลิตสู่รูปแบบ OBM โดยลงทุนวิจัยร่วมกับดูปองท์พัฒนานวัตกรรมเส้นใยในเนื้อผ้า แล้วสร้างแบรนด์สินค้าเป็นของตนเองคือ “Hydro-Tech” ซึ่งมีคุณสมบัติเด่นคือ ดูดซับเหงื่อเร็ว ระบายอากาศได้ดี เย็นสบายขณะสวมใส่ และป้องกันรังสียูวี ทำคุณภาพนำราคาแบบนี้ ใครอยากสั่งผลิตเสื้อ Hydro-Tech ก็ย่อมเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ

 

วิศัลย์ยังเลือกใช้เครื่องจักรที่มีประสิทธิภาพสูงจากอิตาลีที่ทอได้วันละ 300 กิโลกรัม แทนเครื่องจักรจีนที่ทอได้ 120 กิโลกรัมต่อวัน แม้ลงทุนสูง แต่ผลผลิตมากกว่า 3-4 เท่า ต้นทุนต่อหน่วยจึงต่ำกว่า คุ้มค่าในระยะยาว ทั้งยังเพิ่มความสามารถในการแข่งขันเรื่องต้นทุนและคุณภาพกับจีนและเวียดนามได้อย่างสบาย

 

นอกจากนี้ เขายังนำกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์มาปรับใช้กับโรงงานการ์เม้นท์ ส่งผลให้ทุกชั่วโมงจะมีเสื้อสำเร็จรูปผลิตออกมาอย่างต่อเนื่อง คัฟเวอร์แนนท์จึงสามารถผลิตเสื้อจำนวนน้อยๆ ด้วยต้นทุนที่ต่ำ และงานออกมาเร็ว พร้อมรับออเดอร์เสื้อยูนิฟอร์มและเสื้อพรีเมียมที่ผลิตแจกได้ตลอดทั้งปี”

 

“ตอนแรกอาจต้องยอมลงทุนหน่อยเพื่อให้สินค้ามีคุณภาพ การผลิตมีประสิทธิภาพ แล้วเราจะเติบโตอย่างรวดเร็วและยั่งยืน เฉลี่ยปีละ 30% และทำให้เราไม่หวั่นไหวไปกับกลไกราคามากนัก”

 

 

 

ศรีไทย ฟู้ด เซอร์วิส OEM ร่วมทุนด้านอาหาร

 

 

ใครคิดจะเอาดีในธุรกิจอาหารยุคนี้ ต้องขายความง่าย เน้นความสะดวกรวดเร็วเข้าว่า หากเก็บไว้ได้นานโดยที่คุณภาพไม่เปลี่ยนย่อมเป็นแต้มต่อให้กับธุรกิจ ซึ่งทุกๆ ความต้องการของลูกค้า ได้รับการตอบสนองโดย วันชัย รุ่งภูวภัทร เจ้าของบริษัท ศรีไทย ฟู้ด เซอร์วิส จำกัด

 

 

กว่า 30 ปีที่วันชัยรับผลิตน้ำตาล ครีมเทียม เกลือ พริกไทย ซอส น้ำสลัดบรรจุซอง ป้อนให้กับลูกค้ากลุ่มโรงแรม ฟาสต์ฟู้ด โรงพยาบาล และสายการบินต่างๆ ต่อมาลูกชายของเขาเข้ามาช่วยธุรกิจก็ได้ก่อตั้งบริษัท ศรีไทย อะโกร จำกัด ขึ้นเพื่อจัดหาแหล่งวัตถุดิบและแพ็คเกจจิ้ง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมองว่าการพัฒนาธุรกิจให้ครบวงจรจะทำให้เกิดต้นทุนที่สามารถแข่งขันได้

 

 

ล่าสุดวันชัยได้ตั้งบริษัทที่ 3 เป็นการร่วมทุนกับบริษัท OEM ขนาดใหญ่ในญี่ปุ่นที่ต้องการตลาดใหม่ ส่วนบริษัทของเขาพลอยได้รับอานิสงส์ ส่งผลให้อำนาจในการซื้อขายเพิ่มขึ้น

 

“คู่ค้ารายนี้เชี่ยวชาญเรื่องการผลิตสินค้าจำพวก Premixed อาทิ ผง 3 in 1 แป้งเทมปุระ แป้งเค้ก ซึ่งเป็นสิ่งที่ศรีไทยขาดอยู่ ทำให้สินค้าที่เรารับผลิตขยายวงกว้างขึ้น ตอนนี้มีลูกค้าโรงงานเบเกอรี่ขนาดกลางและขนาดเล็กติดต่อเข้ามา เรียกหาแป้งสำเร็จรูปที่ผสมน้ำตาล ผสมผงฟูให้เสร็จ เราก็ Premixed ให้ ลูกค้าแกะห่อใช้ได้เลย ไม่ต้องมานั่งชั่ง ตวง วัด ลดระยะเวลาและขั้นตอนในการทำงาน”

 

นอกจากนี้ บริษัทแม่ในญี่ปุ่นยังมีความเชี่ยวชาญในการผลิตสินค้า Ready to Eat ในรูปแบบ Retort Pouch ป้อนให้กับร้านสะดวกซื้อที่ญี่ปุ่น สินค้าเหล่านี้จึงอยู่ในแผนที่เตรียมจะผลิตออกมาตามสั่งให้กับบรรดาร้านอาหารและโรงแรมที่สนใจ จุดแข็งคือรสชาติอร่อยเหมือนปรุงสด แต่เก็บได้เพียง 2 เดือน ไม่นานเหมือนอาหารแช่แข็ง เรียกว่าเป็นการขยับจากตลาด OEM ทิ้งคู่แข่งอย่างไม่เห็นฝุ่น

 

ส่วนการสร้างแบรนด์สินค้าของตนเองนั้น วันชัยได้เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีไอเดียเข้ามาคุยกันได้ ล่าสุดเขาช่วยสนับสนุนคนรุ่นใหม่จากสุราษฎร์ธานีที่มีความมุ่งมั่นต้องการทำซอสผัดไทยที่มีรางวัลชนะเลิศการันตีความอร่อยให้สามารถเก็บไว้ได้นานขึ้น แม้จะไม่มีทุนก็ตาม ในที่สุดก็ผลิตออกมาเป็นซอสผัดไทยอเนกประสงค์ แบรนด์ “ไอสยาม” โดยศรีไทยถือหุ้น 40% และเปิดตัวสินค้าในงาน THAIFEX 2015 ที่ผ่านมา

 

“บางทีโมเดลธุรกิจแบบนี้อาจจะเหมาะสำหรับผู้ที่มีไอเดีย แต่ไม่มีความสามารถลงทุนเรื่องโรงงาน ไม่แน่ในอนาคตเราอาจจะมีโปรเจกต์ดีๆ ทางด้านอาหาร 10-20 โปรเจกต์ โดยที่ศรีไทยเข้าไปถือหุ้น”

 

ที่ผ่านมาศรีไทยเป็นทางลัดสู่ความสำเร็จให้กับ SME หลายราย เช่น ผลิตภัณฑ์ 3 in 1 แบรนด์ Mistercup น้ำเชื่อม LongBeach เหล่านี้เป็นตัวอย่างของ SME ที่มีไอเดีย และสร้างรายได้หลักร้อยล้านโดยที่ไม่ต้องลงทุนด้านโรงงานแต่อย่างใด เพียงมุ่งทำการตลาดตามความถนัด แล้วปล่อยให้การผลิตเป็นหน้าที่ของมืออาชีพอย่างศรีไทยเท่านั้น

 

 

 

.ฐิติชัย เนรมิตจักรยานทรงแปลก

 

 

“จักรยานแคระ” เคยสร้างชื่อให้ อมรชัย ชัยรัตน์ เป็นที่รู้จักในวงการจักรยาน ต่อมาจักรยานจากไอเดียของเขา รุ่นแล้วรุ่นเล่าก็ทยอยผลิตออกมาอย่างต่อเนื่องภายใต้ บริษัท ช.ฐิติชัย จำกัด เช่น จักรยานม้วน สามล้ออเนกประสงค์ แม้วันนี้จะไม่มีผลงานปรากฏชัด เพราะเขาผันตัวไปอยู่เบื้องหลังในฐานะโรงงานรับผลิตจักรยานตามสั่ง ทำความฝันของลูกค้าให้เป็นจริงนับไม่ถ้วนในตลาดจักรยานที่กำลังได้รับความนิยมอยู่ในขณะนี้

 

 

อมรชัยเล่าว่า ลูกค้าส่วนใหญ่ที่คิดจะทำจักรยานขาย มักตรงไปหาบริษัทยี่ห้อดังที่ขายจักรยาน แล้วก็ต้องผิดหวังกลับไป เพราะเขาไม่ทำตามแบบให้ และแนะนำให้คุณไปที่โรงงานผลิตชิ้นส่วนจักรยานหรือโรงงานประกอบจักรยานขาย ซึ่งสามารถผลิตตามแบบที่มี แต่ขี่ได้หรือเปล่า อันนั้นไม่รู้

 

นี่คือความแตกต่างหากคุณมาที่ ช.ฐิติชัย เพราะอมรชัยจะใช้ความรู้และประสบการณ์ที่มีช่วยเหลือลูกค้าตั้งแต่ต้น รายไหนแม่นยำเรื่องระบบกลไกก็จะขึ้นจักรยานตัวต้นแบบ 1 ตัว โดยคิดราคาตามต้นทุน หากไม่ซับซ้อนจะอยู่ที่คันละ 4,000-10,000 บาท หากทดสอบแล้วขี่ได้ฉลุยก็เตรียมผลิตแบบอุตสาหกรรม แต่ถ้าแบบสวยแต่ในกระดาษ ก็ต้องปรับแบบตามความเหมาะสมโดยคิดค่าเสียเวลาแบบสมเหตุสมผล

 

 

อมรชัยเล่าต่อว่า ส่วนใหญ่จักรยานแฟชั่นพวกนี้มักจะผลิตจำนวนไม่เยอะ ประมาณ 30-50 คัน เนื่องจากเป็นนิช มาร์เก็ต (Niche Market) ขายในหมู่เพื่อนฝูง อาจมีออเดอร์สัก 15 คัน แล้วมาสั่งเราผลิต ซึ่งค่าใช้จ่ายในการผลิตจะประกอบด้วยค่า Jig หรือตัวจับชิ้นงานเพื่อเชื่อม

 

ส่วนมากจักรยานแฟชั่นมักจะใช้ Jig ที่เรามีอยู่ไม่ได้ ค่าแม่พิมพ์หรือค่าตัดเลเซอร์ และค่าโอเวอร์เฮด เบื้องต้นลูกค้ามีทุนสัก 20,000 บาท ก็สามารถสั่งทำจักรยานได้ราว 2-3 คัน แต่ถ้าเพิ่มเงินลงทุนเป็น 40,000 บาท คุณจะได้ 20 คัน ตกราคาคันละ 2,000 บาทเท่านั้น แล้วลูกค้าไปทำการตลาด

 

นอกจากรับผลิตจักรยานแล้ว อมรชัยยังมีส่วนร่วมในการทำงานวิจัยระบบกลไกแมคคาทรอนิกส์ที่เขามีความถนัดเป็นพิเศษตามสถาบันการศึกษาชั้นนำต่างๆ หากโปรเจกต์นั้นๆ สำเร็จก็จดสิทธิบัตรร่วมกัน อาทิ อุปกรณ์ล็อคล้อวีลแชร์ เครนยกผู้ป่วย เครื่องช่วยเดิน เก้าอี้ยกตัว ฯลฯ เพื่อผลิตออกมาจำหน่ายให้กับกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ป่วยหนักตามโรงพยาบาลต่างๆ

 

“ตอนนี้ตลาดผู้สูงอายุที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น ความจริงสินค้าของญี่ปุ่นก็มีและโดดเด่นมาก ของจีนก็เริ่มมีการนำเข้ามาในตลาด แต่ฟังก์ชั่นค่อนข้างเยอะ ผมคิดว่าหากเราพัฒนาอุปกรณ์ผู้สูงวัยให้เหมาะกับวิถีชีวิตของคนไทยน่าจะดีที่สุด”

 

Tags: